VVT-i VS VTEC ระบบวาล์วแปรผัน .. ที่เป็นคู่กัดตลอดกาล!!

        ในสัปดาห์นี้เราต้องมารู้จักกับเรื่องใกล้ตัวที่หลายๆ ท่านยังไม่ทราบ  หรือ บางท่านอาจทราบแล้วแต่ยังไม่เข้าใจรายละเอียด ซึ่งสิ่งที่เรานำมาให้ข้อมูลในวันนี้เป็นสิ่งที่รถทุกคัน และในทุกๆ เครื่องยนต์ต้องมี  นั่นคือการทำงานของระบบ วาล์วเปิด / ปิดอากาศภายในเครื่องยนต์นั่นเอง ครับ

        ทำไมต้องหยิบเรื่องนี้มาให้ข้อมูลในสัปดาห์นี้ก็เพราะว่า เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ  และยังเป็นเรื่องแห่งศักดิ์ศรีที่มีมาอย่างช้านาน ระหว่างค่ายรถญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำในตลาดรถบ้านเรา ในประเด็นเรื่องราวที่ว่า “ระบบ VVT-I และ VTEC ใคร…เจ๋งกว่ากัน ?”  ดังนั้นในบทความนี้ขออนุญาตนำเสนอเป็นภาษาบ้านๆ เพื่อความเข้าใจที่ง่าย เผื่อว่าคุณผู้หญิง หรือ คุณผู้ชายหลายๆ  ท่านที่เข้ามาอ่านหรือติดตามบทความ จะได้มีข้อมูลความรู้และความเข้าใจอย่างชัดเจน และ เกิดความเข้าใจในรถตัวเองได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

        แน่นอนล่ะครับ  ถ้าคุณเป็นเจ้าของรถ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลก็ตาม คุณเองคงเคยได้ยินหรือมีข้อมูลของเครื่องยนต์รถตัวเองว่า เป็นเครื่องยนต์  ในขนาดเท่านี้ซีซี  + ขนาดสูบเท่านี้ + จำนวนกี่วาล์ว   ยกตัวอย่างเช่น เป็นเครื่องยนต์ขนาด 1,500 ซีซี 4 สูบ 16 วาล์ว VVT-I  หรือ เครื่องยนต์ ขนาด 1,600 ซีซี 4 สูบ 16 วาล์ว VTEC เป็นต้น .. ซึ่งในรายละเอียดสเปคนี้ก็จะบ่งบอกว่า รถคุณมีการทำงานทั้งหมด 4 สูบ มีความจุกระบอกสูบรวมทั้งหมด 1,500 ซีซี หรือ 1,600 ซีซี  และ มีการทำงานทั้งหมด16 วาล์ว  และที่สำคัญตัวอักษรที่ต่อท้ายยังบอกด้วยว่า เป็นระบบวาล์วที่พิเศษ นั่นคือเป็นเครื่องยนต์ที่มีระบบการทำงานในแบบระบบวาล์วแปรผัน นั่นเองครับ

วาล์ว คืออะไรในเครื่องยนต์ ?
        วาล์ว คือ ชิ้นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการทำงานของเครื่องยนต์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ในระบบ เบนซินหรือ ดีเซลก็ตาม ซึ่ง วาล์ว มีหน้าที่ในการ เปิด และ ปิด  อากาศดี และ อากาศเสีย ให้เข้าในห้องเผาไหม้ และไหลออกจากห้องเผาไหม้ ในเครื่องยนต์ให้เป็นไปในจังหวะที่ถูกต้อง และ ควบคุมให้อากาศเข้าออกในปริมาณที่เหมาะสมนั่นเอง

        แต่ด้วยการพัฒนาระบบการทำงานของ วาล์วในเครื่องยนต์ยุคใหม่ ได้มีการปรับปรุงให้มีความสามารถสูงขึ้นและมีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อรีดกำลังและใช้เชื้อเพลิงในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงคายไอเสียในปริมาณที่ต่ำลง ในค่ายรถแต่ละค่ายจึงได้พัฒนาระบบ “ วาล์วแปรผัน ” ขึ้นมานั่นเอง

