ระบบต่างๆ ภายในรถยนต์

นอกจากภายนอกรถที่ทุกอย่างล้วนมีความสำคัญและสลับซับซ้อนไปด้วยเทคโนโลยีต่างๆที่แฝงอยู่แล้ว ระบบภายในรถยนต์เองก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งก็มีเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย แยกย่อยออกไปทั้ง ระบบพวงมาลัย ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ ฯลฯ เราขอนำเสนอบทความนี้กับท่านแบบง่ายๆ เน้นด้านความรู้ จะได้อ่านกันสบายๆ และเข้าใจง่าย
ระบบพวงมาลัยรถยนต์
หน้าที่หลักๆ ของพวงมาลัยคือ เป็นระบบที่ควบคุมทิศทางการขับขี่ ต้องไม่ลื่นเลี้ยว หรือส่ายไปมาด้านข้างในขณะที่ขับไปข้างหน้า และยังต้องทำให้แรงกระแทกระหว่างยางกับถนนส่งผ่านไปยังพวงมาลัยน้อยที่สุด ซึ่งระบบของพวงมาลัยที่สำคัญๆ มีดังนี้ พวงมาลัย, ขายึดแกนพวงมาลัย, แกนพวงมาลัย, หน้าแปลนพวงมาลัย, ยางข้อต่อ, กระปุกพวงมาลัย, แขนเกียร์พวงมาลัย, คันชักคันส่งกลาง, คันชักคันส่งข้าง และเขียนดึงกลับ
ส่วนประกอบหลักอีกอย่างหนึ่งคือ กระปุกพวงมาลัย พวงมาลัยรถยนต์ในปัจจุบันนั้นก็นิยมใช้กันในหลายแบบ อาทิ แบบแรค แอนด์ พีเนี่ยน (Rack and Pinion) ที่เป็นระบบการบังคับเลี้ยวชนิดหนึ่ง นิยมใช้ในรถปัจจุบัน เป็นแบบสะพานที่มีเฟือง กับเฟืองหมุน ขนาดกะทัดรัด ใช้เนื้อที่ในการติดตั้งในห้องเครื่องน้อย ให้การตอบสนองต่อการขับขี่ไวและต้นทุนที่ไม่แพง และแบบ บอลล์ แอนด์ นัท (Ball and Nut) ที่นิยมใช้ในรถกระบะ(บางรุ่น) รถบรรทุก และรถเมล์ จะมีชุดวาล์วควบคุมทิศทางน้ำมันไฮดรอลิค แบบโรตารี่ ควบคุมการทำงานด้วยแรงหมุนพวงมาลัยจากผู้ขับ ร่วมกับความฝืดของยางรถยนต์กับพื้นถนน โดยอาศัยการบิดตัวของ ทอร์ชันบาร์สปริง ซึ่งความทนทานของพวงมาลัยแบบ บอลล์ แอนด์ นัท จะมีมากกว่า
พวงมาลัยพาวเวอร์ ปัจจุบันก็มีด้วยกันสามแบบคือ แบบใช้น้ำมันอย่างเดียว หรือเรียกว่าแบบไฮดรอลิก  (Hydraulic Power Steering) ต่อมาก็เป็นแบบไฮดรอลิก ร่วมกับไฟฟ้า (Electro-Hydraulic Power Steering) พวงมาลัยที่รถรุ่นใหม่นิยมใช้กันนั่นก็คือ พวงมาลัยไฟฟ้า (EPS – Electric Power Steering) ที่ใช้ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียว ไม่มี น้ำมันพาวเวอร์ สายพาน ปั้มพาวเวอร์ที่คอยดึงกำลังจากเครื่อง มาช่วย แต่จะเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด เข้ามาช่วยในการเลี้ยว และหมุนพวงมาลัยให้สะดวกง่ายดายมากยิ่งขึ้น พวงมาลัยไฟฟ้าจะทำให้ประหยัดน้ำมันได้มากกว่า ลดภาระของเครื่องยนต์ และไม่ต้องบำรุงรักษาตามระยะด้วย แต่มีข้อเสียตรงที่ถ้ามีอาการชำรุด ค่าซ่อมค่อนข้างแพง
ระบบไฟฟ้าต่างๆ ภายในรถ
ระบบไฟฟ้านั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับรถยุคใหม่เลยก็ว่าได้ แค่น้ำเข้าไปในรถ ระบบไฟฟ้าในรถ ทั้งฟิวส์ รีเลย์ หรือสายไฟ ก็มีปัญหาทั้งนั้น บางทีแม้ว่าจะซ่อมแล้ว แต่ก็อาจจะมีวงจรต่างๆ เกิดอาการรวน หรือช็อตก็เป็นได้ ระบบไฟฟ้าในรถยนต์สามารถแยกตามลักษณะการใช้งานได้หลายระบบ อาทิ
