ว่ากันด้วยเรื่อง “เกียร์หลุด เกียร์ค้าง” เมื่อเจอเหตุการณ์ เราควรทำอย่างไร

        อาการดังกล่าวที่ขึ้นหัวเรื่องมานี้  โอกาสที่จะเกิดขึ้นกับรถของเรานั้นมีน้อยมากๆ ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซนต์ก็ 0. 001 %  ซึ่งรถที่ถูกผลิตออกมาให้ผู้บริโภคได้ใช้งานจะถูกทดสอบมาเป็นอย่างดีจากโรงงานที่ประกอบ และต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพอีกขั้นตอน ก่อนที่จะส่งต่อให้ผู้บริโภคได้ใช้งานกัน ดังนั้นมาดูกันว่าอาการเกียร์หลุด เกียร์ค้างมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ในรถที่เป็นเกียร์อัตโนมัตินั้น จะมีการใส่เกียร์ที่คันเกียร์บริเวณคอนโซลกลางของรถ หรืออาจจะเป็นเกียร์อัตโนมัติที่คันเกียร์อยู่ที่ตำแหน่งพวงมาลัย   ซึ่งเมื่อเราโยกคันเกียร์เพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ตำแหน่งใดก็ตาม เช่น ตำแหน่งเกียร์ P R N D 2 L หรือตำแหน่งอื่นๆ แล้วแต่ผู้ผลิตจะออกแบบมาให้ผู้ขับขี่ได้ใช้งานกัน  การส่งกำลังจะต้องถูกส่งกำลังจากคันเกียร์ไปสู่สายคันเกียร์ที่เป็นลักษณะสายสลิงที่มีแกนเหล็กเป็นลวดสลิง อยู่ด้านในที่ถูกวัสดุยางหุ้มเอาไว้  ลักษณะการเคลื่อนที่จะถูกดึงเข้า และถูกดันออก ไป-กลับ เช่นนี้ตลอดเวลาที่เรามีการผลักคันเกียร์ไปสู่ตำแหน่งเกียร์ที่เราต้องการ (ยกเว้นในระบบที่เป็นเกียร์ไฟฟ้า จะถูกสั่งงานโดยไม่มีสายคันเกียร์)

            การสึกหรอของชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาตามที่เราผลักคันเกียร์ก็จะเกิดขึ้น  ในสายคันเกียร์จะมีชิ้นส่วนที่ทางช่างเราเรียกกันว่า บูชคันเกียร์ ซึ่งจะมีอยู่ที่ด้านปลายของสายคันเกียร์ทั้งสองด้าน  และจะสึกหรอตามการใช้งาน อาการที่จะเตือนเราให้รู้ตัวล่วงหน้าก่อนก็คือ เมื่อบูชคันเกียร์สึกหรอ หรือเมื่อเราเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่งใดก็ตาม คันเกียร์จะมีอาการหลวมๆ มีระยะที่สามารถโยกไปมาได้ แต่ระยะการโยกตัวจะมีไม่มาก หากอาการหนักคันเกียร์ก็จะเคลื่อนที่แบบที่เราสามารถใช้มือโยกเล่นได้เลย และเมื่อใดที่เราเข้าเกียร์ เราจะรู้สึกว่าคันเกียร์จะไม่ค่อยตรงตำแหน่งที่เราต้องการ อาการเช่นนี้เมื่อเกิดขึ้นจะอันตรายเป็นอย่างมาก หากเราปล่อยไว้ ส่วนอาการที่ตามมาคือ บูชคันเกียร์หลุดออกมา หรือตำแหน่งเกียร์ที่ต้องการไม่ตรงตำแหน่ง ก็จะทำให้เราไม่สามารถใส่เกียร์ได้ในทุกตำแหน่ง หรือที่เราเรียกกันว่าเกียร์หลุดนั่นเอง อาจเกิดอาการที่เราใส่เกียร์ไปที่ตำแหน่งใด เช่นเราใส่เกียร์เดินหน้า แต่สายคันเกียร์ที่เกิดอาการสึกหรอ ทำให้ปลายสายของสายคันเกียร์ไม่ตรงตำแหน่ง ดันไปอยู่ที่ตำแหน่งเกียร์ ถอยหลัง หรือบางครั้งเราใส่เกียร์ว่าง แต่สายคันเกียร์ที่รับกำลังจากคันเกียร์ ส่งกำลังไปที่ปลายสายอีกด้านหนึ่ง  ดันไปค้างอยู่ที่เกียร์ถอย หรือเกียร์เดินหน้าอยู่ ก็อาจจะเป็นไปได้ เป็นต้น ซึ่งเราเรียกอาการนี้ว่าเป็นอาการเกียร์ค้างก็ได้  ทีนี้เรามาดูกันว่าเราจะป้องกันได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการเสื่อมสภาพที่บูชของสายคันเกียร์  ก่อนอื่นเลยเราจะต้องหมั่นดูแลบำรุงรักษารถของเรา เข้าตรวจเช็คตามระยะที่ผู้ผลิตกำหนดเอาไว้ ซึ่งทางช่างจะมีการตรวจสอบ และหากพบอาการดังกล่าวก็จะมีการแจ้งให้ทราบ เพื่อเปลี่ยนสายคันเกียร์ หรืออะไหล่ที่เกี่ยวข้องให้กับลูกค้า ก่อนจะเกิดอาการที่ไม่คาดคิดได้

