อาการ ‘วาล์วยัน’ คืออะไรกันแน่?

วาล์วยัน อาการผิดปกติของเครื่องยนต์ ที่ส่วนใหญมักเกิดขึ้นกับรถที่ใช้แก๊สมากกว่ารถที่ใช้น้ำมันธรรมดา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้เป็นเพราะความร้อนในห้องเผาไหม้ที่สูงขึ้น จนทำให้เกิดการสึกหรอเร็วขึ้นนั่นเอง (อุณหภูมิการใช้น้ำมันปกติ 400 องศา แก๊ส LPG 600 องศา และ NGV 800 องศา)

สำหรับตัววาล์วนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ วาล์วไอดี และวาล์วไอเสีย โดยส่วนใหญ่ตัววาล์วมักจะทำจากโลหะ ลักษณะก้านวาล์วจะกลมเป็นทรงกระบอก และประจำการอยู่ในปลอกวาล์ว ซึ่งด้านบนจะถูกเจาะเป็นรูบนฝาสูบยาวไปจนถึงห้องเผาไหม้ นอกจากนี้ปลายของวาล์วทั้ง 2 ด้าน จะยึดติดกับเพลาลูกเบี้ยว หรือกระเดื่องวาล์ว ส่วนปลายอีกด้านจะสัมผัสกับบ่าวาล์ว ดังนั้นเมื่อวาล์วเปิดออกอากาศก็จะไหลเข้า-ไหลออกจากห้องเผาไหม้ได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่วาล์วปิดหน้าวาล์วก็จะคืนกลับเข้าที่ด้วยแรงของสปริง

อาการวาล์วยัน สามารถแบ่งออกได้หลายอาการ ดังนี้

    1. เครื่องยนต์ไม่มีกำลัง เร่งไม่ขึ้น เหยียบแล้วไม่ไปเหมือนเมื่อก่อน
    2. เครื่องยนต์สั่น เบา ดับ โดยเฉพาะตอนเช้า จะเห็นอาการได้ชัด เนื่องจากเครื่องยังเย็นอยู่
    3. เครื่องยนต์สั่น กระตุก รอบต่ำกว่าเดิม เมื่อเปิดแอร์ และยังทำให้เครื่องดับได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แถมแอร์ยังไม่ค่อยเย็นอีกด้วย
    4. วาล์วเริ่มส่งเสียงดัง เครื่องยนต์เบาดับง่ายกว่าเดิม เช่น เข้าเกียร์ก็ดับ ตีวงเลี้ยวก็ดับ ฯลฯ

วิธีแก้ไขอาการวาล์วยัน

    1. ปรับตั้งวาล์วใหม่ โดยตรวจเช็กทุกๆ 80,000 กิโลเมตร สำหรับรถใช้น้ำมัน ส่วนรถใช้แก๊สให้ตรวจเช็กทุกๆ 40,000 – 60,000 กิโลเมตร
    2. เจียบ่าวาล์ว หากปรับตั้งวาล์วใหม่แล้วยังกลับมาเป็นอาการเดิมอีก
    3. ตีบ่าวาล์วใหม่ โดยการนำวัสดุที่ทนความร้อนได้ดี และแข็งแรงกว่าใส่เข้าไปแทน
    4. เปลี่ยนฝาสูบใหม่ไปเลย แม้วิธีนี้จะใช้เงินมากสุด แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาได้ชัวร์ที่สุดเหมือนกัน

หากคุณจับสังเกตอาการวาล์วยันได้ตั้งแต่ที่มันเริ่มเป็นแรกๆ ให้รีบนำรถเข้าอู่ หรือศูนย์บริการทันที ดีกว่ารอให้วาล์วยันมากแล้วจึงค่อยนำไปซ่อม เพราะมันอาจจะปรับตั้ง หรือแก้ไขไม่ทันแล้วนั่นเอง

เครดิต www.sanook.com