การติดตั้งลำโพงรถยนต์

        ในอดีตที่ผ่านมา เรื่องของเทคนิคการติดตั้งลำโพงรถยนต์ ในระบบฟรอนท์สเตจยุคแรกๆ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ส่วนใหญ่จะนำทวีเตอร์กับวูเฟอร์ติดตั้งร่วมกันที่บริเวณ KICK PANEL ซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมในอดีต เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ใช้ยืดระยะทางให้กับลำโพงคู่หน้า พร้อมกับกำหนดปรับทิศทางยิงเสียงตัดไขว้ให้เกิดมิติเสียงตรงกลางเหมือนการ ฟังลำโพงในบ้าน และการตัดความถี่เสียงทุ้มให้ซับวูเฟอร์กับลำโพงคู่หน้าได้อย่างกลมกลืน และเหมาะสม ทำให้เทคนิคดังกล่าวประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

        การติดตั้งลำโพงทวีเตอร์กับวูเฟอร์ที่บริเวณ KICK PANEL สามารถทำได้ดีกับรถบางคัน แต่บางคันไม่สามารถทำได้ เพราะตำแหน่งวางเท้าอาจถูกบังโดยขาของคนขับรถ ทำให้การปรับมุมยิงเสียงตัดไขว้ทำได้ลำบาก ซึ่งมีจุดด้อยตรงที่ระดับความสูงของดนตรี และเวทีเสียงนั้นไม่สามารถทำให้ลอยได้ถึงบริเวณ หน้าปัดรถได้ ส่วนใหญ่ระดับความสูงของเวทีเสียงจะอยู่บริเวณคันเกียร์ หรือบริเวณด้านล่างแผงหน้าปัด ปัจจุบันการพัฒนาเทคนิคติดตั้งจากบริเวณที่วางเท้า หรือ KICK PANEL ได้เปลี่ยนเป็นการนำลำโพงไปติดตั้งที่เสา A-PILLAR ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในขณะนี้ เพราะเทคนิคดังกล่าว สามารถยกระดับความสูงของดนตรี และเวทีเสียง ให้ลอยอยู่บริเวณหน้าปัดรถในตำแหน่งที่ถูกต้องยิ่งขึ้น

        ทำอย่างไร เพื่อให้ได้เวที มิติเสียง ในการที่จะทำให้ได้เวที มิติเสียงลอยอยู่บริเวณหน้าปัดรถ อันดับแรก ให้พิจารณาโครงสร้างหน้าปัดรถ โดยเฉพาะรถที่มีหน้าปัดกว้าง และลึก จะได้เปรียบเรื่องตำแหน่งติดตั้งลำโพงที่เสา A ทั้งในเรื่องของระยะทาง และการปรับมุมยิงเสียง แต่ถ้าเป็นรถที่มีหน้าปัดไม่กว้าง และไม่ลึก จะเกิดปัญหาของเสียงแหลมสะท้อนกระจกได้ ทำให้เสียงแหลมจัด บาดหู และไม่พลิ้วหวาน สดใส อย่างที่ควรจะเป็น  

        อันดับต่อไปเป็นเรื่องของประเภทลำโพงที่มีมุมกระจายเสียงแตกต่างกัน เช่น ในกรณีที่เป็นระบบ 2 ทาง (วูเฟอร์ กับทวีเตอร์) จะต้องเลือกทวีเตอร์ที่ตอบสนองความถี่เสียงกลางได้ลึก แต่ถ้าเป็นระบบ 3 ทาง ประกอบด้วย มิดเรนจ์ 3″ ที่ติดตั้งร่วมกับทวีเตอร์ 1″ ที่เสา A-PILLAR ซึ่งจะช่วยให้เสียงร้องอยู่ในตำแหน่งเดียวกับเสียงแหลมได้อย่างง่ายขึ้น ส่วนวูเฟอร์ 6″ อยู่ในช่องประตู พร้อมกับปรับมุมยิงเสียงให้สอดคล้องกับลำโพงทวีเตอร์ และมิดเรนจ์ที่เสา A-PILLAR ด้วย
  

        ในด้านของการปรับมุมลำโพง บางครั้งมีการปรับไปยังด้านตรงกันข้ามของคนฟัง เช่น ถ้าเป็นทวีเตอร์ด้านซ้ายที่เสา A-PILLAR ให้ปรับยิงเสียงไปที่บริเวณหัวหมอนเบาะนั่งคนขับ ส่วนทวีเตอร์ด้านขวาที่เสา A-PILLAR ให้ปรับยิงเสียงไปที่หัวหมอนเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้า หรือปรับตัดไขว้ไปที่บริเวณกระจกมองหลัง ในบางครั้งต้องทดลองฟังก่อนติดตั้งจริง เพื่อให้ได้ตำแหน่งเวที มิติเสียงที่ถูกต้องที่สุด
ส่วนในเรื่องการกำหนดจุดตัดความถี่ในระบบ 2 ทาง ถ้าเป็นทวีเตอร์ 1″ จะกำหนดจุดตัดความถี่ไฮพาสส์ตั้งแต่ 2,500-4,500 HZ เพื่อไม่ให้ลำโพงทำงานหนักเกินไป แต่ถ้าเป็นระบบ 3 ทาง การกำหนดจุดตัดความถี่จะทำได้สะดวกขึ้น เพราะมิดเรนจ์ขนาด 3″-4″ สามารถตอบสนองความถี่ได้ตั้งแต่ 500-10,000 HZ ข้อควรระวัง ถ้าหากตัดเสียงเบสส์เข้าไปในมิดเรนจ์ อาจทำให้ลำโพงเกิดความเสียหาย และถ้าหากตัดความถี่เสียงแหลมมากไป ทำให้เสียงเพี้ยนได้เช่นกัน ซึ่งการตัดความถี่เสียงให้ลำโพงทั้งระบบจะต้องสอดคล้องกัน
  

        สรุป การติดตั้งลำโพงในระบบฟรอนท์สเตจ ตำแหน่งติดตั้งลำโพงควรจะถูกต้อง นอกจากจะเป็นการกำหนดความสูง ความกว้างให้กับเวทีเสียงแล้ว การติดตั้งเพื่อฟังเสียงจริงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อให้ได้จุดลงตัวที่เหมาะสมที่สุด เพราะนั่นคือ ตำแหน่งที่ดีที่สุดสำหรับรถคันนั้น

เครดิต www.nutsound.com