ข้อดี VS ข้อเสีย ของการประยางแบบสตีมและแบบสอดไส้

        เมื่อยางแตกขึ้นมา เราควรเลือกปะยางด้วยวิธีไหนถึงจะดี?? ก่อนอื่นเราคงต้องมารู้จักกันก่อนว่าการปะยางว่ามีกี่แบบ และมีข้อดี และข้อเสียอย่างไร การปะยางหากแบ่งแยกตามมาตรฐานแล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ การปะแบบสตีม และการปะแบบสอดใส้

การปะแบบสตีม คือ การปะยางแบบดั้งเดิมโดยแบ่งออกเป็น สตีมเย็น กับ สตีมร้อน

สตีมเย็น วิธีการปะแบบสตีมเย็น จะใช้ยางอีกแผ่นหนึ่งมาทำหน้าที่อุดรูรั่ว โดยปกติก็จะใช้ยางในรถที่ถูกทิ้งหรือไม่ใช้งานแล้ว มาทำการประสานเข้าไปกับยางในที่มีการรั่วซึม พอกาวแห้งสนิทดีแล้วก็สามารถนำยางไปสูบลมใช้งานได้ต่อไป การปะแบบนี้โดยมากจะใช้กับรถจักรยานเท่านั้น

ข้อดี :ราคาไม่แพง ยางไม่เสียรูป และรถยังขับได้เหมือนเดิมโดยไม่รู้สึกแตกต่าง
ข้อเสีย: มีขีดความสามารถในการทนต่อความร้อนได้ต่ำ รับแรงดันลมได้ไม่มากนัก และรับน้ำหนักบรรทุกได้น้อย

สตีมร้อน จะใช้ยางปะชนิดพิเศษ ผ่านกระบวนการหลอมด้วยความร้อน จากนั้นประกบกับรอยแผล และใช้เครื่องมือในการกดเพื่อประสานแผ่นยาง กับยางรถกดให้ติดสนิทแน่นกัน จากนั้นสามารถนำไปสูบลมใช้งานได้ต่อไป ใช้ได้กับมอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงรถสิบล้อ

ข้อดี : การปะแบบสติมร้อนแผลจะติดสนิทแน่นหนาดี สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้มาก สูบลมได้เต็มที่
ข้อเสีย : ความร้อนอาจจะทำให้โครงสร้างของยางเสียหายได้ หากเป็นยางแบบไม่มียางใน ส่วนยางที่มียางในก็จะเกิดความเสียหายของยางรอบๆ บริเวณแผลปะที่ถูกความร้อน

การปะแบบสอดไส้ คือการเอายางที่รั่วมาถอนเอาของแข็งที่ทิ่มแทงออกไป แล้วใช้ตะไบหางหนูมาแทงแยงเข้าไปตรงรูที่รั่วเพื่อทำความสะอาด จากนั้นจึงใช้เส้นยางผสมกับใยสังเคราะห์มาชุบลงไปบนน้ำยา ที่มีส่วนผสมของยางดิบ และกาวสำหรับประสาน จากนั้นก็ใช้เครื่องมือแทงยัดเส้นยางดังกล่าว อัดเข้าไปในรูแผลรั่วนั้น

ข้อดี : การปะแบบนี้สามารถปะได้โดยไม่ต้องถอดกระทะล้อออกจากรถ ทำให้น๊อตล้อและกระทะล้อไม่ช้ำ ใช้เวลาการปะรวดเร็ว สามารถถ่วงล้อได้ง่าย
ข้อเสีย : ใช้ได้กับยางที่ไม่มียางในเท่านั้น และรับน้ำหนักมากๆ หรือทนความร้อนสูงๆ แบบสติมร้อนไม่ได้

สรุป
การปะแบบสอดใส้ คือการปะแบบชั่วคราว ระยะยาวอาจรั่วใหม่ได้ ทางแก้ก็คือ ถ้ารั่วอีกก็ปะใหม่ ราคาไม่แพง หรือนำไปปะแบบสตรีมก็จะอยู่ได้ทนทานกว่ามาก เพราะฉะนั้นต้องเลือกเอาครับว่า จะเอาสะดวก หรือจะเอาใช้ยาวๆ แต่หากรั่วหลายจุด หรือว่า รอยแผลใหญ่ แนะนำให้เปลี่ยนยางเลยครับ

เพิ่มเติมข้อควรระวังในการปะซ่อมยาง
• ยางรถยนต์ที่ชำรุด เนื่องจากถูกตะปูตำ สามารถซ่อมแซมโดยปะยางได้เฉพาะในส่วนหน้ายางที่สัมผัสกับถนนเท่านั้น ไม่ควรปะยางบริเวณแก้มยาง เนื่องจากมีการยืดหยุ่นอยู่ตลอดเวลา ยางอาจแตกหรือระเบิดได้ง่าย
• ยางที่สามารถปะซ่อมได้ ควรมีความลึกของดอกไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิเมตร และแผลควรกว้างไม่เกิน 6 มิลลิเมตร
• ไม่ควรปะยางทับหรือซ้อนรอยแผลเดิม

เครดิต www.heremoo.com