รวมวิธีการดูแลรถยนต์

ถ้าพูดถึงเรื่องของการดูแลรักษารถยนต์ หลายคนคงเคยเห็นวิธีการดูแลรถในหลากหลายรูปแบบ แต่วิธีต่างๆที่เราเห็นและแชร์กันนั้นจะเป็นเรื่องจริง ที่สามารถนำมาใช้ได้จริงกับรถยนต์ของเราเองรึเปล่า คงเป็นอีกเรื่องที่เราต้องมาวิเคราะห์ดูกัน และเลือกใช้งานกันไปให้เหมาะสม…และก็อีกหลายครั้งหลายคราที่เราเคยได้ยิน เขาบอกกันอย่างนั้น เขาว่ากันอย่างนี้… ความเชื่อที่เรามักได้ยินมาบ่อยๆ เกี่ยวกับการใช้และดูแลรักษารถยนต์ ใช่หรือไม่ใช่ ควรหรือไม่ควร… วันนี้ช่างเค จะมาขอเพิ่มความกระจ่างหรือหาเหตุผลให้ได้ฟังกันครับ

ความเชื่อ ที่ได้ยินมาบ่อยๆ
1. น้ำมันเครื่อง ควรตรวจเช็คตอนไหน

วิธีที่ควรทำคือ จอดรถบนพื้นราบ เพื่อให้ระดับน้ำมันเครื่องอยู่ในระดับที่ถูกต้องเหมาะสม และทำการวัดระดับหลังจากที่ดับเครื่องแล้วอย่างน้อย 5-10 นาที เพื่อให้น้ำมันเครื่องไหลกลับลงมาสู่อ่างน้ำมันเครื่อง ซึ่งผลจะแม่นยำกว่าหลังการดับเครื่องใหม่ๆ

2. ไฟฉุกเฉิน ควรใช้เมื่อไหร่
– ใช้สำหรับกรณีรถจอดเสียหรือจอดอยู่นิ่งๆ และใช้เฉพาะจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉิน เช่น รถที่จอดเสีย หรือกำลังมีอุบัติเหตุข้างหน้าเท่านั้น
– การวิ่งผ่านสี่แยกที่ไม่มีสัญญาณไฟนั้น ให้วิ่งตรงไปโดยไม่ต้องเปิดไฟกะพริบใดๆ เพราะรถที่วิ่งมาจากด้านซ้ายและขวาของท่านจะเห็นไฟกะพริบแค่ด้านเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะรถที่วิ่งมาทางซ้ายมือจะเห็นไฟกะพริบเพียงด้านซ้าย อาจเข้าใจว่าท่านกำลังจะเลี้ยวซ้าย เลยไม่ชะลอความเร็วหรือให้ทาง ผลก็คืออาจเกิดอุบัติเหตุได้
– ในกรณีฝนตกหนัก ให้เปิดไฟหน้ารถก็เพียงพอ เพราะการเปิดไฟกะพริบจะทำให้รถคันหลังกะระยะยาก เนื่องจากแสงไฟกะพริบรบกวนประสาทสัมผัส ทำให้รถคันหลังจะมองไม่เห็นไฟเบรก เนื่องจากการกะพริบของไฟนั้นดึงความสนใจจากประสาทสัมผัสไปแล้ว


3. เติมลมยาง ตอนไหนดี
– ควรเติมตอนที่ยางยังเย็นอยู่ หรือขับได้ระยะ 2-3 กิโลเมตร อุณหภูมิในยางจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก เมื่อเติมลมยางจะได้แรงดันที่ถูกต้อง เพราะถ้าวัดแรงดันตอนที่ยางร้อนจะได้แรงดันที่ไม่ถูกต้อง – และถ้าเป็นไปได้ ก่อนเข้าบ้านควรเติมลมยางให้มากกว่าปกติสัก 4-5 ปอนด์ รุ่งเช้าก็จัดการวัดลมยางให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ที่แนะนำให้ทำแบบนี้ เพราะหลายคนปั๊มห่างจากบ้านไปเป็น 10 กิโลเมตร เมื่อถึงปั๊มยางก็เกิดความร้อนแล้ว เติมลมก่อนเข้าบ้านแล้วเช็คตอนเช้าจะทำให้ได้ค่าแรงดันที่ถูกต้องที่สุด และมื่อต้องเดินทางไกล ควรเติมลมยางมากกว่าปกติ 3-4 ปอนด์หรือตามที่คู่มือกำหนด