        ซึ่งระบบ วาล์วแปรผัน คือกลไกการทำงานของวาล์วในรูปแบบปกตินั่นแหละครับ ซึ่งหน้าที่มันเหมือนเดิม แต่เพียงเพิ่มความฉลาดในการทำงานของมันเอง เพื่อที่จะเปิด / ปิด อากาศดีหรืออากาศเสีย ให้เข้า หรือ ออก จากเครื่องยนต์ได้มากขึ้นหรือเร็วขึ้นหรือเปิดได้นานขึ้นตามการใช้งานของเครื่องยนต์ในช่วงเวลานั้นๆ เช่น ถ้าเราต้องการใช้ความเร็วสูงมากขึ้นในระหว่างการขับขี่ เมื่อความเร็วรอบสูงขึ้น หากเครื่องยนต์ได้ถูกออกแบบการทำงานของระบบวาล์วแปรผัน ไว้  ชุดวาล์วในแต่ละสูบตามจังหวะการทำงานก็จะเปิดได้นานขึ้นหรือมากขึ้น เพื่อดึงอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้เร็วขึ้น ทำให้เครื่องยนต์มีอัตราเร่งและมีกำลังที่ดีขึ้นนั่นเองครับ

        ค่ายผู้ผลิตรถค่ายไหน .. ที่ทำเครื่องยนต์ให้เป็นระบบ  วาล์วแปรผัน บ้าง ?
        บอกเลยครับในยุคสมัยนี้ทุกค่ายรถเลยล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่นหรือยุโรป  ได้ออกแบบเครื่องยนต์และใช้ระบบวาล์ว เป็นระบบวาล์วแปรผันแทบทั้งนั้น  เพราะอย่างที่กล่าวไว้ครับ .. “การควบคุมปริมาณอากาศ เข้า / ออก จากห้องเผาไหม้ คือตัวแปรสำคัญในลำดับต้นๆ  ที่จะทำให้เครื่องยนต์มีสมรรถนะที่ดี .. เพราะถ้าอากาศเข้าออก  ในปริมาณที่เหมาะสม  และส่วนผสมระหว่าง อากาศ + น้ำมัน + ไฟ สมดุลกัน เครื่องยนต์จะทำงานได้สมบูรณ์ ”  ดังนั้นด้วยยุคสมัยและการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ทางค่ายผู้ผลิตรถยนต์ นอกจากจะออกแบบการทำงานให้วาล์วเปิด/ปิด ตามหลักการแล้ว ยังได้เพิ่มเติมเสริมเขี้ยวเล็บให้กับเครื่องยนต์ในค่ายตัวเอง โดยการพัฒนาระบบการทำงานให้เป็นระบบ วาล์วแปรผัน เพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้เครื่องยนต์ มีสมรรถนะ และ ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น นั่นเองครับ

        เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องยนต์รถเราเป็น “ ระบบวาล์วแปรผัน ”
เรื่องนี้สังเกตได้ไม่ยากครับ อย่างแรกเมื่อตอนซื้อรถจากโชว์รูม หรือ เต็นท์รถ หรือผู้ขาย ทางเซลส์ หรือผู้ขายน่าจะบอกสรรพคุณของเครื่องยนต์มาเป็นอย่างดี แต่หากไม่ทราบให้ดูที่รายละเอียดบนเครื่องยนต์ ว่าบนเครื่องยนต์หรือท้ายรถ มีโลโก้หรือสัญลักษณ์หรือข้อความบ่งบอกไว้หรือไม่ เช่น VVT-I /  VTEC / MIVEC / VVL / VANOS  หากมีสัญลักษณ์เหล่านี้ปรากฏอยู่ก็บอกได้เลยว่า เครื่องยนต์ของคุณเป็นการทำงานในระบบวาล์วแปรผันแล้วล่ะครับ