  • ระบบประจุไฟ  เป็นระบบที่ใช้ประจุไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่ขณะที่เครื่องยนต์ทำงาน
  • ระบบไฟฟ้าเครื่องยนต์ เป็นระบบไฟฟ้าที่ใช้ในการทำงานของเครื่องยนต์ เช่น ระบบสตาร์ท ระบบจุดระเบิด  และระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
  • ระบบไฟแสงสว่าง เป็นระบบที่ให้แสงสว่างทั้งหมดของรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีระบบอื่นๆ อีกหลายอย่าง
  • ระบบไฟสัญญาณ เป็นระบบไฟที่ใช้เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ขับขี่รถคนอื่นได้ทราบ เช่น ไฟเลี้ยว, ไฟตัดหมอก, ไฟ Daytime, ไฟเบรก, ไฟถอยหลัง และไฟฉุกเฉิน เป็นต้น
  • ระบบไฟฟ้าในแผงหน้าปัด เป็นระบบไฟฟ้าเกี่ยวกับมาตรวัดต่างๆ บนแผงหน้าปัด เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ทราบข้อมูล เกี่ยวกับการทำงานของระบบต่างๆ ในรถยนต์ เช่น ไฟเลี้ยว, ไฟเตือนต่างๆ, ระบบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง  และระดับความร้อนของเครื่องยนต์ เป็นต้น
  • ระบบควบคุมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก  เป็นระบบไฟฟ้าที่ใช้ควบคุมอุปกรณ์เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ในรถยนต์  เช่น ระบบปรับอากาศ, วิทยุ, ฟังก์ชั่นบริเวณพวงมาลัย, กระจกไฟฟ้า, เบรกมือไฟฟ้า, ระบบปัดน้ำฝน และเซ็นทรัลล็อค เป็นต้น
บางทีการที่คุณซื้อรถใหม่มา แล้วไปติดอุปกรณ์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่งเพิ่มเติม รถของคุณอาจจะมีปัญหาได้ ดังนั้นควรจะปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญก่อนก็จะดี และก็อย่าลืมหมั่นตรวจดูระบบไฟฟ้าภายในรถ ในส่วนต่างๆ ก่อนที่จะควบรถคู่ใจของคุณไปไหนมาไหน ดูซิว่าขั้วแบตเตอรี่สะอาดสมบูรณ์หรือไม่ อุปกรณ์พวกปลั๊ก หรือรีเลย์ต่างๆ หลวม หรือมีสนิมเกาะหรือเปล่า มีสายไฟอะไรโผล่ออกมาตามใต้ท้องรถ หรือจุดต่างๆ หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยนะครับ
วกกลับมาที่ระบบไฟหน้า นอกจากหลอดไฟดั้งเดิมอย่าง แบบซีลบีม และหลอดฮาโลเจนแล้ว  ยังมีหลอดไฟที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันอย่างไฟหน้าแบบ “Xenon” (ซีนอน)
ระบบไฟซีนอน (Xenon) หรือ HID (High Indensity Discharge) ซึ่ง BMW เป็นบริษัทผู้ผลิตรถในยุโรป ได้คิดค้นหลอดไฟซีนอนเป็นเจ้าแรกเมื่อปี 1992 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเอามาติดรถบ้างในอีกไม่กี่ปี หลักการทำงานของไฟ Xenon ก็คล้ายๆ หลอดไฟนีออน อาศัยการอาร์กของขั้วไฟฟ้าภายในกระเปาะแก้วที่บรรจุสารต่างๆ 3 ชนิดคือ ปรอท เมททัลฮาไลด์ และก๊าซซีนอน ซึ่งการอาร์กจะต้องใช้แรงดันไฟฟ้าสูงประมาณ 20,000 โวลต์ จึงจำเป็นต้องมีชุดแปลงแรงดัน ไฟฟ้า และชุดควบคุม ในการรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าให้คงที่ ดังนั้นหลอดซีนอนจึงไม่สามารถที่จะนำไปเปลี่ยนแทนหลอด Halogen ได้ แต่ถ้าจะเปลี่ยนทั้งชุดก็สามารถทำได้ แต่ราคาสูงมาก