        ในการใช้งานนั้น ให้เราหลีกเลี่ยงการจอดรถในที่ลาดชัน ซึ่งหากเรามีความจำเป็นต้องจอดรถในพื้นที่ที่มีลักษณะลาดชัน ก็จะต้องเข้าเกียร์ P เอาไว้ ซึ่งบางครั้งเบรกมืออาจจะดึงไม่อยู่ แต่หากเราไม่ดึงเบรคมือก่อนใส่เกียร์ P และปล่อยเบรกที่แป้นเบรกที่เท้าเหยียบ รถก็จะถูกดึงลงในตำแหน่งที่ต่ำ ตามแรงโน้มถ่วงของโลก ชิ้นส่วนภายในเกียร์จะถูกล็อคที่เฟืองเกียร์  เพื่อไม่ให้มีการขยับตัวของเฟืองเกียร์ทำให้รถเคลื่อนที่ไม่ได้  และเมื่อเราต้องมีการขยับคันเกียร์ หรือในกรณีที่เราต้องมีการเคลื่อนย้ายรถไปจุดอื่น เราจะต้องออกแรงดึงคันเกียร์โดยการใช้แรงดึงที่มากกว่าปกติ  ซึ่งเกิดจากการล็อกตัวของเฟืองเกียร์ ในตำแหน่งเกียร์ P และถูกแรงดึงของน้ำหนักรถดึงเอาไว้อีก บูชสายคันเกียร์จะต้องถูกใช้งานด้วยแรงดึงที่มากกว่าปกติ ซึ่งจะเกิดการเสื่อมสภาพเร็วกว่าการใช้งานตามปกติ  อย่างไรก็ตาม หากสามารถหลีกเลี่ยงจอดรถในที่ลาดชันได้ สมควรหลีกเลี่ยงครับ



การใช้เกียร์ที่ปลอดภัยมากที่สุดสำหรับเกียร์อัตโนมัติ นั่นคือ

– ตรวจสอบพื้นที่ในบริเวณห้องคนขับ จะต้องไม่มีสัมภาระ เช่นขวดน้ำ รองเท้า หรือสิ่งของอื่นๆ อยู่ในพื้นที่เด็ดขาด

– หลีกเลี่ยงการใช้รองเท้าส้นสูงในการขับรถทุกครั้ง

– ตรวจสอบพรมที่ใช้งาน ห้ามซ้อนพรม หรือผ้ายางเกิน 1 ชั้น และไม่ควรใช้พรมที่ไม่ได้มาตรฐานจากทางผู้ผลิต ซึ่งอาจจะทำให้คันเร่งติดค้างที่พรมได้