        แต่การออกแบบระบบวาว์ลแปรผัน..ของค่ายรถไหนล่ะ ที่ เจ๋ง และ แจ๋ว กว่ากัน ?
        ซึ่งประโยคนี้เป็นประโยคที่กระชากใจยิ่งนัก วันนี้ผู้เขียนขออนุญาต เจาะลงไปในค่ายรถเมืองยุ่น ละกัน  ซึ่งเป็นรถตลาดที่หลายๆคนรู้จัก นั่นคือ  ค่าย Toyota กับ Honda ซึ่งเรียกกันว่า  ทั้ง 2 ค่ายนี้ เป็นคู่กัดกันมาตลอดกาล และ มักเป็นประเด็นในการถกเถียงกันในเหล่าบรรดา วัยรุ่นสายซิ่ง หรือ นักซิ่งมากประสบการณ์ว่า ใครเจ๋งกว่ากัน … ถ้าอย่างนั้น เรามาลงรายละเอียดวิธีการทำงานในระบบ วาล์วแปรผันของทั้ง 2 ค่ายนี้กันสักหน่อยดีกว่า

        การทำงานของ ระบบวาล์วแปรผัน ทางค่าย Toyota ที่มีตัวอักษรย่อว่า  “ VVT-I ”
        เครื่องยนต์ระบบ VVT- I  หรือ ชื่อเต็มๆ คือ Variable Valve Timing-Intelligence ซึ่งเป็นระบบในการควบคุมการเปิด-ปิด วาล์วไอดี และ ไอเสีย ที่ถือเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาเครื่องยนต์ของทางค่าย Toyota  ซึ่งทางวิศวกรได้ออกแบบระบบการควบคุมการเปิด – ปิดวาล์ว ที่ขึ้นอยู่กับความต้องการกำลังของเครื่องยนต์ในสถานการณ์นั้นๆ  เช่น  ปล่อยให้เครื่องเดินที่รอบเดินเครื่องเบา เร่งแซง หรือ ขับเร็วคงที่  ซึ่งในระบบวาล์วแปรผันจะคำนวณหารอบเครื่องยนต์ (RPM) องศาการเปิดลิ้นปีกผีเสื้อ และปัจจัยอื่นๆเพื่อ ประมวลผล การเปิดระยะ วาล์วให้เกิดจังหวะการทำงานที่แม่นยำและต่อเนื่องมากที่สุด

        โดยหลักการทำงานในระบบ VVT-I คือการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเข้าที่หัวแคมชาฟท์ ฝั่งไอดี ( เพลาลูกเบี้ยว ) เพื่อประเมินผลจากการคำณวนการสั่งงานจากรอบเครื่องยนต์ และ ปัจจัยต่างๆ เพื่อให้แคมชาฟท์ฝั่งไอดีเปิดอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้ตามจังหวะและปริมาณในปริมาณที่มากและเร็วขึ้นตามการเรียกใช้งานกำลังของเครื่องยนต์

การทำงานของ ระบบวาล์วแปรผัน ทางค่าย Honda  ที่มีตัวอักษรย่อว่า  “ VTEC ”
        เครื่องยนต์ระบบ VTEC หรือ ชื่อเต็มๆ คือ Variable Valve timing / Lift Electronic Control System ซึ่งเป็นระบบ วาล์วแปรผันที่เป็น ลิขสิทธิ์เด่น ของทาง Honda โดยเฉพาะ  หรือว่ากันว่าเกิดมาเป็นรายแรกๆ ในการออกแบบระบบวาล์วแปรผัน  ซึ่งเดิมที ทางวิศวกรทาง Honda ได้พัฒนาใช้สำหรับในรถแข่งของทางค่าย Honda แต่ด้วยการออกแบบที่ประสบความสำเร็จ  จึงได้พัฒนาหลักการนี้มาใส่ในรถที่จำหน่ายของทางค่าย Honda