ในส่วนของระบบไฟไบ-ซีนอน (Bi-Xenon) คือ ไฟหน้าแบบไบ-ซีนอนทำงานบนพื้นฐานของไฟ Xenon ตามปกติ โดยจะใช้การสะท้อนของแสงคอยปรับการทำงานให้เป็นไฟสูงค้างไว้ จะมีชิ้นส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่เหมือนเป็น “ชัตเตอร์” เพื่อควบคุมการกระจายของแสงไฟ Xenon โดยชัตเตอร์จะขยับตัวขึ้น-ลงเพื่อให้แสงที่ออกมาเป็นไฟต่ำ และไฟสูงตามต้องการ ดังนั้น ในสภาพการใช้งานจริง ไฟหน้าแบบ Bi-Xenon นี้จึงนับว่าเป็นการนำข้อดีของไฟซีนอนมาใช้ให้เกิดประโยชน์การเปลี่ยนจากไฟต่ำเป็นไฟสูง และความสว่างที่กว้างและมากกว่าปกติ ในรถบางรุ่นจะเพิ่มระบบ AFS (Adaptive Front-lighting System) ที่ปรับมุมไฟตามการเลี้ยว และความเร็วของรถยนต์ ช่วยให้ทัศนวิสัยในเวลาขับรถตอนกลางคืนนั้นดีขึ้น
เท่าที่ผมเห็นรถที่ติดไฟหน้าแบบ Xenon อย่างจริงๆจังๆ ก็ประมาณตั้งแต่ช่วงปลาย ๆยุค 90 เป็นต้นมาที่เริ่มมีให้เห็นกันทั้งในรถญี่ปุ่นอย่าง โตโยต้า อริสโต้ (เลกซัส GS300) รวมไปถึงรถกระบะยอดฮิตในบ้านเราอย่าง อีซูซุ TFR โฉม “ดราก้อนอายส์” และรถยุโรปอย่าง เบนซ์ และ BMW ซึ่งนำพามายังกระแสนิยมที่รถนิยมไปติดไฟหน้าซีนอนกัน จนกรมการขนส่งทางบกออกมาบอกว่าติดได้ไม่ผิดกฏหมาย แต่จะ “ผิดกฏหมาย” หากลำแสงของไฟหน้านั้นจ้าเกินไป
ไฟหน้าแบบ Daytime
ระบบไฟ DRL (Daytime Running Light) หรือ Daylight เป็นไฟที่จะส่องสว่างระหว่างวัน เป็นอุปกรณ์มาตรฐานติดรถหลายๆ รุ่น และเป็นที่นิยมใช้ในรถยุโรปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยไฟจะติดทันทีที่สตาร์ทเครื่องยนต์ โดยส่วนมากจะเป็นไฟต่ำ หรือไฟตัดหมอก ลำแสงสีขาวเหมือนไฟ Xenon หากเป็นรุ่นใหม่ จะเป็นหลอด LED เรียงกันหลายๆ ดวง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ โดยการทำให้รถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ที่อยู่รอบๆ สามารถสังเกตเห็นรถยนต์ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยไฟ Daytime มีใช้งานกันอย่างแพร่หลาย และการทดลองแล้วว่าสามารถลดอุบัติเหตุได้จริง
ระบบปรับอากาศ
ในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในเขตอากาศร้อนชื้น ระบบปรับอากาศ ทำความเย็นในรถนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ระบบปรับอากาศของรถยนต์นั้นมีความแตกต่างกันไป คอมเพรสเซอร์แอร์ก็มีทั้งชุดที่มีคลัตช์ไฟฟ้า และไม่มีคลัตซ์ไฟฟ้าใช้ การทำงานของระบบปรับอากาศในรถยนต์ก็มีหลักการที่คล้ายคลึงกับแอร์บ้าน เมื่อคอมเพรสเซอร์ทำงาน ก็จะดูดน้ำยาแอร์ที่มีสภาพเป็นก๊าซเข้ามาอัด เพิ่มความดัน และอุณหภูมิให้สูงขึ้น จากนั้นส่งไปตามท่อทางเดินของคอมเพรสเซอร์ เข้าสู่แผงคอยล์ร้อน ที่ทำหน้าที่ระบายความร้อนของก๊าซออกไปตามครีบระบายความร้อน จนก๊าซแปรสภาพเป็นของเหลวที่มีความดันสูง ก่อนจะไหลออกจากคอยล์ร้อนผ่านท่อทางออกไปสู่ถังพักน้ำยาแอร์ เพื่อกรอง  สิ่งแปลกปลอม และดูดความชื้น แล้วไหลออกจากถังพักน้ำยาแอร์ ไปตามท่อเข้าสู่วาล์วปรับความดัน ซึ่งจะลดความดันของน้ำยาแอร์ลงมา ทำให้อุณหภูมิน้ำยาแอร์ต่ำลง