– ทุกครั้งที่เรามีการใส่เกียร์ไม่ว่าจะตำแหน่งใดก็ตาม  ให้เราทำการเหยียบเบรกก่อนใส่เกียร์ทุกครั้ง และค่อยๆ ปล่อยแป้นเบรกที่เท้า  เพื่อให้รถเคลื่อนที่ออกไปอย่างช้าๆ เพื่อดูว่าตำแหน่งเกียร์ที่เราใส่อยู่ รถเคลื่อนที่ออกไปตรงความต้องการหรือไม่ แล้วจึงค่อยเหยียบคันเร่งตาม ห้ามปล่อยเบรคอย่างรวดเร็ว และเหยียบคันเร่งตามแบบทันทีทันใดเด็ดขาด เพราะหากเกิดอาการที่เกียร์ไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง รถจะเกิดการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ขับขี่หลายราย ตกใจจนตั้งสติไม่อยู่   ในสมองสั่งให้เท้าเหยียบเบรก แต่เท้าที่เราเกิดอาการตกใจ ดันไปอยู่ที่ตำแหน่งคันเร่งที่เราเพิ่มแรงกดลงไปอีก เครื่องยนต์ก็จะถูกสั่งให้เพิ่มความเร็วรอบบวกกำลังที่เพิ่มขึ้น ทำให้รถพุ่งออกไปโดยที่เราควบคุมไม่ได้ และอุบัติเหตุก็จะตามมา

– เมื่อเกิดเหตุการณ์เกียร์หลุด เกียร์ค้าง ให้เราตั้งสติ กดสวิทช์ไฟฉุกเฉิน  เหยียบแป้นเบรกให้แรงที่สุดเพื่อให้รถหยุด หากรถไม่หยุดห้ามตกใจเด็ดขาด จากนั้นเราจะต้องรีบทำการบิดกุญแจไปที่ตำแหน่ง Off เพื่อดับเครื่องยนต์ให้เร็วที่สุด เพื่อตัดการส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปสู่เกียร์ และหากเครื่องยนต์ดับแล้ว อาการที่จะตามคือพวงมาลัยจะมีอาการหนักเพิ่มขึ้นมา การควบคุมรถเราจะต้องใช้แรงในการหมุนพวงมาลัยไปทิศทางที่เราต้องการ และต้องใช้แรงที่เพิ่มมากขึ้น และระวังอย่าหมุนสวิทช์กุญแจไปที่ตำแหน่ง Lock โดยเด็ดขาด เนื่องจากเราจะไม่สามารถหมุนพวงมาลัยได้เลย เมื่อเครื่องยนต์ดับแล้ว จึงกดสวิทช์ไฟฉุกเฉิน หากเรามั่นใจว่าได้กระทำการตามข้อแนะนำมาแล้ว รับรองได้ว่า อุบัติเหตุจะห่างไกลจากตัวคุณมากขึ้นแน่นอน

– หากเราต้องการจอดรถ ให้เราทำเหมือนกันคือ เหยียบเบรกให้รถจอดสนิท และเหยียบเบรกค้างเอาไว้ก่อน แล้วจึงค่อยผลักคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง P หรือ  N  จากนั้นค่อยๆ ปล่อยแป้นเบรก ดูว่ารถมีการเคลื่อนที่ไปด้านหน้า หรือถอยหลังหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยปล่อยแป้นเบรกออกจนสุด โดยที่เท้าของเราไม่กดเอาไว้ และตรวจสอบการเคลื่อนที่ของรถว่า มีการเคลื่อนที่หรือไม่ ระวังในการจอดรถในที่ลาดชัน เนื่องจากจะใช้ไม่ได้เลยกับคำแนะนำวิธีนี้ อย่างไรขอให้ทุกท่านลองศึกษาวิธีการรับมือว่าจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาได้ครับ

เครดิต www.kmotors.co.th