ชี้ช่องขับ ตอน ชื่อทางด่วน…ชวนสงสัย?

ชี้ช่องขับ บทความที่จะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการขับรถยนต์จากประสบการณ์จริงทั้งในชีวิตประจำวันและในการทดสอบขับขี่รถยนต์มากฝาก ในตอนแรกนี้เสนอเรื่องเบาๆ ชวนสงสัยกับ ตอน “ชื่อทางด่วน…ชวนสงสัย”
หลายคนเมื่อต้องขับรถขึ้นทางพิเศษหรือทางด่วน มักจะเรียกชื่อทางด่วนต่างๆ จากทางขึ้น-ลงหรือว่าบริเวณที่ใกล้กับด่านเก็บเงินนั้น ความจริงแล้วทางด่วนแต่ละสายนั้นมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการด้วยนะ มาดูว่ามีชื่อเรียกว่าอย่างไรและสามารถจะขึ้นไปทางไหนได้บ้าง
ปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ก่อสร้างทางพิเศษและเปิดให้บริการแล้ว ๗ สายทาง และทางเชื่อมต่อทางพิเศษ ๓ แห่ง รวมระยะทาง ๒๐๗.๙ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง รายละเอียดของทางพิเศษสายต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้

ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ระบบทางด่วนขั้นที่ ๑) ระยะทางรวม ๒๗.๑ กิโลเมตร

ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ระบบทางด่วนขั้นที่ ๑) ระยะทางรวม ๒๗.๑ กิโลเมตร เรียกกันติดว่าว่า “ทางด่วนดินแดง” ที่ขึ้นชื่อว่า “รถติดสุดๆ”
สะพานพระราม ๙ ที่มีตึกธนาคารกสิกรโดดเด่นคู่กัน
ทางด่วนสายนี้ประกอบด้วย
  • สายดินแดง – ท่าเรือ ระยะทาง ๘.๙ กิโลเมตร เปิดให้บริการ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๔
  • สายบางนา – ท่าเรือ ระยะทาง ๗.๙ กิโลเมตร เปิดให้บริการ ๑๗ มกราคม ๒๕๒๖
  • สายดาวคะนอง – ท่าเรือ ระยะทาง ๑๐.๓ กิโลเมตร เปิดให้บริการ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐
โดยในเส้นทางนี้มีสะพานพระราม ๙ เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนเฉลิมมหานคร สายดาวคะนอง – ท่าเรือ ช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะเป็นสะพานชนิด Single Plane Fan Type Cable-Stayed Bridge  หรือสะพานขึงโดยใช้สายเคเบิ้ลขนาดใหญ่ ขึงเป็นระนาบเดี่ยวไว้กับเสาสูงของสะพาน  เพื่อรับน้ำหนักของสะพาน เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ อีกด้วย ใครเกิดทันตอนเปิดให้เดินข้ามกันบ้างหนอ?

ทางพิเศษศรีรัช (ระบบทางด่วนขั้นที่ ๒) ระยะทางรวม ๓๘.๔ กิโลเมตร ประกอบด้วย

ทางพิเศษศรีรัช (ระบบทางด่วนขั้นที่ ๒) อาจเรียกกันง่ายๆ ว่า “ด่วนพระรามเก้า” หรือ “ด่วนไปมอเตอร์เวย์” เป็นต้น ประกอบด้วย ส่วน A เริ่มจากถนนรัชดาภิเษกผ่านทางแยกต่างระดับพญาไทถึงถนนพระราม ๙ ระยะทาง ๑๒.๔ กิโลเมตร เปิดให้บริการ ๒ กันยายน ๒๕๓๖
  • ส่วน B สายหลัก มีแนวเชื่อมต่อกับส่วนเอที่บริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท แล้วไปเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่บริเวณบางโคล่ ระยะทาง ๙.๔ กิโลเมตร เปิดให้บริการ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๙
  • ส่วน C เชื่อมกับทางพิเศษส่วน A โดยเริ่มจากถนนรัชดาภิเษกถึงถนนแจ้งวัฒนะ ระยะทาง ๘.๐ กิโลเมตร เปิดให้บริการ ๒ กันยายน ๒๕๓๖
  • ส่วน D เริ่มจากถนนพระราม ๙ ถึงถนนศรีนครินทร์ ระยะทาง ๘.๖ กิโลเมตร เปิดให้บริการ ๑ เมษายน ๒๕๔๓
อัตราค่าผ่านทางพิเศษ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๖ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดย กทพ. รับภาระแทนผู้ใช้บริการ ยกเว้นส่วน D เป็นอัตรารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
หมายเหตุ* มีส่วนลดให้กับรถที่เดินทางเชื่อมต่อระบบทางพิเศษในเขตเมือง และนอกเขตเมือง (ทางพิเศษศรีรัช ส่วน C บริเวณด่านประชาชื่น-ขาเข้า และด่านประชาชื่น-ขาออก จำนวน ๕ บาท)

ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนสายบางนา – ชลบุรี)

ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนสายบางนา – ชลบุรี) นับเป็นทางด่วนที่น่าใช้มากที่สุดเพราะว่าเป็นทางตรงยาวๆ เวลาขับจะรู้สึกสบาย ไม่วุ่นวาย แต่ข้างบนนั้นมักจะมีกระแสลมแรงพัดปะทะตัวรถ จึงกลายเป็นทางด่วนที่ไม่ควรขับเร็วเกินไป เพราะยากแก่การควบคุมรถ
มีระยะทาง ๕๕.๐ กิโลเมตรมีจุดเริ่มต้นที่ บริเวณบางนา-ตราด (กม. ๒+๕๐๐) ไปถึงชลบุรี (กม.๕๕+ ๓๕๐) เปิดให้บริการตลอดสายเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
  • ช่วงที่ ๑ บางนา-บางแก้ว เปิดให้บริการในวันที่ ๙ เม.ย. ๒๕๔๑
  • ช่วงที่ ๒ บางแก้ว-กิ่งแก้ว เปิดให้บริการในวันที่ ๒๙ ก.ค. ๒๕๔๑
  • ช่วงที่ ๓ กิ่งแก้ว-เมืองใหม่บางพลี เปิดให้บริการในวันที่ ๑๐ ก.พ. ๒๕๔๒
  • ช่วงที่ ๔ เมืองใหม่บางพลี-บางเสาธง เปิดให้บริการในวันที่ ๒๕ พ.ค. ๒๕๔๒
  • ช่วงที่ ๕ บางเสาธง-บางสมัคร เปิดให้บริการในวันที่ ๑ ต.ค. ๒๕๔๒
  • ช่วงที่ ๖ บางสมัคร-บางปะกง เปิดให้บริการในวันที่ ๒๘ พ.ย. ๒๕๔๒
  • ช่วงที่ ๗ บางปะกง-ชลบุรี เปิดให้บริการในวันที่ ๗ ก.พ. ๒๕๔๓

ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด) ระยะทางรวม ๓๒ กิโลเมตร

ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด) หรือบางคนเรียกว่า “ทางด่วนเมืองทอง-ธรรมศาสตร์-บางปะอิน”  โดยมีจุดเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ-บางไทร
  • ระยะที่ ๑ จากถนนแจ้งวัฒนะ-เชียงราก และต่อเชื่อมกับถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง ๒๒ กิโลเมตร เปิดให้บริการ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
  • ระยะที่ ๒ จากเชียงราก-บางไทร ระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร เปิดให้บริการ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒

โครงการทางพิเศษทางพิเศษกาญจนาภิเษก (สายบางพลี-สุขสวัสดิ์)

สายบางพลี-สุขสวัสดิ์ หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่า “ทางด่วนวงแหวนอุตสาหกรรม” มีแนวสายทางต่อเชื่อมกับทางหลวงวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ ช่วงถนนพระรามที่ ๒-ถนนสุขสวัสดิ์ เริ่มต้นจากถนนสุขสวัสดิ์บริเวณพระประแดงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันออกผ่านถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินทร์ และถนนเทพารักษ์ ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข ๓๔ (บางนา-บางปะกง) บริเวณบางพลี ระยะทาง ๒๒.๕๐ กิโลเมตร
เปิดให้บริการโดยยกเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษชั่วคราว ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ และเปิดให้บริการโดยจัดเก็บค่าผ่านทาง (ช่วงบางพลี-สุขสวัสดิ์) ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒ (ส่วนช่วงสุขสวัสดิ์-บางขุนเทียน เป็นของกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันได้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง)
ทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา – อาจณรงค์)
ทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา – อาจณรงค์) ชื่อนี้อาจจะไม่คุ้นหูเท่าไหร่ แต่เมื่อเรียกว่า “ด่วนรามอินทรา” จะรู้จักทันทีว่าเป็นทางด่วยที่ขนานกับ “ถนนประดิษฐ์มนูธรรม” หรือเลียบด่วนนั่นเอง
มีจุดเริ่มต้นจากถนนรามอินทรา กิโลเมตรที่ ๕.๕ ถึงอาจณรงค์ ระยะทาง ๑๘.๗ กิโลเมตร โดยมีถนนประดิษฐ์-มนูธรรมขนานขนาบจากรามอินทราไปถึงเอกมัย ทางพิเศษฉลองรัชได้เปิดให้บริการตลอดสาย เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๙ เส้นทางนี้จะข้ามถนนลาดพร้าว ถนนประชาอุทิศ ถนนพระราม ๙ แล้ว ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามถนนรามคำแหง ถนนพัฒนาการ เลียบแนวคลองตันข้ามถนนสุขุมวิททางด้านตะวันออกของสะพานพระโขนง ไปบรรจบกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายบางนา-ท่าเรือที่บริเวณอาจณรงค์ (ปลายซอยสุขุมวิท ๕๐)
  • ช่วงที่ ๑ รามอินทรา – อาจณรงค์ ระยะทาง ๒๘.๒ กม. เปิดให้บริการในวันที่ ๒๙ ต.ค. ๒๕๒๔
  • ช่วงที่ ๒ รามอินทรา – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง ๙.๕ กม. เปิดให้บริการในวันที่ ๒๓ เม.ย. ๒๕๕๒
รู้ชื่อจริงของทางด่วนกันแล้วจะได้ไม่สับสนเวลา GPS หรือ Google บางชื่อทางด่วน จะได้ไม่งงว่า ทางด่วนอะไร ขึ้นตรงไหน และบทความหน้า “ชี้ช่องขับ” จะมีอะไรดีๆ มาฝากโปรดติดตามได้ที่นี่ครับ

เครดิต www.checkraka.com