เพื่อป้อนเข้าสู่คอยล์เย็น ที่จะทำการดูดความร้อนบริเวณรอบๆ ตัว ซึ่งพัดลม (Blower) จะทำหน้าที่ดูดอากาศในห้องโดยสารผ่านแผงคอยล์เย็น ก่อนจะออกสู่ช่องปรับอากาศ บริเวณคอนโซลหน้า ส่วนอากาศร้อนในห้องโดยสาร จะถูกดูดซับออกไปด้วยน้ำยาแอร์ ที่วนเวียนอยู่ตามท่อทางเดิน บริเวณแผงคอยล์เย็น จนแปรสภาพกลายเป็นก๊าซ ไหลออกจากคอยล์เย็นไปตามท่อ เข้าสู่คอมเพรสเซอร์อีกครั้ง เพื่อเริ่มต้นกระบวนการอัดความดันของน้ำยาแอร์ใหม่อีกรอบ วนเวียนไปเรื่อยๆ จนกว่าเทอร์โมสตัทจะตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ หรือปิดการทำงานไป
แต่ในรถยุคสมัยใหม่ ที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้า ระบบแอร์จะมีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากมาย ดังนั้น วิธีการใช้งาน การบำรุงรักษา ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นด้วยเช่นกัน ระบบปรับอากาศก็เหมือนกับของใช้อื่นๆ ที่ถูกใช้งานย่อมมีการสึกหรอ ความเสียหาย ความทรุดโทรม เป็นต้น การบำรุงรักษา การตรวจสอบ การซ่อมแซม ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น หากเจ้าของรถมีความเอาใจใส่ต่อระบบปรับอากาศ รักษาความสะอาดภายในรถยนต์ และหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น ลองสังเกตกันดูนะครับว่า
  • ปริมาณความเย็นที่ออกมาจากช่องแอร์เหมือนเดิมหรือไม่ จากการเปิดแอร์ความเย็นเท่าเดิม และแรงลมเท่าเดิม มีแต่ลมออกมาอย่างเดียวหรือเปล่า? หรือว่าตู้แอร์เป็นน้ำแข็ง เป็นต้น
  • เมื่อเครื่องยนต์เกิดความร้อนขึ้น (สังเกตจากมาตรวัดบริเวณหน้าปัด)  ถ้าการระบายความร้อนรังผึ้งหม้อน้ำ และแผงคอนแดนเซอร์แอร์ไม่ดี หรือน้ำยาแอร์รั่ว ก็ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวส่งผลกับระบบแอร์รถยนต์ได้
  • ระบบแอร์มีเสียงดังหรือไม่ การที่ระบบแอร์มีเสียงดัง อาจจะมีเศษอะไรต่างๆไปติดอยู่บริเวณพัดลมแอร์ เมื่อพบควรทำความสะอาดออกซะ เพราะอาจไปทำให้ระบบแอร์มีกลิ่น หรือมีปัญหาได้
วิธีดูแลให้แอร์เย็น และมีอายุการใช้งานยาวนาน ก็เพียงแค่ ไม่ปรับตำแหน่งของเทอร์โมสตรัทไปที่ Cool อยู่ตลอดเวลา เพราะจะช่วยถนอมคอมเพรสเซอร์ไม่ให้ทำงานหนัก ควรเลื่อนมาประมาณกลางๆ หรือตั้งอุณหภูมิไว้ที่ประมาณ 25 องศา (กรณีแอร์ดิจิตอล) หรือไม่เปิดกระจกเมื่อเปิดแอร์ และเมื่อจะจอดหรือดับเครื่องรถ ควรปิดการทำงานของคอมเพรสเซอร์แอร์ (กมปุ่ม A/C ออก) แต่ยังเปิดเป็นพัดลมอยู่ อย่างน้อยประมาณ 5 นาที ช่วยยืดอายุการใช้งานของอีแวปพอเรเตอร์ (Evaporator) ได้ โดยเฉพาะเวลากลางคืน หมั่นทำความสะอาดแผงคอยล์ร้อน ไม่ให้มีฝุ่นมาติด พร้อมกับควรล้างตู้แอร์ทุกๆ 1 ปี หรือ 20,000 กิโลเมตร (ล้างตู้แอร์ ก็มีทั้งแบบถอดคอนโซล และไม่ถอดคอนโซล แต่ล้างแบบไม่ถอดคอนโซล หลายๆคนไม่มั่นใจในเรื่องความสะอาด) และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันคอมเพรสเซอร์ด้วย หรือเปลี่ยนกรองแอร์ตามระยะ จะได้ยืดอายุการทำงานของแอร์ได้ดียิ่งขึ้น

ระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีของรถยนต์ล้ำหน้าไปมาก อุปกรณ์ฟังก์ชั่นบางอย่างหลายท่านอาจจะไม่คุ้นเคย วันนี้เราขอยกตัวอย่างอุปกรณ์ หรือฟังก์ชั่นส่วนหนึ่ง นอกเหนือไปจากเทคโนโลยีที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว อาทิ กระจกไฟฟ้า เซ็นทรัลล็อค กระจกมองข้างพับไฟฟ้า เบาะไฟฟ้า ฯลฯ มาให้ท่านผู้ชมได้อ่านไว้เป็นความรู้กันนะครับ

ระบบมาตรวัดอัจฉริยะ

ระบบมาตรวัดอัจฉริยะ ในปัจจุบันมีใช้กันส่วนใหญ่ในรถยนต์ตั้งแต่ ECO-CAR เลยทีเดียว มาตรวัดความเร็ว + รอบเครื่องจะเป็นแบบอนาล็อกหรือดิจิตอลก็ได้ แต่ส่วนที่แสดงค่าต่างๆจะเป็นแบบดิจิตอล นอกจากจะแสดงระยะทางการวิ่งแล้ว ยังแสดงถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ระยะทางที่น้ำมันในถังสามารถใช้วิ่งต่อไปได้ พร้อมทั้งการแจ้งเตือนการเข้าตรวจเช็ค และเปลี่ยนอะไหล่ อุณหภูมิภายนอกรถด้วย นอกจากนั้นในรถบางรุ่น ยังมีขึ้นข้อความต้อนรับสวัสดี อวยพรวันเกิด วันครบรอบแต่งงาน เตือนให้แวะพักข้างทางในกรณีที่ขับต่อเนื่องนานๆ และบอกลาเราในกรณีดับเครื่องอีก เรียกได้ว่ารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มีตกหล่น

ระบบ Voice Control (หรือ Voice Recognition)

