ทำไมเครื่องยนต์ 1.9 DDi Blue Power ถึงวิ่งเร็วไม่แพ้เครื่องยนต์ที่มี cc. มากกว่า

ในช่วงหลายปีให้หลังมานี้เครื่องยนต์ดีเซลของทาง Isuzu คงไม่มีเครื่องยนต์ตัวไหนที่มีกระแสร้อนแรงไปมากกว่าเจ้าเครื่อง 1.9 DDi Blue Power กันแล้วหล่ะครับ ด้วยกิตติศัพท์เครื่องยนต์ที่มีขนาดเพียงแค่ 1,900 cc. แต่สามารถรีดสมรรถนะออกมาได้ดีไม่แพ้กับเครื่องยนต์ cc. มากกว่า แถมในการแข่งขัน Isuzu Race Spirit 2019 นี้ ในรุ่นการแข่งขัน Isuzu D-Max Pro 1.9 Ddi Blue Power รถแข่งในรุ่นนี้ก็สามารถทำเวลาวิ่งควอเตอร์ไมล์พิกัด 10 วินาทีกันเข้าไปแล้ว ซึ่งในวันนี้เราจะมาหาคำตอบกันว่า ทำไมเครื่องยนต์เล็กๆอย่าง 1.9 DDi Blue Power ถึงทรงพลังและแรงไม่แพ้กับเครื่องที่มีความจุมากกว่าเลยแม้แต่น้อย

สำหรับเครื่องยนต์ 1.9 DDi Blue Power นั้นถือว่าเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของทาง Isuzu ที่เดิมๆจากโรงงานนั้นก็ให้แรงม้ามาถึง 150 ตัว ซึ่งตรงนี้หลายๆคนก็อาจจะมองว่า เป็นเรื่องปกติไม่ได้แปลกใหม่อะไร แต่แรงบิดที่ให้มานั้นสูงถึง 350 นิวตันเมตร ที่เรียกได้ว่าไม่ธรรมดากันเลยทีเดียว นั่นก็เป็นเพราะว่าภายในห้องเผาไหม้ของเครื่อง 1.9 DDi Blue Power นั้นเป็นแบบ Clothoid Curve Combustion Chamber ให้การหมุนวนอากาศในห้องเผาไหม้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงท่อร่วมไอดีแบบ Free Flow ที่ทำให้ไอดีนั้นสามารถไหลผ่านเข้าสู้ห้องเผาไหม้ไหลลื่นมากกว่าเดิม นอกจากนี้ในส่วนของตัวลูกสูบเองยังถูกออกแบบให้มีการเยื้องศูนย์พร้อมเคลือบสารพิเศษ Graphite Coating ที่มาคู่กับประกับก้านสูบแบบ High Strength Fracture Split ช่วยลดการขยับตัวของประกับก้านสูบ ที่ช่วยลดแรงเสียดทานขณะเครื่องยนต์ทำงานไม่ว่าจะในรอบต่ำหรือรอบสูงๆ นั่นเอง

เครื่องยนต์ 1.9 DDi Blue Power ที่โมดิฟายในสเต็ปรอบนอก

แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า สำหรับขาซิ่ง รักความเร็ว หรือผู้ที่ต้องการสมรรถนะที่เพิ่มมากขึ้น มันก็ต้องมีการโมดิฟายเครื่องยนต์เพิ่มเติมกันบ้าง เพื่อรีดสมรรถนะออกเครื่องยนต์ออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งการโมดิฟายแบบ “รอบนอก” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสเต็ปการโมดิฟายที่นิยมกับมากในหมู่วัยรุ่น หรือรถบ้านปกติทั่วไปที่วิ่งอยู่บนท้องถนน ด้วยงบประมาณที่ไม่เยอะ อิงพื้นฐานเดิมๆของเครื่องยนต์ 1.9 DDi Blue Power ที่ถูกออกแบบมาดีอยู่แล้วโดยที่เราแทบจะไม่ต้องทำอะไรเกี่ยวกับภายในเครื่องยนต์เลยแม้แต่น้อย ซึ่งในครั้งนี้เราจะไปดูการโมดิฟายแบบรอบนอก เครื่อง 1.9 DDi Blue Power ของทางอู่แบ่งปัน เรซซิ่ง เจ้าของแชมป์ Isuzu D-Max Pro 1.9 Ddi Blue Power ใน Isuzu Race Spirit 2019 สนามแรก ส่วนรายละเอียดของการโมดิฟายในสเต็ปนี้จะเป็นอย่างไรนั้น เราไปดูกันเลยครับ

