สิงห์มอเตอร์ไซค์ต้องระวัง! 5 ข้อหา

หลังจากกรุงเทพมหานครเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันสอดส่องผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 โดยผู้ที่แจ้งเบาะแสผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโทรศัพท์สายด่วนสำนักเทศกิจ, แอพพลิเคชั่นไลน์, อีเมล และไปรษณีย์ จะได้รับรางวัลนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับด้วยนั้น

ปรากฏว่า หนึ่งในข้อหายอดนิยมที่มีการแจ้งเหตุเข้ามา คือ “การขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า” ซึ่งพบเห็นได้บ่อยในชั่วโมงเร่งด่วน โดยเฉพาะถนนสายหลัก เช่น ถนนพหลโยธิน ถนนสุขุมวิท ถนนสาทร หน้าสถานศึกษา และบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ

แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะข้อหายอดนิยมจากการทำผิดกฎจราจรที่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกจับบ่อยๆ นั้น มักหนีไม่พ้น 5 ข้อนี้

    1.ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย

    ถือเป็นข้อหาที่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ถูกเรียกจับมากที่สุดก็ว่าได้ โดยมักถูกแจ้งว่ากระทำผิดตามมาตรา 33 ที่ระบุให้ผู้ขับขี่ต้องขับรถในทางเดินรถด้านซ้าย และต้องไม่ล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถ ซึ่งอัตราโทษปรับอยู่ที่ 400-1000 บาท เว้นแต่กรณีที่ด้านซ้ายของทางเดินรถมีสิ่งกดขวางหรือถูกปิดการจราจร, ทางเดินรถนั้นเจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้ เป็นทางเดินรถทางเดียว และทางเดินรถนั้นกว้างไม่ถึง 6 เมตร

    2.ไม่สวมหมวกกันน็อค

    กรณีนี้พบได้บ่อยสำหรับผู้ที่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งตามมาตรา 122 กำหนดไว้ว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้โดยสารต้องสวมหมวกนิรภัยเพื่อป้องกันอันตรายขณะขับขี่ หากผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500บาท แต่ในกรณีที่มีผู้โดยสารนั่งซ้อนท้ายและไม่สวมหมวกนิรภัยจะมีโทษปรับเป็น 2 เท่า แต่ปรับได้ไม่เกิน 1,000บาท) ยกเว้นผู้ขับขี่หรือโดยสารเป็นพระภิกษุ สามเณร และผู้นับถือศาสนาอื่นๆที่ต้องใช้ผ้าโพกศีรษะ

    3.ไม่ติดป้ายทะเบียนรถ

    บ่อยครั้งที่พวกรถซิ่งหรือเด็กแว้นมักจะเลี่ยงไม่ติดป้ายทะเบียนรถ ซึ่งตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 11 ระบุไว้ชัดเจนว่า รถที่จดทะเบียนแล้วต้องมีและแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 60 ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

    4.ปรับแต่งท่อไอเสีย

    การปรับแต่งท่อไอเสียไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้เป็นรายการในคู่มือจดทะเบียนรถ นอกเสียจากจะมีเสียงดังเกิน 95 เดซิเบล ซึ่งตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ไว้ว่า ระดับเสียงขณะที่เดินเครื่องยนต์อยู่กับที่โดยไม่รวมเสียงแตรสัญญาณ ต้องมีระดับเสียงไม่เกิน 95 เดซิเบล เมื่อตรวจวัดระดับเสียงในระยะห่างจากรถจักรยานยนต์ 0.5 เมตร

    5.จอดรถบนทางเท้า

    นอกจากการขับขี่บนทางเท้าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนเดินถนนแล้ว ก็มีมอเตอร์ไซค์จำนวนไม่น้อยที่มักอาศัยทางเท้าเป็นที่จอดรถ ซึ่งตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 17 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจอดรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคารหรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอดหรือขับขี่ได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีบทกำหนดโทษอยู่ในมาตรา 56 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

เครดิต www.sanook.com