หลายคนคงเคยได้ยินโฆษณารถที่มีติดตั้งระบบ Voice Control แล้วใช่มั้ยครับ? ระบบที่ว่านี้คือ ระบบบลูทูธ ที่ใช้การควบคุม “สั่งการ” ด้วยเสียง เมื่อเราขยับปุ่มตรงบริเวณคอนโซล หรือใกล้ๆ ก้านปัดน้ำฝน โดยปกติจะมีหน้าจอ LCD ขนาดใหญ่ ทำให้ใช้งานเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น MP3 วิทยุ/CD iPod และเครื่องปรับอากาศ ได้อย่างทุกความสะดวกสบาย ภายใต้การขับขี่ที่ปลอดภัย ไม่ต้องละสายตาไปกดนู่นเปลี่ยนนี่ เวลาขับรถเร็วๆ แต่ก็มีข้อเสียอยู่ที่ใช้งานลำบากน่อย ถ้าระบบฟังสำเนียงของคุณไม่ออก ขนาดฝรั่งเองยังใชังานลำบากเลย
ปุ่มกด Start
ปัจจุบันกลายเป็นของเล่นยอดฮิต ที่ติดมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถหลายๆรุ่น รวมไปถึงในรถที่ไม่มีปุ่มสตาร์ท ก็มีร้านภายนอกรับติดตั้งด้วยเช่นกัน ระบบการทำงานก็มีอยู่ว่า เมื่อคุณกดรีโมท หรือไขกุญแจที่ประตูรถแล้ว รถบางรุ่น อาจจะทำเป็นบานสำหรับบิด เมื่อรถยนต์ตรวจสอบว่ารีโมทหรือกุญแจรหัสตรงกันแล้ว ก็สามารถเหยียบเบรก และกดปุ่มสตาร์ทรถได้เลย (หากไม่เหยียบเบรก ก็จะสามารถใช้งานได้แค่เครื่องเสียงภายในรถ ระบบแอร์ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น) ในรถบางรุ่น กระจกมองข้างจะกางออกอัตโนมัติอีกต่างหาก เป็นอะไรที่สะดวกสบายมากๆ
ระบบ Navigator
ระบบนำทาง Navigator หรือ GPS (Global Positioning System) เริ่มเป็นที่รู้จักกันในรถยนต์ตั้งแต่ช่วงปลายๆยุค 80 ซึ่งในยุคนั้นเป็นเทคโนโลยีอะไรที่มันไฮเทค ล้ำหน้ามาก การที่รถของเรามีติดตั้งจอ TV ขนาด 7 นิ้วอยู่บริเวณคอนโซลกลาง (ไม่ใช่ TV ขาว-ดำ ของแฟมิลี่ที่สมัยยุค 90 นิยมมาวางไว้บนคอนโซลหน้ารถนะ) ในยุคนั้นระบบนำทางอาจจะมีลูกเล่นอะไรไม่มากนัก แต่ปัจจุบัน ระบบนำทางเรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว (ในปัจจุบันได้มีระบบสองทาง (Two-Way Communication) ที่สามารถโต้ตอบสอบถามข้อมูลจราจรแบบ Real-Time ระหว่างเดินทางได้ นอกจากนั้นยังเอาไว้ฟังเพลง AM/FM เปิด CD/DVD แล้ว ยังไว้ดู TV หรือเชื่อมต่อ Facebook ก็ได้ ต่อ iPod ฟังเพลงก็ดี และเป็นที่แสดงผลต่างที่อยากรู้ เช่น แผนที่ใช้ในการเดินทาง การสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ต้องการ ค้นหาสถานที่หน่วยงานต่างๆ ค้นหาร้านอาหาร เป็นระบบมัลติวิชั่น (Multi-Vision) รวมทั้งระบบสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงแค่คุณเสียบซิมการ์ดเข้าไป ก็สามารถเชื่อมต่อคุยโทรศัพท์ได้ทันที แถมเวลาถอยหลัง จอมอนิเตอร์นี้ยังทำหนังที่เป็นกล้องมองท้าย พร้อมเส้นกะระยะเวลาถอยรถได้อีกด้วย
ในต่างประเทศ ยังมีระบบที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ระบบ GPS นั่นคือ TMC (Traffic Message Channel) ที่ได้รับความนิยมใช้ในยุโรป และจีน รวมไปถึงระบบ VICS (Vehicle Information and Communication System) เป็นระบบที่ได้รับความนิยมใช้ในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2549 หน้าจอมีสีสัน ลูกเล่นแพรวพราว ภาพเสมือนจริง จนถึงปัจจุบัน ที่ในบ้านเรารถหลายๆ ยี่ห้อ ก็เริ่มนำเข้าระบบ GPS ภาพเสมือนจริงมาใช้กันแล้ว
ระบบ Head-Up Display
ระบบนี้เริ่มมาจากการพัฒนาของรถอเมริกันประมาณกลางๆ ยุค 80 ที่นำเทคโนโลยีจากเครื่องบินรบ มาใช้ในยานยนต์ จนมาเริ่มเป็นที่นิยมในปัจจุบันทั้งรถยุโรปและรถญี่ปุ่น ซึ่งเป็นระบบการรายงานข้อมูลต่างๆ เช่น ความเร็วของรถ ระดับน้ำมันรถ ที่ออกมาในรูปของมาตรวัดที่เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะคอยช่วยเตือนหรือแจ้งผู้ขับให้ทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะขับขี่รถ ไม่ต้องละสายตาจากท้องถนน เมื่อสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีการพัฒนาของระบบนี้มีเป็นลำดับด้วยการทำให้สามารถอ่านผลที่แจ้งออกมาได้อย่างชัดเจนและยังต้องทำให้อ่านได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยระบบการฉายภาพขึ้นไปปรากฏบนกระจกบังลมหน้าเรียกว่า “Hologram Head-Up Display” ประกอบด้วยเครื่องฉายภาพโฮโลแกรม รับสัญญาณจากอุปกรณ์วัดค่าต่างๆ มาแปลงเป็นสัญญาณภาพฉายขึ้นไปยังกระจกหน้ารถในตำแหน่งที่อยู่ในระดับสายตาของคนขับ ทำให้สามารถอ่านสภาพการรายงานผลต่างๆ ได้สะดวกเมื่อขับรถในความเร็วสูง
ระบบความปลอดภัย
ระบบความปลอดภัยทั้งภายนอกรถ และภายในรถ ก็ก้าวล้ำไปตามเทคโนโลยียุคสมัยนี้เช่นกัน ในแต่ละค่ายรถ ต่างก็คิดค้น พัฒนาระบบความปลอดภัยมาเพื่อปกป้อง และรักษาชีวิตผู้ใช้รถโดยเฉพาะ สำหรับระบบความปลอดภัยที่เคยกล่าวถึงไปแล้วในบางหัวข้อของบทความก่อนๆ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีแพร่หลายกันแล้ว ในส่วนนี้เราขอนำเสนอถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัย ที่เริ่มนำมาติดตั้งกันทั้งในรถเก๋ง และรถกระบะเพิ่มเติมครับ

