3 วิธีลดเสียงดังในห้องโดยสารด้วยงบไม่ถึง 1 พันบาท

 ไม่แปลกที่รถยนต์รุ่นเล็กๆ มักจะเก็บเสียงรบกวนภายนอกได้ไม่ดีเท่ากับรถใหญ่ เนื่องจากติดตั้งวัสดุซับเสียงมาให้น้อยกว่า อีกทั้งการเสื่อมสภาพของชิ้นส่วนต่างๆ ก็ส่งผลให้เสียงรบกวนเข้ามายังห้องโดยสารขณะขับขี่ได้มากขึ้นเช่นกัน

เราจึงขอแนะนำ 3 วิธีลดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร ในงบเริ่มต้นเบาๆ ใครก็สามารถทำได้

1.พ่นซุ้มล้อ

     ปัจจุบันมีสเปรย์สำหรับพ่นใต้ซุ้มล้อ (Rubberized Undercoating) วิธีทำก็ง่ายมาก เพียงพ่นลงไปยังบริเวณใต้ซุ้มล้อทั้ง 4 ข้าง แล้วปล่อยให้แห้งประมาณ 30 นาที โดยวัสดุที่พ่นจะมีลักษณะเป็นยางเคลือบสีดำ ที่สามารถป้องกันเสียงจากล้อเข้ามายังโดยสารได้ในระดับหนึ่ง โดยสเปรย์ 1 กระป๋อง จะสามารถใช้ได้ 1 ซุ้มล้อ ราคาจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 200-300 บาทเท่านั้น

2.เปลี่ยน/เสริมยางขอบประตู

     ขอบประตูเป็นอีกจุดสำคัญที่ทำให้เสียงภายนอกสามารถเล็ดลอดเข้ามายังห้องโดยสารได้ หากใช้รถที่มีอายุอานามพอสมควร เป็นไปได้ว่ายางขอบประตูเริ่มเสื่อมสภาพ จนทำให้เสียงเข้ามายังห้องโดยสารได้มากขึ้น ยางขอบประตูปัจจุบันมีให้เลือกทั้งของแท้ ของเทียบเทียมมากมาย ทางที่ดีควรเลือกที่มีลักษณะเหมือนกับของเดิม เช่น ของเดิมเป็นแบบนวมยางชั้นเดียว ก็ควรเลือกของใหม่ที่เป็นนวมยางชั้นเดียวเช่นกัน จะทำให้ไม่มีปัญหาปิดประตูยาก

 

     นอกจากนั้น หากยางขอบประตูยังมีสภาพใหม่อยู่ แต่กลับมีเสียงรบกวนเข้ามาค่อนข้างชัด ก็สามารถเลือกติดตั้งยางกันเสียงเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะเป็นการติดคนละตำแหน่งกับยางขอบประตูเดิม ก็จะช่วยกรองเสียงรบกวนเข้ามาได้อีกชั้นหนึ่ง ราคาจำหน่ายก็มีหลากหลาย ส่วนใหญ่มักอยู่ราว 2-3 พันบาท

3.แดมป์พื้น/ประตู

     วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก ก็คือ การแดมป์รอบคัน โดยใช้วัสดุซับเสียง (Sound Deadening) ซึ่งการติดตั้งควรเลือกช่างที่ไว้ใจได้ เพราะการแดมป์จำเป็นต้องรื้อเบาะนั่งและพรมภายในรถออก เพื่อติดตั้งแผ่นซับเสียงลงบนพื้นตัวรถ, ผนังซุ้มล้อ และผนังกั้นระหว่างห้องเครื่องยนต์ จึงควรเลือกช่างที่มีประสบการณ์ในการถอด-ประกอบเป็นอย่างดี

     นอกจากนั้น การแดมป์ประตูยังเป็นอีกหนึ่งอ็อพชั่นที่หลายคนเลือกทำเช่นกัน เพื่อลดเสียงรบกวนรอบข้างให้ลดลงน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งราคาค่าติดตั้งก็ป้วนเปี้ยนตั้งแต่หมื่นต้น ไปจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับวัสดุซับเสียงและร้านติดตั้งด้วย

     เหล่านี้เป็นวิธีที่ช่วยลดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสารลงได้ แต่อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับรุ่นรถและวัสดุที่ใช้ ซึ่งทำให้การซับเสียงแตกต่างกันไปด้วย

 

เครดิต www.sanook.com