4. เปลี่ยนยางคู่เดียว ควรไว้ด้านหน้าหรือด้านหลัง
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าให้เอาไว้ด้านหน้า แต่จริงๆแล้วต้องไว้ที่ล้อหลัง เนื่องจากเวลาเบรค โมเมนตัมจะมีการถ่ายน้ำหนักมาด้านหน้ามากกว่า ถ้าเอายางเก่าไว้ด้านหลังการยึดเกาะจะน้อยลง อาจจะทำให้เกิดอาการท้ายปัดได้ง่าย รวมถึงการทรงตัวในทางโค้ง

5. ยางรถยนต์ ต้องมีการรันอินหรือไม่
ถือว่าจำเป็นเป็นอย่างมาก หลังจากเปลี่ยนยางใหม่ควรใช้ความเร็วไม่สูงมาก ประมาณ 90-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้ยางเกิดการสึกหรอที่สม่ำเสมอ ให้ประสิทธิภาพด้านต่างๆ แสดงสมรรถนะได้อย่างเต็มที่ โดยเฉลี่ยการรันอินยางรถ ใช้ระยะทางราว 200 กิโลเมตร หรือคิดเป็นเวลาราว 3-4 วัน

6. จำเป็นมั้ย ต้องล้างห้องเครื่อง
การล้างห้องเครื่องทำได้ แต่ไม่ควรบ่อย การล้างควรล้างปีละครั้งก็พอแล้วครับ และควรล้างหลังจากหมดฤดูฝนแล้ว การล้างนั้นต้องรอให้เครื่องเย็นจนมือจับส่วนต่างๆ ได้ เพราะเครื่องยนต์ประกอบด้วยโลหะหลายชนิด ที่มีระยะเวลาในการเย็นตัวไม่เท่ากัน เมื่อโดนน้ำเย็นๆ อาจทำให้เกิดการบิดตัวและเกิดรอยร้าวได้

7. เวลาจอดรถ ควรยกก้านปัดน้ำฝน?
ไม่ควรเลยครับ เพราะจะทำให้สปริงตัวที่ทำหน้าที่ในการกดใบปัดน้ำฝนให้แนบติดกับกระจกตลอดเวลาเสื่อมล้า แล้วเมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วสูง ลมที่ไหลผ่านกระจกหน้าจะยกให้ใบปัดน้ำฝนลอยตัว ไม่แนบกระจก ทำให้ปัดน้ำฝนได้ไม่เกลี้ยงและมีผลต่อทัศนวิสัยในการมองเห็น

8. เวลาจอดรถ ควรเปิดฝากระโปรงหรือไม่
– ควรครับ เพราะเป็นการช่วยระบายความร้อนในห้องเครื่องยนต์ได้มาก และยังป็นการยืดอายุการใช้งานพวกท่อยาง และอุปกรณ์พลาสติกต่างๆ ให้ยาวนานขึ้น – โดยเฉพาะบ้านที่มีปัญหาหนูเข้าห้องเครื่อง นื่องจากเวลากลางคืนนั้น หนูต้องการความอบอุ่น จึงเข้าไปอาศัยอยู่ในห้องเครื่อง เพราะหลังจากดับเครื่องแล้วห้องเครื่องยังอุ่นอีกหลายชั่วโมง การเปิดฝากระโปรงให้ห้องเครื่องเย็น จึงช่วยทำให้หนูไม่ค่อยมาอาศัยในห้องเครื่องด้วย

9. เมื่อไหร่ ที่ควรสลับยางรถ
อาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรือประมาณ 10,000 กิโลเมตร เป็นตัวกำหนดคร่าวๆ ก็ได้ แต่ถ้าพบว่ายางมีการสึกหรอผิดปกติ ก็ทำการสลับยางก่อนเวลาได้เหมือนกัน และในกรณีวิ่งทางไกลเบ่อยๆ ก็ควรสลับยางเร็วขึ้น การหมั่นสลับยางรถ เพื่อให้ยางเกิดการสึกหรอที่ใกล้เคียงกันครับ

10. วอร์มเครื่องยนต์ตอนเช้า ก่อนออกเดินทาง ไม่จำเป็นและไม่ควรทำครับ
เพราะการสตาร์ทเครื่องยนต์ครั้งแรกในตอนเช้าจะเกิดมลพิษมากที่สุด รวมถึงสิ้นเปลืองอีกด้วย ดังนั้นเมื่อพร้อมออกเดินทางก็สตาร์ทเครื่องแล้วออกตัวได้เลย แต่ควรใช้ความเร็วต่ำจนกว่าอุณหภูมิเครื่องยนต์จะถึงระดับปกติ โดยเฉลี่ยขับออกจากบ้านไปสัก 700-800 เมตร เครื่องยนต์ก็จะถึงอุณหภูมิใช้งานได้พอดี… ด้วยความห่วงใย/ ช่างเค

 

เครดิต www.kmotors.co.th