  • เทอร์โบ

เทอร์โบ 3,000 ปาก 44 มม. เทอร์โบสเต็ปยอดนิยมสำหรับ 1.9 DDi Blue Power

สำหรับผู้ที่ต้องการแรงม้าเพิ่มในเม็ดเงินที่คุ้มค่า การเปลี่ยนเทอร์โบดูเหมือนจะเป็นวิธียอดนิยมที่สุด ซึ่งเทอร์โบยอดฮิตสำหรับเครื่องยนต์ 1.9 DDi Blue Power ก็คงจะหนีไม่พ้นกับเทอร์โบ 3,000 ซึ่งสำหรับการโมดิฟายเทอร์โบ 3,000 นั้นก็มีมากมายหลายสเต็ป ตามแต่ละสูตรของแต่ละอู่ รวมไปถึงขนาดปากทางเข้าเทอร์โบที่ตอนนี้ขยายกันมากมายหลายไซส์หลายขนาด โดยเสต็ปเทอร์โบที่เหมาะกับเครื่อง 1.9 DDi Blue Power ก็คงจะเป็นเทอร์โบ 3,000 ปาก 44 มม. เนื่องจากเป็นขนาดที่กำลังดี ทำแรงม้าได้เยอะ ไม่มีอาการรอรอบ สามารถสร้างบูสต์ได้ถึง 50 ปอนด์ได้อย่างสบายๆ โดยที่ไม่เกิดความเสียหายแก่เครื่องยนต์เดิมๆ ซึ่งเมื่อเราทำการเปลี่ยนเทอร์โบที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมให้กับเครื่องยนต์แล้ว สิ่งที่ต้องเปลี่ยนตามมาคือก็อินเตอร์คูลเลอร์ ที่จะช่วยระบายความร้อนของอากาศที่ถูกปั่นมาจากเทอร์โบ ทำให้เครื่องยนต์ได้รับอากาศเย็นๆเข้าสู่ห้องเผาไหม้และไม่เกิดความร้อนสะสมที่มากเกินไปในห้องเผาไหม้นั่นเอง

  • ชุดแก้วาล์ว

ชุดแก้วาล์วของทางแบ่งปัน เรซซิ่ง

ชุดวาล์วที่ติดเครื่องยนต์ 1.9 DDi Blue Power มานั้นเป็นชุดวาล์วระบบปรับตั้งระยะห่างของวาล์วอัตโนมัติ Hydraulic Lash Adjuster ที่สามารถรักษาระยะห่างของวาล์วให้มีความเหมาะสมตลอดเวลา ทำให้สามารถดึงประสิทธิภาพสูงสุดของการเผาไหม้ออกมาได้ มาถึงตรงนี้หลายคนก็สงสัยว่า ในเมื่อของเดิมมันดีอยู่แล้ว ทำไมต้องทำการแก้ชุดวาล์วหรือเปลี่ยนใหม่ ซึ่งก็คงต้องบอกว่าถ้าเป็นรถใช้งานปกติทั่วไป การเปลี่ยนชุดวาล์วหรือแก้วาล์วนั้นไม่มีความจำเป็นใดๆเลย เนื่องจากอัตราบูสต์ของเทอร์โบเดิมๆนั้นไม่ได้สูงมาก แต่เมื่อใดที่เราเปลี่ยนเทอร์โบเพิ่มอัตราบูสต์หนักๆเข้าไป ชุดวาล์วเดิมๆนั้นอาจจะเปิด-ปิด ไม่ทันหรือรับกับอัตราบูสต์ที่ในระดับ 40 – 50 ปอนด์ไม่ไหว จนเกิดอาการที่เรียกันว่า “วาล์วลอย” จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องเปลี่ยนชุดวาล์วที่ให้ตัวไม่ได้เพื่อแก้อาการดังกล่าวนั่นเอง

