เทรนด์รถยุคใหม่ ทำไมต้องติด “เทอร์โบ”

 ถ้าพูดถึงรถยนต์ติดเทอร์โบ หากย้อนไปในยุคเมื่อ 10 ปีก่อน คนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงรถยนต์แต่งซิ่ง รวมถึงรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลเป็นภาพติดตา ทว่าในปัจจุบัน “เทอร์โบ” กลายเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ถูกติดตั้งออกมาจากโรงงาน Tonkit360 จะพาไปหาคำตอบว่า “เทอร์โบ” จำเป็นแค่ไหนในยุคปัจจุบัน

เทอร์โบ คืออะไร

     ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกับระบบนี้กันก่อน เทอร์โบ (Turbocharger) หรือที่หลายคนเรียกกันว่าระบบอัดอากาศ มันคือระบบที่นำอากาศเข้าไปไปในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ให้มากขึ้น ซึ่งตามธรรมชาติการการเผาไหม้เครื่องยนต์ทุกชนิด เมื่ออากาศเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลให้การจุดระเบิดมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เครื่องยนต์มีพละกำลังมากขึ้น หรือมีแรงม้าเพิ่มขึ้นนั่นเอง

หน้าตาของ “เทอร์โบ”

     ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ รถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในบ้านเรา ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1,500 ซีซี แต่มาพร้อมระบบเทอร์โบ มีการการันตีจากค่ายผู้ผลิตว่าสามารถให้กำลังเครื่องยนต์สูงถึง 190 แรงม้า ซึ่งเทียบเท่าพละกำลังของรถยนต์เครื่องยนต์ 2,400 ซีซี เลยทีเดียว

รถยนต์ติดเทอร์โบยุคใหม่ ทำไม่ไม่มีช่องรับลมบนฝากระโปรง

     ภาพจำในอดีต รถที่ติดเทอร์โบส่วนใหญ่ล้วนต้องเจาะช่องรับลมเอาไว้เหนือเครื่องยนต์บนฝากระโปรงแทบทั้งสิ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว รถติดเทอร์โบไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลหรือว่าเบนซิน ไม่จำเป็นต้องมีการเจาะช่องรับลมบนฝากระโปรงด้านหน้าแต่อย่างใด

รถติดเทอร์โบ ไม่จำเป็นต้องเจาะช่องรับลมเหนือฝากระโปรงหน้าเสมอไป

     เนื่องจากปกติลมจะผ่านเข้ามาทางกระจังหน้าของตัวรถ ทั้งในขณะจอดอยู่กับที่รวมถึงในช่วงการขับขี่อยู่แล้ว ซึ่งระบบดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า อินเตอร์คูลเลอร์ (Intercooler) ทำหน้าที่ระบายความร้อนที่มาจากการทำงานของเทอร์โบ ดังนั้นรถยนต์ส่วนใหญ่จะติดตั้งอุปกรณ์นี้เอาไว้ที่ด้านหน้าของหม้อน้ำ หรือด้านหลังกระจังหน้ารถนั่นเอง

รถรุ่นไหนมีเทอร์โบบ้าง

     ในปัจจุบัน เราอาจจะได้ยิน ค่ายรถอย่างฮอนด้า โฆษณารถยนต์ติดเทอร์โบ ทั้ง รุ่นซีวิค มาจนถึงแอคคอร์ดใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เทอร์โบถูกติดตั้งอยู่ในรถทั้งค่ายญี่ปุ่นและยุโรป มายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว เพียงแต่ว่าในรถระดับ ซี-เซ็คเมนท์ และ ดี-เซ็กเมนท์ เพิ่งจะมีการนำรถเทอร์โบออกมาทำตลาดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อาทิ นิสสัน ฮอนด้า เอ็มจี รวมถึง ฟอร์ด ส่วนรถยุโรปรุ่นเล็กสุดที่มีเทอร์โบในปัจจุบันก็มีตั้งแต่ เมอร์เซเดส CLA200 ขึ้นไป ส่วน บีเอ็มดับเบิลยู ก็มีเทอร์โบคู่ในรุ่น 116i ซึ่งทั้ง 2 รุ่น ก็ใช้เครื่องยนต์ความจุ 1,600 ซีซี เช่นเดียวกัน

เมอร์เซเดส CLA หนึ่งในรุ่นรถยนต์ติดเทอร์โบในปัจจุบัน

     ขณะที่วงการรถกระบะ เทอร์โบ ถือเป็นของคู่กันมาช้านานแล้ว ยกตัวอย่าง โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ รุ่นปัจจุบัน ที่แม้จะไม่มีช่องรับลมบนฝากระโปรงหน้าเหมือนในไฮลักซ์รุ่นก่อน แต่เครื่องยนต์ก็ล้วนเป็นเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรุ่น 2,400 ซีซี หรือ 2,800 ลิตร

ประโยชน์ของเทอร์โบ

     เหตุผลที่ค่ายรถส่วนใหญ่ทั้งญี่ปุ่นและยุโรปติดตั้งเทอร์โบในรถยนต์ยุคปัจจุบัน เหตุผลหลักคือการเพิ่มพละกำลังเครื่องยนต์ โดยเฉพาะอัตราเร่ง ที่สามารถเร่งรอบเครื่องยนต์ได้ทันใจกว่ารถที่ไม่มีเทอร์โบ ถัดมาคือการที่เครื่องยนต์เล็กลงก็ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การมีเทอร์โบทำให้การเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่งผลให้ไอเสียที่ถูกปล่อยออกมามีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เบาบางกว่ารถยนต์ที่ไม่มีเทอร์โบ ถือเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย

เครดิต www.sanook.com