Takata อาจยังมีความเสี่ยงในระยะยาว

วิกฤตถุงลมทาคาตะไม่ได้ทำให้บริษัทซัพพลายเออร์รายนี้ถึงกับล้มละลายเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกเพียบโดยเฉพาะการเรียกคืนหลายสิบล้านคัน แถมล่าสุดมีรายงานว่าการแก้ไขอาจไม่ได้ผลอย่างที่คิด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างความเห็นของที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมยานยนต์และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดพบว่า โซลูชั่นส์ของทาคาตะที่ใช้วิธีการเพิ่มสารทำให้แห้ง (drying agent) ไว้ในถุงลมเพื่อป้องกันไม่ให้ถุงลมระเบิดอย่างไม่ตั้งใจนั้นอาจไม่ได้ผลในระยะยาว

รายงานข่าวของรอยเตอร์ได้รับการเผยแพร่หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อน หน่วยงานความปลอดภัยบนถนนหลวงของสหรัฐอเมริกาทำการทดสอบแล้วพบว่า ตัวพองลมชุดใหม่ที่ถูกเปลี่ยนไว้ในถุงลมนิรภัยกว่า 2.7 ล้านชิ้นยังมีข้อบกพร่องในการทำงาน เนื่องจากสารทำให้แห้งอาจไม่สามารถ “รับมือ” กับความชื้นที่ทำให้แอมโมเนียมไนเตรทมีปฏิกิริยาจนส่งผลให้ถุงลมระเบิดออกอย่างรุนแรง

ทาคาตะมีเวลาจนถึงช่วงสิ้นปี 2019 ที่จะพิสูจน์ว่าตัวพองลมชุดใหม่มีความปลอดภัย แต่ถ้าหน่วยรัฐบาลเห็นว่าไม่ปลอดภัย ก็อาจจะต้องมีการเรียกคืนอีกราว 100 ล้านชิ้น

ทั้งนี้ ตัวพองลมชุดใหม่ใช้สารแคลเซียมซัลเฟต หรือซีโอไลท์ให้เป็นสารทำให้แห้ง ซึ่งโฆษกของทาคาตะระบุว่า “เรายังต้องพิสูจน์ถึงความปลอดภัยของโซลูชั่นส์นี้ แต่เราเชื่อว่าการใช้ซีโอไลท์มีความปลอดภัยกว่าแคลเซี่ยมซัลเฟต”

สำหรับวิกฤตถุงลมนิรภัยของทาคาตะนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 17 รายทั่วโลก และบาดเจ็บอีกนับร้อยราย

เครดิต www.autospinn.com