Mazda อธิบายวิธีแก้ปัญหา “เทอร์โบรอรอบ” ใช้แนวคิดเหมือนสายยางหลังบ้าน

    เครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายค่ายรถหันมาใช้ระบบอัดอากาศเพื่อเพิ่มความประหยัดน้ำมันและลดมลพิษไอเสีย

หลักการทำงานของเทอร์โบคือการใช้ไอเสียปั่นใบเทอร์โบเพื่อเพิ่มอากาศไอดีและแรงดันเข้าสู่เครื่องยนต์สำหรับวงจรการเผาไหม้ครั้งต่อไป ยิ่งเหยียบคันเร่งเพิ่มรอบมากเท่าไหร่ เทอร์โบยิ่งหมุนเร็วขึ้นเท่านั้น ส่งอากาศเข้าสู่กระบอกสูบเพื่อเพิ่มพละกำลัง

แต่ข้อด้อยของเทอร์โบก็คือ ภาวะ “รอรอบ” หรือ “เทอร์โบแล็ก” ซึ่งตัวเทอร์โบจะต้องรอแรงดันที่มากเพียงพอถึงจะทำการ “บูสต์” ปั่นแรงลมเข้าสู่เครื่องยนต์ โซลูชั่นส์ทางแก้ปัญหาง่ายๆ ที่นิยมใช้ในปัจจุบันก็คือการเลือกใช้เทอร์โบแรงดันต่ำ โดยจะใช้เทอร์โบ 2 ตัวที่มีขนาดแตกต่างกันทำงานเป็นลำดับขั้นหรือ “ซีเควนเชียล” ที่ความเร็วและรอบต่างกัน

แต่สำหรับมาสด้า พวกเขาได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า “Dynamic Pressure Turbo” ขึ้นมา แปลง่ายๆ ก็คือเทอร์โบที่มีแรงดันเปลี่ยนแปลงไปตามรอบเครื่องยนต์

มาสด้าระบุว่า Dynamic Pressure Turbo คือระบบเทอร์โบชาร์จแบบแรกในโลกที่สามารถเปลี่ยนจังหวะองศาของไอเสียได้ตามรอบเครื่องยนต์ เพื่อให้เทอร์โบทำงานในรอบต่ำได้ ขจัดปัญหาการรอรอบไปได้ในระดับหนึ่ง

    ดาโต๊ะ สริ เบน เยา กรรมการผู้จัดการของเบอร์มาซ มอเตอร์ ผู้จัดจำหน่ายมาสด้าอย่างเป็นทางการในมาเลเซียให้สัมภาษณ์กับ Carlist.my เว็บไซต์พันธมิตรของเราในแดนเสือเหลืองว่า “การทำงานของระบบดังกล่าวก็เหมือนกับตอนที่คุณใช้สายยางรถน้ำต้นไม้หลังบ้าน ถ้าวันใดน้ำไหลน้อย คุณก็จะต้องบีบที่หัวสายยางให้เล็กลงเพื่อให้น้ำพุ่งแรง รดน้ำต้นไม้ได้ไกลมากขึ้น”

เทคโนโลยี Dynamic Pressure Turbo จะมีวาล์วที่อยู่ด้านหน้าตัวเทอร์โบซึ่งสามารถ “บีบ” การไหลเวียนของอากาศได้ ดังนั้นจึงช่วยให้เทอร์โบทำงานเต็มที่ถึงแม้จะมีแรงดันมาถึงตัวเทอร์โบน้อย มาสด้าจึงสามารถพัฒนาเครื่องยนต์ที่มีการทำงานเหมือนเทอร์โบแปรผันหรือเทอร์โบคู่ แต่มีกลไกน้อยกว่า

ตัวอย่างสำคัญคือเครื่องยนต์เทอร์โบสกายแอคทีฟ-จี 2.5 ลิตรในมาสด้า ซีเอ็กซ์-9 ที่มีบูสต์เทอร์โบถึง 1.2 บาร์ที่รอบเครื่องยนต์ต่ำเพียง 1,600 รอบต่อนาที รีดพละกำลังสูงสุด 250 แรงม้าที่ 5,000 รอบต่อนาที แรงบิด 420 นิวตันเมตรที่ 2,000 รอบต่อนาที

เครดิต www.autospinn.com