เทคนิคใช้งาน ดูแลรักษารถคู่ใจ ให้พร้อมใช้

ไม่ว่าจะเป็นรถใหม่หรือรถเก่าต่างก็ต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ รถใหม่อาจเน้นไปที่การเข้าตรวจเช็คตามกำหนดระยะของทางผู้ผลิต พร้อมกับการดูแลรักษารถยนต์ทั่วๆ ไป เช่นสภาพของยางรถยนต์ สภาพตัวถัง ระบบการทำงานต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรถยนต์เก่าอาจต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากมีระยะเวลาในการใช้งานพร้อมชิ้นส่วนที่สึกหลอมากกว่า

ทั้งนี้ทางทีมงานจึงได้รวบรวมเทคนิคดีๆ มากมายในการใช้งานและดูแลรักษารถยนต์คู่ใจคันโปรด ให้พร้อมใช้งานได้ดีอยู่เสมอมาแบ่งปันกัน โดยสำหรับใครที่มีเทคนิคดีๆ ที่อยากแชร์ ก็สามารถแนะนำเข้ามาได้ที่กล่องคอมเม้นท์ด้านล่างสุดนี้

– หมั่นทำความสะอาดล้างรถอยู่เสมอ
การที่เราทำความสะอาดรถยนต์อยู่เสมอ นอกจากเป็นการทำให้รถยนต์ดูสะอาดและใหม่แล้ว ยังช่วยให้เรามีโอกาสในการสำรวจสภาพตัวรถโดยรวมได้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น

– เช็คลมยางเป็นประจำ
ยางรถยนต์ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ยึดเกาะถนนไว้ ดังนั้นการที่เราหมั่นดูแลเช็คลมยางให้เป็นไปตามข้อแนะนำอยู่เสมอ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ เพราะหากรถยนต์มีลมยางที่อ่อนเกินไปก็อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

– สำรวจกระจกว่ามีรอยร้าวหรือไม่
เพราะกระจกรถยนต์ที่มีรอยร้าวเพียงเล็กน้อย อาจลามเป็นบริเวณกว้าง และอาจส่งผลทำให้กระจกแตกได้ ซึ่งเมื่อพบกระจกร้าวควรรีบนำรถเข้าแก้ไข หรือเปลี่ยนกระจกทันทีที่ทำได้

– เช็คระบบไฟส่องสว่าง และไฟสัญญาณอยู่เสมอ
เพราะถ้าในกรณีที่ไฟส่องสว่างด้านหน้าเกิดเสีย และเรามีความจำเป็นที่จะต้องขับขี่รถในเวลากลางคืนก็จะถือเป็นความไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง หรือแม้แต่ไฟสัญญาณต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ไฟเลี้ยว หากเปิดแล้วไฟไม่ติดก็อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

– ถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะ
การถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะที่กำหนดถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยยืดอายุการทำงานของเครื่องยนต์ให้ยาวนานยิ่งขึ้น และอีกสิ่งสำคัญก็คือการหมั่นตรวจเช็คน้ำมันเครื่องด้วยตัวเองเป็นประจำ

– ลูกระนาดขับผ่านอย่างระมัดระวัง
หลายคนเมื่อเจอลูกระนาดอาจจะไม่ได้ชะลอความเร็วเพื่อขับผ่านไปอย่างช้าๆ การขับผ่านแบบไม่ชะลออาจส่งผลเสียต่อระบบช่วงล่างที่ต้องรับภาระมากกว่าปกติ และสุดท้ายอาจส่งผลทำให้ระบบช่วงล่างเสียก็เป็นได้ อีกทั้งพื้นที่ที่มีลูกระนาดอยู่นั้น ยิ่งต้องใช้ความเร็วต่ำในการขับขี่ ยกตัวอย่างเช่น ถนนในหมู่บ้าน หรือตามตรอกซอกซอยต่างๆ

– ขับรถลงทางลาดชันไม่ควรใช้เกียร์ว่าง
เพราะการที่เราใส่เกียร์ว่างขณะลงทางลาดชัน สิ่งที่ควรทำคือการใช้เกียร์ต่ำเพื่อให้เครื่องยนต์ช่วงดึงตัวรถและรักษาระดับความเร็วเอาไว้ และเพื่อเป็นลดการใช้งานเบรกได้อีกด้วย ซึ่งหากมีการใช้เบรกอย่างเดียวนานๆ อาจทำให้เบรกลื่นและไหม้ได้

