การเลือกแบตเตอรี่รถยนต์ อีกเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้รถห้ามมองข้าม !

             แบตเตอรี่รถยนต์ ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของรถยนต์เลยก็ว่าได้ เนื่องจะเป็นแหล่งสะสมและจ่ายไฟฟ้าไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆ ซึ่งรถยนต์ที่ผลิตขึ้น ณ ปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ด้วยกันทั้งสิ้น โดยแบตเตอรี่ของรถยนต์ ทำหน้าที่เป็นไฟฟ้าสำรองเมื่อรถยนต์ติดและถูกใช้งานก็จะกักเก็บไฟฟ้าเพิ่ม และหมุนเวียนมาใช้งานจนกว่าตัวแบตเตอรี่จะหมดอายุ ซึ่งไฟที่สะสมไว้อาจจะหมดได้ หากไม่มีการหมุนเวียนหรือใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาจเกิดได้จาก 2 กรณี คือ แบตเตอรี่หมดอายุ และไดชาร์จเสื่อมคุณภาพ

 
 

หน้าตาและส่วนประกอบของแบตเตอรี่รถยนต์
 

          การทำงานระหว่างแบตเตอรี่รถยนต์กับไดชาร์จนั้น เรียกได้ว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างยิ่งยวด เพราะโดยปกติ รถยนต์จะต้องใช้ไฟที่กักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ทันทีที่สตาร์ทเครื่องยนต์ ซึ่งเมื่อเครื่องยนต์ติดแล้ว ไดชาร์จก็จะทำหน้าที่ปั่นไฟเข้าสู่แบตเตอรี่ โดยจะมีคัตเอาต์ทำหน้าที่ควบคุมการกักเก็บ เมื่อไฟเต็มแบตเตอรี่ก็จะตัด ถ้าสังเกตดีๆ ระบบไฟฟ้าของรถยนต์ทุกคัน จะมีสัญญาณไฟเตือนบนแผงหน้าปัดแสดงเป็นรูปแบตเตอรี่ หลายๆ คนมีความเข้าใจที่ผิดว่า ไฟที่แสดงนั้น คือ เตือนว่าแบตเตอรี่หมด เต็ม หรือบกพร่อง แต่อันที่จริงแล้ว เป็นเรื่องความผิดปกติของระบบไดชาร์จ เมื่อไดชาร์จเกิดการชำรุดเสียหายไฟนั้นจึงติดขึ้น แต่หากทุกอย่างปกติ เมื่อบิดกุญแจจังหวะแรกไฟเตือนต้องสว่างนิ่ง และเมื่อเครื่องยนต์สตาร์ทและเริ่มทำงาน ไฟเตือนก็จะดับลงโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อใดที่เครื่องยนต์ทำงานอยู่ และมีไฟสว่างขึ้น แสดงว่าการทำงานของระบบประจุไฟเกิดการบกพร่อง ซึ่งอาจเกิดขึ้นจาก 2 กรณี คือ ไดชาร์จเสีย หรือสายพานไดชาร์จขาด

 

ไดชาร์จ…อุปกรณ์สำคัญซึ่งทำหน้าที่ชาร์จไฟกลับเข้าสู่แบตเตอรี่

 

          หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ต้องรีบจอดรถในที่ปลอดภัย และเปิดฝากระโปรงเพื่อตรวจสอบ โดยต้องดูสายพานเป็นอันดับแรก หากตรวจดูแล้วสายพานไม่ขาด ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าระบบไดชาร์จเสียอย่างแน่นอน ซึ่งแบตเตอรี่รถยนต์โดยทั่วไปจะยังสามารถทำงานได้ระยะหนึ่ง จะใกล้หรือไกลขนาดไหน ขึ้นอยู่กับกรณีของการใช้ไฟฟ้าในรถยนต์ว่าใช้มากน้อยแค่ไหน แต่ทางที่ดีผู้ขับขี่ควรลดการใช้ไฟฟ้าลง เช่น ปิดแอร์ และเครื่องเสียง เป็นต้น หากเกิดกรณีที่ไฟเตือนไม่ขึ้นหรือริบหรี่ ต้องตรวจว่าระบบไดชาร์จบกพร่อง หรือหลอดไฟเตือนขาด หรือระบบการประจุไฟฟ้าบกพร่อง ซึ่งต้องดูว่ามีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้ามากเกินไปหรือไม่

 

โดยปกติแล้วกระแสไฟในแบตเตอรี่รถยนต์จะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 12-14 โวลต์

 

                สิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าสำคัญมากๆ ก็คือ การเลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ให้เหมาะสม คนทั่วๆ ไปมักมีความเชื่อที่ว่า แบตเตอรี่ลูกใหญ่แอมป์สูงมักจะคุณภาพดี ซึ่งอาจเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะอันที่จริงแล้วควรคำนึงถึงปริมาณไฟฟ้าที่จำเป็นในการใช้ เพราะหากเราไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติม การใช้แบตเตอรี่ลูกใหญ่และมีแอมป์ที่สูง จะเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะในการผลิตรถยนต์แต่ละคัน ผู้ผลิตย่อมคำนวณ และเลือกขนาดของแบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับรถแต่ละคันอยู่แล้ว แต่ก็มีข้อแม้อยู่เล็กน้อย หากคำนึงถึงผลดี ผลเสียข้อเปรียบเทียบแล้ว ผู้ใช้อาจได้ประโยชน์จากการใช้แบตเตอรี่ลูกใหญ่ได้อีกพอสมควร เมื่อเทียบกับเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกไม่กี่ร้อยบาท หากช่องสำหรับใส่แบตเตอรี่ในรถสามารถใส่แบตเตอรี่ที่ขนาดใหญ่กว่าเดิมได้ และลูกที่จะเปลี่ยนมีแอมป์สูงกว่าเดิม เพราะเปรียบเสมือนเรามีคลังไฟฟ้าสำรองที่มากขึ้น โดยควรใช้ 4 เหตุผลนี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ

1.ราคาแตกต่างกันไม่กี่ร้อยบาท

2.มีกำลังไฟฟ้าสำรองมากขึ้น

3.มีกำลังไฟฟ้าที่แรงขึ้น

4.ไม่มีผลต่อไดชาร์จให้ทำงานหนักหรือพังเร็วขึ้น

5.เครื่องยนต์ที่ผลิตมารุ่นใหม่ๆ ใช้ระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิคส์ เมื่อปั้มน้ำมันเชื้อเพลิงและอุปกรณ์อื่นได้กระแสไฟฟ้าที่มีแอมป์สูงขึ้น ย่อมส่งผลต่อระบบการทำงานให้ทำได้ดีขึ้น เพราะเมื่อเครื่องยนต์จอดนิ่งๆ บนการจราจรที่ติดขัดนานๆ ไดชาร์จทำงานได้น้อย รถยนต์ทุกรุ่นจึงไม่ควรเลือกแบตเตอรี่ที่มีแอมป์ต่ำกว่าลูกเดิม และสามารถเลือกลูกใหม่ที่มีแอมป์สูงกว่าเดิมได้ประมาณ 10 – 30 แอมป์ โดยดูได้จากตัวเลขที่ระบุบนตัวแบตเตอรี่

 

ด้านข้างของแบตเตอรี่จะมีตัวเลขบอกค่าต่างๆ ไว้ บ่งบอกค่ากระแสและกำลังไฟ

 

          อายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 1.5 – 3 ปี  สังเกตได้จากตัวเลขที่ตอกลงบนแบตเตอรี่ โดยทั่วไปหากเราใช้ 1.5 – 2 ปี ก็ถือว่าเราใช้คุ้มค่าแล้ว เพราะปัจจุบันแบตเตอรี่ไม่ได้มีราคาที่สูงมากจนเกินไปนัก หากจะเปลี่ยนต้องลองเลือกดูว่าจะใช้แบตเตอรี่แบบไหน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีให้เลือกทั้งแบตเตอรี่แบบเปียกที่แบ่งเป็น 2 แบบย่อย คือ ต้องเติมและดูแลน้ำกลั่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และแบบดูแลไม่บ่อยซึ่งแทบไม่ต้องเติมน้ำกลั่นเลย ทั้ง 2 แบบ วิธีปิด-เปิดสำหรับเติมน้ำกลั่นได้เองปกติ อายุการใช้งานส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 1.5 – 3 ปี ส่วนอีกแบบ คือ แบตเตอรี่แบบแห้ง ราคาอาจจะสูง แต่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น มีอายุใช้งานมากกว่าแบบเปียก อายุการใช้งานประมาณ 3 -6  เท่าของแบบเปียกหรือประมาณ 5 – 10 ปี ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานและการดูแลรักษา

 

ควรตรวจสอบระดับน้ำกลั่นให้อยู้ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่

 

          สิ่งกวนใจที่เรามักจะพบ คือ การเกิดขี้เกลือตามขั้วของแบตเตอรี่ ซึ่งทำให้การส่งกระแสไฟฟ้าด้อยลง จึงควรทำความสะอาดโดยถอดขั้ว พร้อมกับเคลือบด้วยจาระบี หรือน้ำมันเครื่อง ไม่เช่นนั้นอาจใช้วิธีง่ายๆ คือ ใช้น้ำอุ่นราดผ่านเพื่อทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอในกรณีที่ใช้แบตเตอรี่แบบเปียก ควรเช็คและเติมน้ำกลั่นในระดับมาตรฐานทุกสัปดาห์ โดยไม่ควรใช้น้ำกรอง หรือน้ำที่ไม่ใช่น้ำกลั่นเติม เพราะจะทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลดลง

 

ขี้เกลือที่ขั้วแบตเตอรี่ ขจัดได้โดยการเทน้ำอุ่นราดลงไป หรือชโลมด้วยจารบีบางๆ ที่ขั้ว
เครดิต www.boxzaracing.com