1. ระบบถุงลมนิรภัย SRS (Supplemental Restraint System)

ระบบถุงลมนิรภัยภายในรถยนต์ ที่นิยมใช้กันภายในตัวรถ แบ่งออกเป็นหลักๆ ได้ดังนี้
1.1 ถุงลมด้านหน้า (Front Airbag) หากมีการชนอย่างรุนแรง เซ็นเซอร์จะจับได้ว่ามีแรงปะทะเกินค่าที่กำหนดถุงลมจะพองตัวภายในเวลา 0.015 – 0.030 วินาที ในการชนด้านหน้า เข็มขัดนิรภัยจะดึงร่างกายส่วนล่างและส่วนบน ส่วนถุงลมจะช่วยรองรับหน้าอกและศีรษะ
1.2 ถุงลมด้านข้าง (Side Airbag) จะมีเซ็นเซอร์ลักษณะเดียวกับด้านหน้า ติดตั้งอยู่ที่แผงประตู หรือที่เบาะนั่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิต
1.3 ม่านถุงลม (Curtain Airbag) หากเกิดการชนด้านข้างในระดับปานกลางถึงรุนแรง ถุงลมแบบม่านจะพองตัวลงมา พร้อมการดึงกลับของเข็มขัดนิรภัย
1.4 ถุงลมป้องกันเข่าและขา (Knee Airbag) จะซ่อนอยู่ใต้คอนโซลบริเวณหัวเข่าด้านคนขับ ใช้ตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับแรงกระแทกเดียวกับถุงลมนิรภัยด้านหน้า ถุงลมประเภทนี้จะช่วยป้องกันขา หัวเข่า เข้ากระแทกคอนโซลด้านล่างใต้พวงมาลัย รวมทั้งสะโพก และต้นเข่า
นอกจากนี้ ระบบถุงลมนิรภัยยังมีแยกออกเป็นแบบ i-SRS (Intelligent Supplemental Restraint System) เป็นระบบถุงลมนิรภัยคู่หน้าอัจฉริยะทำงาน 2 จังหวะ เพื่อลดความแรงจากการทำงานของถุงลมนิรภัย ขณะเกิดการชนในระดับความเร็วต่ำถึงปานกลาง

2. ระบบป้องกันการลื่นไถล TCS (Traction Control System) หรือ ETC (Electronic Traction Control)

ในรถที่ติดตั้ง TCS บางรุ่นบางยี่ห้อจะมีปุ่ม On-Off ให้กดใช้งานตามสถานการณ์ ระบบที่ว่านี้ควบคุมทั้งระบบเบรก และสั่งลดรอบของเครื่องยนต์โดยอัตโนมัติถ้าจำเป็น โดยการสั่งเบรกจับแต่ละล้ออย่างอิสระต่อกัน เพื่อแก้อาการเสียการทรงตัวของรถขณะเข้าโค้ง เมื่อนำมาใช้กับระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ เมื่อมีการหมุนฟรีที่ล้อใดล้อหนึ่ง จะมีแรงเบรกส่งมาลดรอบการหมุนของล้อนั้นทันที ทำให้แรงบิดถูกส่งไปยังล้ออื่นๆ ที่ไม่ได้หมุนฟรี และสำหรับระบบ TCS ยังนำไปสู่การต่อยอดของระบบ ESP (Electronic Stability Programs) อีกด้วย

3. ระบบ Brake Override System (BOS)

ระบบนี้เรียกได้ว่าเป็น “จุดขาย” ของรถหลายๆ รุ่น โดยเป็นระบบอัตโนมัติที่ตัดการทำงานของคันเร่ง ในกรณีที่แป้นเบรกและคันเร่งถูกเหยียบในเวลาเดียวกัน เพื่อป้องกันคันเร่งค้าง แล้วไม่สามารถควบคุมรถได้

4. ระบบเตือนการเบรกฉุกเฉิน ESS (Emergency Stop Signal) เมื่อมีการเบรกในขณะฉุกเฉินเมื่อใช้ความเร็วสูง สัญญาณไฟฉุกเฉินจะปรากฏขึ้น

5. ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติแบบปรับเปลี่ยนได้ Adaptive Cruise Control (ACC)

