ไขข้อข้องใจรถยนต์ SUV, Crossover, PPV และ MPV แตกต่างกันอย่างไร?

รถยนต์ประเภท SUV, PPV แล MPV แตกต่างกันอย่างไร? เป็นคำถามที่หลายคนคงสงสัย เพราะเดี๋ยวนี้มีคำเรียกประเภทรถต่างๆ มากมาย ถ้ามองในภาพรวมก็ล้วนแล้วแต่เป็นรถที่ให้ความคุ้มค่าทั้งประโยชน์ใช้สอย รองรับสมาชิคครอบครัวได้หลากหลายคน แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มีจุดที่แตกต่างกันระหว่างรถยนต์ทั้ง 3 ประเภทนี้ค่อนข้างชัดเจน

รถยนต์อเนกประสงค์หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการโดยทั่วไปว่า SUV หรือ MPV นั้นนับเป็นรถยนต์ประเภทที่ให้อรรถประโยชน์ที่หลากหลายรูปแบบ เช่น ขนาดตัวรถยาวลักษณะคล้ายรถเก๋งกึ่งแวนท้ายตัดหรือ 5 ประตู ภายในโปร่งกว้างขวาง ปรับเปลี่ยนรูปแบบของเบาะนั่งตอนหลังได้หลากหลาย ส่วน SUV ก็มักจะยกสูงรถลักษณะท้ายตัดหรือ 5 ประตูและสมบุกสมบัน เป็นต้น สำหรับรถประเภท PPV ก็มีความใกล้เคียงกับรถ SUV อีกเช่นกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ควรเรียกรถรุ่นไหนว่า “SUV” หรือ “PPV” แล้วรถแบบได้บ้างที่เรียกว่า “MPV” มาหาคำตอบกันเลยครับ

SUV (Sport Utility Vehicle) – รถอเนกประสงค์แบบสปอร์ตยกสูง

SUV (Sport Utility Vehicle) – Sport = สมรรถนะสูง(แบบรถสปอร์ต), Utility = สารพัดประโยชน์, Vehicle = พาหนะ หมายความว่ารถอเนกประสงค์สารพัดประโยชน์ที่มีสมรรถนะสูง เช่น Porsche Cayanne, Volvo XC90 และ Mercedes-benz GLE เป็นต้น รวมถึงรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น เช่น Nissan X-Trail, Honda CR-V, Toyota Land cruiser, Nissan patrol เป็นต้น นอกจากนี้ยังเรียกรวมรถรุ่นต่างๆ ว่า SUV ดังนี้ Chevrolet Trailblazer, Toyota Fortuner, Mitsubishi Pajero Sport, Ford Everest และ Isuzu MU-X ซึ่งรถยนต์ประเภทนี้มักเน้นใช้งานในรูปแบบที่สมบุกสมบัน บุกป่าลุยโคลน และมักมีระบบขับเคลื่อนให้เลือกทั้ง 2 และ 4 ล้อ

Porsche cayanne

Honda CR-V

Mercedes-benz GLE

Mitsubishi Pajero Sport

Crossover – รถเก๋งแฮตช์แบ็ค 5 ประตูยกสูงพร้อมลุย

นอกจากนี้อาจแบ่งย่อยได้อีกเป็นประเภท Crossover ที่จัดอยู่ในรถยนต์นั่งที่ถูกปรับปรุงให้ยกสูงขึ้น สามารถขับขี่ผ่านอุปสรรคต่างๆ ดีกว่ารถเก๋งทั่วไปอีกนิดหน่อย เรียกว่า รถเก๋งที่ยกสูงขึ้นเพื่อเอาไว้ลุยในระดับหนึ่งก็ว่าได้ เช่น Mazda CX-3, Mercedes-Benz GLA, MG3 Xross และ Honda BR-V เป็นต้น

MG3 Xross

Honda BR-V

Mazda CX-3

PPV (Pick up Passenger Vehicle) – รถอเนกประสงค์พื้นฐานรถปิคอัพ ชื่อเฉพาะในไทย

PPV (Pick up Passenger Vehicle) จากการเรียกตามนิยามของกรมสรรพสามิตคือ รถอเนกประสงค์ที่มีการดัดแปลงมาจากรถปิคอัพหรือรถที่ใช้ chassis แบบเดียวกับรถปิคอัพเป็นหลักนั่นเอง