  • ระบบน้ำมัน

แน่นอนครับว่าเครื่องยนต์เมื่อโมดิฟายให้มีแรงม้ามากขึ้น บูสต์เยอะขึ้น เครื่องยนต์ก็ต้องการน้ำมันที่ใช้เผาไหม้มากกว่าเดิมเป็นปกติ ดังนั้นระบบน้ำมันเชื้อเพลิงก็ต้องมีการอัพเกรดตามกันไปด้วยอย่างขาดไม่ได้ ซึ่งระบบน้ำมันที่นิยมอัพเกรดกันก็จะเป็นพวกหัวฉีดซิ่งที่ฉีดน้ำมันได้มากกว่าเดิมรวมไปถึงการโมดิฟายปั๊มน้ำมันดีเซลหรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “โมปั๊ม” ให้มีแรงดันมากขึ้นเพื่อที่สามารถส่งน้ำมันเข้าห้องเผาไหม้ได้มากกว่าเดิมนั่นแหละครับ

  • กล่อง ECU

สำหรับการโมดิฟายกล่อง ECU ในยุคนี้นั้นก็มีตั้งแต่การ Reflash กล่องเดิม, การใส่กล่องพ่วงจำพวก กล่องดันราง กล่องยกหัวฉีด หรือการใส่กล่อง Standalone ที่ใช้แทนกล่องเดิมกันไปเลย โดยในปัจจุบันสำหรับรถบ้านในสเต็ปรอบนอก มักจะเลือกใช้วิธีการ Reflash หรือ Remap กล่องเดิมควบคู่ไปกับการใส่กล่องพ่วงดันราง+ยกหัวฉีด ซึ่งเหตุผลที่เราต้องโมดิฟายในส่วนของ ECU นั้นก็เพื่อที่จะให้เครื่องยนต์นั้นสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุดและจูนอัพเครื่องยนต์ให้เข้ากับของแต่งที่เราใส่เข้าไป

และนั่นก็ถือสเต็ปการโมดิฟายแบบรอบนอก ของเครื่อง 1.9 DDi Blue Power แบบเริ่มต้นที่แม้แต่รถบ้าน หรือรถใช้งานบนท้องถนน ก็สามารถทำได้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าด้วยการโมดิฟายเพียงแค่นี้ ก็สามารถเพิ่มพละกำลังให้กับเครื่องยนต์ 1.9 DDi Blue Power ได้ถึงประมาณ 300 แรงม้ากันเลยทีเดียว และนั่นก็ถือเป็นเครื่องการันตีได้ว่า แม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าไปโมดิฟายในส่วนของตัวเครื่องยนต์ แต่เครื่องยนต์ 1,900 cc. ของทาง Isuzu นั้นก็มีความแรง และพละกำลังไม่แพ้เครื่องยนต์ที่มี cc. มากกว่าด้วยการโมดิฟายในสเต็ปเท่าๆกันเลย แต่ถ้าหากใคร อยากที่จะดูที่สุดของการโมดิฟายเครื่องยนต์ 1.9 DDi Blue Power ของอู่ดีเซลชั้นนำเมืองไทยที่วิ่งในพิกัด 10 – 11 วินาทีแล้วละก็ สามารถหาชมและติดตามได้ในการแข่งขัน Isuzu Race Spirit 2019 ได้เลยครับ ซึ่งรับรองว่าเร็ว มันส์ และเร้าใจทุกรุ่นการแข่งขันอย่างแน่นอน

เครดิต www.boxzaracing.com