        ซึ่งระบบการทำงาน VTEC นี้ ก็คือการเล่นกับการควบคุมปริมาณอากาศเข้าออกห้องเผาไหม้เช่นกัน นั่นหล่ะครับ แต่เพียงว่ารูปแบบการทำงานหรือกลไกจะแตกต่างกันไปในแต่ละค่ายเพียงเท่านั้น ซึ่งทางฝั่ง VTEC จะมีระบบกลไก ที่ซับซ้อนกว่าค่ายอื่นๆ  เลยก็ว่าได้ 

        เพราะว่าระบบ VTEC  จะออกแบบให้ แคมชาฟท์มีเพลาลูกเบี้ยวเพิ่มเข้าไปอีกชุดของแต่ละสูบ เพื่อเคาะเปิดไอดีในจังหวะรอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้นเพื่อให้วาล์วในแต่ละสูบเปิดได้มากขึ้นและนานขึ้น เพื่อดึงไอดีเข้าสู่ระบบห้องเผาไหม้ได้เพียงพอในรอบเครื่องยนต์ที่ต้องการ เพียงแต่ว่าการทำงานในระบบ VTEC นั้น จะมีการควบคุมการทำงานในตัวระบบวาล์วแปรผัน ด้วยการประเมินผลในช่วงเวลานั้นๆว่า   เครื่องยนต์มีความพร้อมหรือไม่ เพราะระบบวาล์วแปรผันต้องอาศัยแรงดันน้ำมันเครื่องขึ้นมาเปิดระบบการทำงาน  พร้อมกับการประเมินผลความเร็วรอบ และ ลิ้นปีกผีเสื้อที่เปิดรับอากาศเข้าสู่ท่อรวมไอดีในช่วงเวลานั้นๆ ด้วยว่าทั้งระบบมีส่วนผสมในการจุดระเบิดเพียงพอและพอดีนั่นเองซึ่งจะป้องกันการเสียหายที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ เพราะต่อให้ใช้ความเร็วรอบสูงเท่าไหร่แต่แรงดันน้ำมันเครื่องที่ส่งขึ้นมาหล่อลื่นไม่เพียงพอ ส่วนผสมอากาศ หรือ น้ำมันไม่เพียงพอ ระบบ VTEC ก็จะไม่ทำงานให้เป็นต้น

VVT-I VS VTEC   คู่กัด ตลอดกาล  ..งานนี้  ใครเจ๋ง..ใครโดน .!!
เป็นการวิเคราะห์และตัดสินได้ยากมากๆ .. ผมเชื่อเองเลยว่าหลายๆ ท่านก็เคยจัดรถลองกันมาบ้างแล้วหล่ะ เพื่อที่จะมาวัดกันว่า ใครเจ๋งกว่าใคร .. แต่ก็ได้คำตอบบ้าง ไม่ได้บ้างเพราะมันมีปัจจัยอะไรหลายๆอย่างที่แตกต่างกัน

        แต่ถ้าเอาเป็นกลางเลยจริงๆแล้ว ไม่ว่า จะเป็นระบบวาล์วแปรผัน ที่ค่ายไหนทำ ก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น เพราะสามารถทำให้เครื่องยนต์ของเราสามารถปล่อยพลังกันมาได้เต็มที่นั่นหล่ะครับ  อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการใช้เชื้อเพลิงได้อย่างประหยัดคายไอเสียได้เหมาะสม ดังนั้นทุกค่ายทำได้ดีหมด  แต่ถ้ามามองในเงื่อนไขการใช้งานจริงๆแล้ว อาจมีความแตกต่างกันบ้าง เช่น