Chevrolet Trailblazer

สำหรับ PVV เรียกได้ว่าเป็นชื่อที่มีเฉพาะในไทยเท่านั้น เป็นการนำรถกระบะรุ่นที่มีทั้งขับเคลื่อน 2 ล้อและ 4 ล้อ หรือรุ่นยกสูง มาดัดแปลงกลายเป็นรถยนต์โดยสาร ซึ่งมีความแตกต่างจากรถยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อให้เป็นรถประเภทนี้โดยเฉพาะ และมีเพียงในประเทศไทยเท่านั้น โดยเกิดจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตให้สามารถจดทะเบียนรถดัดแปลงนี้เป็นแบบรถยนต์นั่งได้ และเรียกรถประเภทนี้ว่า “รถกระบะดัดแปลง” หรือ “PPV” (Pick-up Passenger Vehicle)

Toyota Fortuner

ความเป็นมาของรถยนต์ PPV ในอดีต ก่อนที่รถ PPV คันแรกจะกำเนิดออกมาคือ Toyota Sport Rider ช่วงปี 1997-1998 ประเทศไทยมีรถกระบะต่อเติมตัวถังขายรุ่นแรก โดยบริษัทรถยนต์ที่ชื่อ เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด Pajero (SJ) โดยใช้รถกระบะ Mitsubishi L200 เป็นพื้นฐาน ทั้ง Chassis, Transmission, Suspension, Engine และต่อเติมตัวถังเป็น Pajero

Pajero 1990
ภาพจาก www.pinterest.com

ปี 1993 ค่ายอีซูซุก็ผลิตรถกระบะดัดแปลง พร้อมจดทะเบียนแบบรถเก๋งได้นั่นคือรถ Isuzu Cameo นับเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับการผลิตรถกระบะเพื่อการพาณิชย์สู่การใช้งานทั่วไปมากยิ่งขึ้น

Isuzu Cameo
ภาพจาก phitsanulok.homecar4rent.com

จุดเริ่มต้นของคำว่า PPV คือปี 1998 กับการเปิดตัว Toyota Sport rider หลังประกาศสรรพสามิตไม่กี่เดือน โดยใช้พื้นฐานจากรถกระบะ Hilux Tiger ทำให้ผู้ผลิตอื่นๆ เริ่มทำ PPV สู่ตลาดด้วย เช่น Isuzu Vega, Mitsubishi G-Wagon (2001) และ Ford Everest (2003)

Toyota Sport rider
ภาพจาก huperoptikcorp.com

Mitsubishi G-wagon
ภาพจาก l200stradaclub.com

Ford Everest

MPV (Multi Purpose Vehicle) – รถแวน 5 ประตูอเนกประสงค์ 6 – 11 ที่นั่งความสูงใกล้เคียงรถเก๋ง

สำหรับรถยนต์ประเภท MPV (Multi Purpose Vehicle) เป็นรถยนต์ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องความจุของผู้โดยสารที่มากกว่าประเภท SUV บางรุ่น สามารถนั่งได้ถึง 11 ที่นั่งอย่างสบายๆ รถ MPV มักมีพื้นฐานคล้ายๆ รถแวนคือ ลำตัวยาว ท้ายตัด ฝากระโปรงท้ายเป็นแบบตัดตรงเหมือนรถตู้ และด้านหน้ารถมีส่วนยื่นออกไปมากกว่ารถตู้ ภายในมีความอเนกประสงค์ด้วยเบาะที่ปรับเปลี่ยนได้มากและมีพื้นที่กว้างขวาง หลังคาสูงโปร่งเพื่อรองรับผู้โดยสารได้อย่างดี

