Tokyo Motor show ย้อนดูงานโชว์รถครั้งประวัติศาสตร์

Tokyo Motor Show ชื่องานแสดงรถที่ต้องเคยผ่านหูคนบ้ารถอย่างเราๆ มาไม่น้อย เพราะมีดีกรีระดับติด Top 3 ของโลก แต่ไม่ใช่เพราะเป็นงานที่จัดในประเทศที่มีผู้ผลิตรถยักษ์ใหญ่เท่านั้น แต่งานนี้เริ่มจากวิสัยทัศน์ที่ดี ความตั้งใจในการจัดงาน รวมความเป็นชาตินิยมที่ไม่มีชาติใดเหมือน แต่ใครจะรู้ว่าที่มาของความตั้งใจนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร บอกเลยว่างานนี้ไม่เหมือนใครจริงๆ ไปชมกันครับ

Tokyo Motor Show เกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงเพียง 7 ปีให้หลัง โดยในปี 1954 สภาพสังคมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็กำลังพัฒนา เพราะเป็นประเทศแพ้สงคราม เสียทั้งเงินและบุคคลากร ไม่ใช่ประเทศที่ยิ่งใหญ่น่าจดจำใดๆ ในตอนนั้น ผู้คนชนชั้นกลางไม่มีตังค์ที่จะซื้อรถส่วนตัวด้วยซ้ำไป

ด้วยความตั้งใจพัฒนาประเทศ จึงเกิดหลายบริษัทรถยนต์บูมขึ้นมาหลังสงครามโลก จึงมีนายคนหนึ่งชื่อ Yutaka Katayama วิศวกรคนวงในแห่งโลกรถยนต์ญี่ปุ่น เห็นความสำคัญว่ามันควรจะเป็นแขนขาในการพัฒนาประเทศ แม้จะเคยมีงานโชว์รถในปีก่อนๆ แต่สเกลงานขี้ปะติ๋วเด็กน้อยมากๆ เขาจึงรวบผู้ผลิตหลายกลุ่มสุมหัวคุยกัน เกิดเป็นงานรวมพลรถญี่ปุ่นในปี 1954 ดังกล่าว จัดในสวนสาธารณะใจกลางเมืองโตเกียว โดยนาย Katayama ยังลงมือออกแบบโลโก้คนเข็นล้อเกวียน เพื่อสื่อถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนารถยนต์ครั้งประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

เพราะความร่วมมือร่วมใจกันของทุกค่ายรถญี่ปุ่นขณะนั้น ทำให้มีรถเก๋งเข้ามาโชว์ถึง 17 คัน พร้อมด้วยรถกระบะ บรรทุก รถโดยสาร ฯลฯ รวมเป็น 260 กว่าคัน อัดแน่นด้วยผู้ผลิตมากกว่า 240 บริษัท ซึ่งนับว่าเยอะมากๆ โดยตั้งใจเพื่อจะโชว์เทคโนโลยีของญี่ปุ่นอันน่าภูมิใจ แม้ผู้คนจะไม่มีตังค์ซื้อรถยนต์ โดยรถยนต์ที่ถูกที่สุดขณะนั้น Subaru 360 จะมีราคาถึง 425,000 เยน ใขณะที่เงินเดือนพนักงานจบใหม่แค่ 13,000 เยนเท่านั้น แต่มันก็ได้จุดประกายให้ทั้งคนบ้ารถ และคนทั่วไป หันมาสนใจและให้ความสำคัญกับวัตถุติดล้อคันใหญ่นี้ ยืนยันได้จากจำนวนคนเข้างานที่สูงทะลุ 5 แสนคน ภายใน 10 วัน ที่จัดงาน ลองคิดดูสิว่า แทบไม่มีงานไหนในยุคนั้นที่รวมคนเข้ามากว่า 5 แสน ในที่เดียวกันแบบนี้ได้อีกแล้ว

ในงานนั้นมีดาวเด่นคือ Toyopet Crown รถหรูรุ่นใหญ่ มีจุดเด่นที่ประตูตู้กับข้าว โชว์ความสามารถในการพัฒนารถยนต์ญี่ปุ่นที่ทัดเทียมฝรั่ง สร้างความเป็นชาตินิยมไปอีก โดยไม่แคร์ว่าคนที่เข้ามาลองนั่งในรถ จะมีปัญญาซื้อหรือไม่ แค่ได้ให้ประชาชนทั่วไปใกล้ชิดและเข้าถึงในสิ่งที่พวกเขาเอื้อมไม่ถึง ใครจะไปรู้ว่า พวกหนุ่มสาวอีก 10 ปีข้างหน้า บางคนอาจจะได้สนใจรถยนต์จริงจังก็เป็นได้ เพราะก็ในอีก 10 กว่าปีต่อมา นาย Katayama ก็ได้ออกแบบรถสปอร์ต Fairlady Z รุ่นแจ้งเกิดให้กับนิสสัน เป็นขวัญใจวัยรุ่นแห่งยุค

หลังจากนั้นในปีต่อๆ มา Tokyo Motor Show ก็ยังจัดอย่างต่อเนื่องไม่มีเว้น สร้างกระแสวัฒนธรรมรถยนต์เข้าสู่สังคมหลัก กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คนทั่วไป โดยไม่ว่างานจัดใหญ่ขึ้นแค่ไหน และเปลี่ยนจากกลางแจ้งมาเป็นอาคารในร่มสะดวกสบายเพียงใด ก็ยังคงยึดหลักการจัดงานเน้นโชว์เทคโนโลยีรถยนต์ญี่ปุ่นตามอย่างความตั้งใจของนาย Katayama ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้ Tokyo Motor Show จัดอย่างต่อเนื่อง ในทุกๆ 2 ปี

เครดิต www.boxzaracing.com