รถ “คลัทช์เสีย” มีอาการแบบไหน?

รถ “คลัทช์เสีย” ถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร นอกจากคลัทช์จะทำให้รถไม่สามารถขับต่อไปได้แล้ว ยังอาจทำให้ระบบเกียร์พังไปด้วย ก่อนคลัทช์พังคุณสามารถจับอาการได้ว่า การเหยียบแต่ละครั้งจะไม่เหมือนเดิม การตรวจเช็คคลัทช์นั้นไม่ยาก และสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่คุณต้องจับความรู้สึกให้ได้

ระบบ “คลัทช์” มีอะไรบ้าง

  • ฟลายวีล (Fly wheel) การทำงานหมุนไปตามเพลาข้อเหวี่ยง และสัมผัสกับแผ่นคลัทช์ มีหน้าที่รับการกดหนีบปล่อยจับของผ้าคลัทช์
  • แผ่นคลัทช์ (Clutch disc) มีลักษณะเป็นวงกลม ทำมาจากวัสดุที่เป็นใยหิน และสารสังเคราะห์ คุณสมบัติเหนียว และทนทานต่อการเสียดทาน
  • แผ่นกดคลัทช์ (Clutch Pressure Plate) หรือที่เรียกกันว่า หวีคลัทช์ จะประกบยึดอยู่กับฝาครอบคลัทช์ ซึ่งจะทำงานเมื่อผู้ขับขี่ออกแรงเหยียบแป้นคลัทช์ โดยแรงเหยียบจะถูกถ่ายทอดออกไปสู่กระเดื่องกดแบริ่ง จากนั้นจะส่งแรงไปยังชุดกดแบริ่งที่ติดอยู่บนแกนเพลาคลัทช์ตรงศูนย์กลางของ แผ่นสปริงไดอะเฟรม

สัญญาณเตือนและวิธีแก้ “คลัทช์เสีย”

  • คลัทช์ลื่น ส่วนมากเกิดจากคลัทช์ใกล้หมด หรือผ้าคลัทช์เปื้อนน้ำมัน สาเหตุเกิดจาก น้ำมันเกียร์รั่ว หรือจารบีที่ทาแกนเพลาเกียร์ 4 มากเกินความจำเป็น เมื่อเกิดการหมุนจารบีจึงถูกเหวี่ยงไปถูกผ้าคลัทช์ อาจเกิดจากช่างที่ไม่มีความชำนาญตั้งคลัทช์ใหม่จนเกิดอาการดังกล่าว
  • คลัทช์สั่น อาการจะเป็นในขณะเข้าเกียร์ 1 หรือเกียร์ถอยหลัง เมื่อเข้าเกียร์ปล่อยคลัทช์เครื่องจะสั่นเขย่า ซึ่งเกิดจากการจับผ้าคลัทช์ได้ไม่เต็มหน้า ทำให้เกิดอาการคลัทช์สั่น แก้ไขโดยการเปลี่ยนผ้าคลัทช์ เจียรหน้าฟลายวิล หรือเปลี่ยนหวีคลัทช์
  • คลัทช์แตก เกิดจากการขับขี่ที่รุนแรง ทำให้รถเข้าเกียร์ไม่ได้ในทันที ต้องเปลี่ยนผ้าคลัทช์ใหม่แทนชุดเดิม
  • คลัทช์รั่ว เกิดจากน้ำมันลูกยางเกิดการรั่วซึม หรือสายอ่อนคลัทช์แตก จนไม่มีแรงดันน้ำมันไปกดชุดคลัทช์ วิธีแก้ไขหารอยรั่วเพื่อซ่อมแซม หรือเปลี่ยนชื้นส่วนนั้นทันที

สำหรับรถใครที่มีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว จะเปลี่ยนคลัทช์ใหม่ก็ขอให้เลือกวัสดุแบบเดิมที่เป็น (ใยสังเคราะห์) หรือจะอัพเกรดเป็นแบบ (ใยสังเคราะห์ผสมเนื้อทองแดง) ก็ได้ครับ ส่วนจะเป็นยี่ห้ออะไรนั้นลองสอบถามอู่ดูครับ เพราะมีให้เลือกเยอะเหลือเกินตามงบประมาณในกระเป๋าคุณได้เลย

เครดิต www.sanook.com