รถยนต์ MPV มีขนาดที่นั่งตั้งแต่ 6 ไปจนถึง 11 ที่นั่ง ขึ้นกับขนาดตัวรถ หากมีขนาดเล็กเรียกว่า Mini MPV ขนาดกลางๆ ใหญ่ขึ้นมากก็เรียกว่า Compact MPV หรือ MPV และขนาดใหญ่มากๆ เรียกว่า Large MPV หรือส่วนมากก็ใช้แค่ MPV เพราะรูปร่างเหมือนกัน และอีกสิ่งที่รถประเภท MPV ให้มากกว่ารถประเภท SUV นั่นคือ ความนุ่มนวลของระบบช่วงล่าง ซึ่งส่วนมากเป็นแบบอิสระทั้ง 4 ล้อ การทรงตัวที่ดีเนื่องจากส่วนใหญ่ความสูงของรถประเภทนี้ไม่มากนัก ความสูงเกือบเท่ารถเก๋งในบางรุ่น และนิยมใช้ประตูแบบสไลด์ ดังนั้น หากใครที่ชอบรถอเนกประสงค์ สมรรถนะการทรงตัวดี ให้ความนุ่มนวลก็ไม่ควรมองข้ามรถ MPV ตัวอย่างรถ MPV เช่น Toyota Wish/Alphard/Avanza/Innova/Sienta, Honda Stream/Odyssey/Mobilio, Suzuki Ertiga, KIA Grand carnival, Hyundai H1 และ Volkswagen Multivan เป็นต้น

Honda Mobilio

KIA Grand carnival

Suzuki Ertiga

Volkswagen Multivan

Toyota sienta

Toyota Alphard

สรุป SUV คือ ใช้เรียกรถอเนกประสงค์ ยกสูง ไม่ว่าจะใช้เครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลหรือไฮบริด รูปทรงแบบท้ายตัด 5 ประตู มีทั้งขับเคลื่อน 2 หรือ 4 ล้อ พื้นฐานจะเป็นรถเก๋งหรือรถปิคอัพก็ได้ ขอให้เข้าข่ายนี้จะเรียกรวมๆ ว่าเป็น SUV โดยเฉพาะต่างประเทศใช้เรียกรถประเภทนี้ว่า SUV มาตั้งแต่ดั้งเดิม

PPV จริงๆ คือ SUV ในคำเรียกที่ทั่วโลกเข้าใจกัน เรียกได้ว่า เป็นคำเรียกเฉพาะในประเทศไทย โดยเป็นคำนิยามที่มาจากรมสรรพสามิตที่ให้เรียกรถประเภท “กระบะดัดแปลง” ที่อยู่ในโครงการปรับโครงสร้างภาษีของกรมสรรพสามิตนั่นเอง นอกจากนี้ค่ายรถยนต์ชั้นนำต่างๆ ก็มักจะเรียกรถยนต์ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดัดแปลงจากปิคอัพรวมอยู่ในคำว่า “SUV” หากเรียกรถยนต์กระบะดัดแปลงว่า PPV ก็ดูไม่ผิดนัก หรือจะเรียก SUV ก็ได้เพราะมันคือรถประเภทเดียวกัน

MPV คือ รถยนต์ที่ให้ความนุ่มนวล อาจมีที่นั่งตั้งแต่ 6 – 11 ที่นั่ง รูปทรงคล้ายรถแวน ไม่สูงมากนัก ช่วงหน้ารถมักยาวและส่วนท้ายที่ตัดเหมือนรถ 5 ประตู และนิยมใช้ประตูด้านข้างแบบสไลด์

ความแตกต่างของรถยนต์ทั้ง 3 ประเภท อาจดูต่างกันเพียงแค่รูปทรงตัวถัง แต่ประโยชน์ในด้านการใช้งานนั้นอเนกประสงค์เหมือนกัน และส่วนใหญ่ SUV ที่เป็นรถกระบะดัดแปลง (PPV) มักนั่งสบายไม่เท่ากับ SUV ที่ผลิตบนพื้นฐานโมโนค็อก แต่ได้เปรียบตรงเครื่องยนต์ที่มักเป็นดีเซลเทอร์โบให้ความแรงและประหยัด แชสซีส์ที่ทนทาน แข็งแกร่ง และดูแลรักษาง่ายกว่า

เครดิต www.checkraka.com