ระบบนี้เป็นที่นิยมในรถระดับหรูหลายๆ รุ่น ที่ออกแบบมาควบคู่กับระบบ Cruise Control ช่วยให้คนขับรักษาระยะปลอดภัยจากรถคันหน้าเมื่อขับรถที่ความเร็วเกิน 30 กม./ชม. ACC ช่วยให้ขับรถทางไกลหรือบนทางหลวงได้ดีขึ้น เพียงแค่เลือกความเร็วที่ต้องการและช่วงห่างเวลาไปถึงรถคันหน้า เมื่อเซ็นเซอร์เรดาร์ตรวจพบรถที่ขับช้าด้านหน้ารถคุณ ระบบจะปรับเปลี่ยนความเร็วตามรถคันหน้าโดยอัตโนมัติ และเมื่อถนนว่าง รถก็จะเร่งความเร็วกลับสู่ความเร็วที่ตั้งไว้ ในกรณีที่ไม่ได้เปิดระบบ ACC และมีรถคันหน้าเข้ามาใกล้เกินไป ไฟเตือนระยะห่างจะสว่างขึ้น

6. ระบบ WIL (Whiplash Injury Lessening) หรือระบบ NECK-PRO head restraints

ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ระบบป้องกันแรงกระแทกที่ศีรษะ สำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า ซึ่งจะเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติในเสี้ยววินาทีที่รถถูกชนจากด้านหลังอย่างรุนแรง กลไกสปริงจะสั่งการให้พนักพิงศีรษะเลื่อนตัวออกไปด้านหน้าและยกสูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อหนุนค้ำศีรษะและป้องกันไม่ให้กระดูกต้นคอได้รับบาดเจ็บจากแรงปะทะที่เกิดขึ้น

7. ระบบควบคุมการทรงตัวและยึดเกาะถนนแบบไดนามิก DSTC หรือ DSC (Drive Stability Control)

เมื่อล้อหนึ่งล้อใดเกิดการลื่นไถล ระบบจะสั่งการให้เบรกในแต่ละล้อทำงานอย่างเป็นอิสระ ช่วยรักษาการทรงตัวของรถในสภาพถนนที่ลื่น โดยการเปรียบเทียบการหมุนของล้อและเปลี่ยนแปลงกำลังตามสภาวะ นอกจากนี้ ระบบจะทำการเปรียบเทียบทิศทางของรถกับการเคลื่อนที่ของพวงมาลัย และระบบยังสามารถตัดกำลังเครื่องยนต์หรือเบรกแต่ละล้อเพื่อช่วยลดการลื่นไถล

8. ระบบควบคุมการทรงตัวเมื่อบรรทุก LAC (Load Adaptive Control)

เป็นระบบควบคุมการทรงตัวเมื่อบรรทุก ระบบจะทำการจับตำแหน่งและน้ำหนักของสัมภาระที่บรรทุก แล้วควบคุมการทำงานของระบบเบรก ABS, TCS และ DSC ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรก การป้องกันการลื่นไถล รวมถึงการป้องกันรถพลิกคว่ำ

9. ระบบช่วยการทรงตัวขณะลากจูง TSA (Trailer Sway Assist)

เมื่อรถลากจูงเริ่มส่ายออกด้านข้าง ระบบนี้จะทำการปรับความเร็วของล้อทั้งด้านซ้าย และด้านขวาเพื่อรักษาตำแหน่งของรถลากให้เหมาะสม

10. ระบบป้องกันรถพลิกคว่ำ RSC (Roll Stability Control)

ระบบนี้จะทำงานโดยการตรวจสอบพฤติกรรมของรถ และควบคุมแรงเบรกในแต่ละล้อเพื่อป้องกันรถพลิกคว่ำ

11. ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน HLA (Hill Launch Assist)

ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน ทำงานในจังหวะที่ผู้ขับขี่ถอนเท้าจากแป้นเบรกเพื่อไปเหยียบคันเร่ง ระบบจะทำการหยุดรถ 2 วินาที

12. ระบบควบคุมการขับขี่ทางลาดเอียง HDC (Hill Descent Control)

เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มแรงเบรกเพื่อรักษา ความเร็วที่ใช้อยู่ให้คงที่ จะนิยมใช้กันในรถกระบะ รถ SUV หรือรถที่ขับเคลื่อน 4 ล้อ

13. ระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง TPMS (Tyre Pressure Motoring system)

เป็นเทคโนโลยีการตรวจสอบแรงดันลมยาง ที่ใช้เซ็นเซอร์ในวาล์วลมยางแต่ละด้าน เมื่อรถวิ่งตั้งแต่ความเร็ว 30 กม./ชม. ขึ้นไป ระบบจะแจ้งเตือน ถ้าแรงดันลมยางด้านใดด้านหนึ่งต่ำเกินไป

เครดิต www.checkraka.com