        ในระบบ VVT-I อาจทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกว่าใช้งานได้ง่ายคือการขับขี่ไปอย่างปกติ  เมื่อเราต้องการเพิ่มความเร็วในระบบ วาล์วแปรผันก็จะทำงานอย่างต่อเนื่องแล้วส่งผลมาให้เรารับรู้ได้ถึงอันตราเร่งที่เพิ่มขึ้นอย่างนุ่มนวล เรียกว่ามาง่ายๆ มาอย่างต่อเนื่องและทางค่าย Toyota เองก็ไม่ธรรมดา  ปัจจุบันยังพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นระบบ “ Dual  VVT-I “ แล้วด้วย แหมะ ร้ายจริงๆ

        แต่ถ้ามามองในระบบ VTEC  ซึ่งระบบวาล์วแปรผันในระบบนี้อาจถูกใจวัยรุ่นขาซิ่งทั้งหลาย เพราะในการทำงานระบบ VTEC นี้จะเป็นการทำงานในรอบเครื่องยนต์ที่สูง  คือ ถ้าพูดกันง่ายๆ ถ้ารอบเครื่องยนต์ไม่ถึงในรอบเครื่องยนต์ที่กำหนดไว้  ระบบแรงดันน้ำมันเครื่องมีแรงดันไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดระบบ VTEC จะไม่ทำงานในทางกลับกับถ้ารอบเครื่องถึง  แรงดันน้ำมันเครื่องถึง ความสมบูรณ์ทุกอย่างพร้อม  ระบบวาล์วแปรผัน VTEC ที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นขาซิ่ง ทั้งหลายก็จะแผดเสียงคำรามออกมาพร้อมทั้งรีดพลังแรงม้าออกมาให้เห็นจนต้องร้อง ว้าวว!! กันเลยก็เป็นได้

        ดังนั้นถ้าเรามองความแตกต่างกันเพียงเฉพาะทั้ง 2ค่ายนี้ สิ่งที่แตกต่างก็อยู่ที่วิธีการใช้งาน จังหวะการทำงานของระบบวาล์วแปรผัน เพียงเท่านั้น แต่เป้าหมายหรือผลลัพท์ ก็เพื่ออัตราเร่งที่ดีประหยัดและคายไอเสียได้เหมาะสมเหมือนกัน ผมไม่ฟันธงหรือมาตัดสินนะครับว่า ใครดีกว่ากัน  ผมว่าดีทั้งคู่ล่ะครับ   และ  ท้ายที่สุดนี้  บทความนี้ไม่ได้บอกว่าระบบวาล์วแปรผันของ 2 ค่ายนี้ดีที่สุดนะครับ  เพียงแค่หยิบมาบอกเล่ากันเป็นกรณีศึกษาถึงระบบวาล์วแปรผันคืออะไร  ซึ่งจริงๆ แล้ว ระบบวาล์วแปรผันมีอยู่ในทุกค่ายรถ และแต่ละค่ายรถต่างก็พัฒนาออกมาได้ดีจนปัจจุบัน แต่เพียงแค่ในวงการที่ผมสัมผัส มี 2 ค่ายนี้ที่ค่อนข้างจะเป็นที่สงสัยหรือพูดถึงกันบ่อยๆ และมักเป็นประเด็นในการถกเถียงในเรื่องความเจ๋ง ความแจ๋วในหมู่วัยรุ่นก็เพียงเท่านั้น   บทความนี้จึงได้เลือกหยิบระบบวาล์วแปรผัน ของ 2 ค่ายนี้มาเป็นกรณีศึกษากันล่ะครับ … เพราะยังไงแล้ว รถจะแรงไม่แรง ทุกอย่างอยู่ที่ใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่บนถนนครับ  ขับรถไม่ประมาทครับ ที่สำคัญเคารพกฎครับ .. ถึงรถจะไม่แรงแซงใครไม่ได้ แต่รับรองครับ ว่าหล่อ แน่นอน .!!

เครดิต www.carvariety.com