– ใส่เบรกมือทุกครั้งก่อนเข้าเกียร์ P
เป็นอีกสิ่งที่ช่วยยืดอายุของระบบเกียร์ได้อีกวิธีหนึ่ง หลายๆ คนอาจเคยสังเกตว่าเมื่อเวลาเข้าเกียร์ P บนถนนที่ลาดชัน เมื่อเรามีการเปลี่ยนเกียร์ไปจากตำแหน่ง P จะได้ยินเสียงดังตึ้งเกิดขึ้นในระบบเกียร์ ซึ่งเกิดจากการขบกันของเฟืองในระบบเกียร์

– ยางอะไหล่ต้องพร้อมใช้งาน
เป้นอีกหนึ่งสิ่งที่ใครหลายคนมักละเลยเนื่องจากเราไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้งาน แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างเช่่นยางแตก ยางอะไหล๋ที่พร้อมใช้งานก็จะช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาไม่คาดคิดไปได้

– ไม่เปิดไฟฉุกเฉินวิ่งขณะที่ฝนกำลังตกหนัก
เป็นเรื่องที่หลายคนมักเข้าใจผิดถึงการเปิดไฟฉุกเฉินขณะวิ่งท่ามกลางฝนที่ตกหนัก เพราะจะทำให้ผู้ขับขี่คันอื่นเข้าใจผิดได้ สิ่งที่ควรทำก็คือการเปิดไฟหน้ารถ หรือการเปิดไฟตัดหมอกทั้งหน้าและหลังของรถนั้นเอง

– ไม่แซงรถขณะเส้นทึบ
การขับขี่บนถนนเลนสวนหลายๆ ครั้ง หรือช่วงทางโค้งที่เราไม่สามารถมองเห็นรถที่สวนมาได้อย่างถนัดจากระยะไกล เส้นบนถนนจึงถูกตีไว้เป็นเส้นทึบ เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่อย่าแซงรถคันหน้าที่บริเวณนี้เพื่อความปลอดภัย

– ไฟเตือนบนหน้าปัดอย่าละเลย
เพราะสัญลักษณ์ที่ขึ้นเตือนคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น หากพบสัญลักษณ์ยกตัวอย่างเช่นรูปเครื่องยนต์ ควรรีบนำรถเข้าตรวจเช็คและแก้ไขทันที

– ใบปัดน้ำฝน และหม้อพักน้ำฉีดกระจกต้องพร้อมใช้งาน
เพราะไม่ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูใด การขับขี่รถยนต์มีโอกาสที่จะได้ใช้งานเจ้าใบปัดน้ำฝน และการฉีดน้ำล้างกระจกได้เสมอ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่ได้เหมือนเดิม

– หมั่นเช็คระบบเบรกอยู่เสมอ
ระบบเบรกเป็นอีกหนึ่งระบบที่สำคัญยิ่งเพราะช่วยในการชะลอและหยุดรถ หากพบว่าว่าระบบเบรกมีเสียง หรือมีอาการเบรกไม่อยู่ หรือมีความผิดปกติไปจากเดิม ควรรีบนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คให้เร็วที่สุด

– ขับรถออกตัวไม่ต้องรีบ
การขับรถช่วงการออกตัวแบบค่อยๆ นอกจากเรื่องความประหยัดน้ำมันได้แล้ว ยังช่วยถนอมระบบเกียร์ได้อีกด้วยโดยเฉพาะระบบเกียร์ในปัจจุบันที่นิยมใช้ระบบเกียร์แบบอัตโนมัติ CVT ทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยจากสิ่งไม่คาดคิดได้อีกด้วย

– เมื่อรู้สึกง่วงอย่าฝืน
เมื่อรู้สึกง่วงในขณะขับขี่ควรรีบจอดรถแวะพัก ยืดเส้นยืดสายทันที เพราะหากเราฝืนขับต่อไปทั้งๆ ที่มีอาการง่วง อาจก่อให้เกิดอาการหลับใน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้

เครดิต www.autodeft.com