เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ คลาส AB และ คลาส D แตกต่างกันยังไง

เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ Class AB และ Class D แตกต่างกันยังไง และอะไรจะดีกว่ากัน
 
        ปัจจุบันวงการ เครื่องเสียงรถยนต์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อุปกรณ์ต่างๆก็พัฒนาไปมากกว่าเมื่อก่อน อุปกรณ์ที่พัฒนาไปมากและราคาก็ถูกลงมากคือ เพาเวอร์แอมป์รถยนต์

        เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกที่มีหน้าที่ขยายเสียง เพิ่มกำลังขับ ให้กับลำโพง โดยรับสัญญาณมาจากฟร้อนหรือเครื่องเล่น อาจจะผ่านปรีแอมป์เพื่อปรับแต่งสัญญาณมาก่อน แต่ Power Amp รถยนต์ที่เห็นเยอะๆในท้องตลาดมีด้วยกัน 2 แบบ คือ เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ Class AB และ Class D ทั้งสองแบบ มีความต่างทั้งเนื้อเสียงและจุดประสงค์ในการใช้งาน เรามาดูกันเลยครับว่า เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ Class AB และ Class D แตกต่างกันยังไง และเหมาะกับการใช้งานแบบไหนครับ

เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ คลาสเอบี

เป็น เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ ที่ถูกจัดวงจรให้ทำงานตาม Class AB คือ มีกระแสไฟเลี้ยงทรานซิสเตอร์ หรือมอสเฟตเล็กน้อยอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณเข้าไป พูดง่ายๆคือ เมื่อเปิดเครื่อง ทรานซิสเตอร์ภาคขยายก็ทำงานแล้ว ทำให้เครื่องอุ่นๆ(บางรุ่นจัดการทำงานมาดี อาจจะไม่อุ่นเลยก็มี) และเมื่อมีสัญญาณเข้าไป มันก็จะทำงานทันที รูปแบบสัญญาณที่เข้าไปก็จะตอบสนองทุกความถี่ ทำให้เสียงที่ได้จาก เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ Class AB นี้ มีความสมบูรณ์ของเสียงครบทุกย่านความถี่ เราจึงเห็น เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ Class AB นี้ในการใช้งานทุกประเภท ทั้งการขับลำโพงกลาง-แหลม หรือการขับลำโพง Subwoofer ก็ยังได้ แต่ข้อเสียของ เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ Class AB ก็คือ ความร้อนสูงขณะใช้งาน และกินกระแสไฟมาก




เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ คลาสดี

        เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ แบบนี้ถูกจัดวงจรให้ทำงานตาม Class D คือ ทรานซิสเตอร์หรือมอสเฟตภาคขยายจะไม่มีไฟเลี้ยง และสัญญาณจะถูกแปลงเป็นแบบ PWM (คือการนำสัญญาณมาผสมกัน ไม่ขออธิบายมาก มันยาวววววว) และเมื่อสัญญาณเข้าสู่ภาคขยาย ทรานซิสเตอร์ก็จะทำการขยายสัญญาณ เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ Class D นี้มีข้อดีคือ ให้กำลังขับที่เยอะ และกินไฟน้อยกว่า เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ Class AB เลยเห็นคนนำมาใช้ขับลำโพง Subwoofer กันเยอะกว่าขับลำโพงกลาง-แหลม แต่ข้อเสียก็มีนะครับ เนื่องด้วยสัญญาณถูกแปลงเป็นแบบ PWM ทำให้การตอบสนองความถี่สูงไม่ดีเท่าไหร่นัก และมีความเพี้ยนเยอะ จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมในการขับลำโพง กลาง-แหลม แต่ก็มีการพัฒนาให้ใช้ขับลำโพงกลาง-แหลม เช่นเดียวกัน แต่ราคาจะสูงเนื่องจากต้องออกแบบวงจรด้วยอุปกรณ์ที่มีคุณภาพดีกว่าปกติ

สรุปส่งท้าย

เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ Class AB
•    ข้อดี เสียงดี ขับกลางแหลมก็ได้ ขับ Subwoofer ก็ได้ (แต่ Class A เสียงดีกว่า แต่กินไฟและร้อนมาก เลยไม่ได้รับความนิยม)
•    ข้อเสีย กินไฟเยอะ และร้อนมาก

เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ ClassD
•    ข้อดี ให้กำลังขับที่สูง เนื้อเสียงหนักแน่น กินไฟน้อยกว่า เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ Class AB(ที่กำลังขับเท่ากัน)
•    ข้อเสีย การตอบสนองต่อความถี่สูงไม่ดีและความเพี้ยนเยอะกว่า เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ Class AB

เครดิต www.nutsound.com