ทางเอก-ทางโท รู้เป็น แยกได้ในเสี้ยววิ!
ทางเอก และทางโท เป็นหนึ่งในศัพท์ทางกฎหมายที่บัญัติไว้ใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ทางร่วมแยก” แต่สามารถสร้างความสับสนได้ในชั่วขณะ โดยเฉพาะเมื่อเกิดประสบอุบัติเหตุรถชนกันในทางร่วมทางแยกต่างๆ เวลาที่เจรจากับตำรวจหรือประกันอาจจะทำให้หลายๆ คนมองข้ามด้วยอารมณ์ชั่ววูบ และอาจจะส่งผลเป็นฝ่ายผิดได้โดยไม่รู้ตัว การแยกความแตกต่างระหว่าง ทางเอก และทางโท นั้นง่ายและเข้าใจได้ในเสี้ยววินาที ซึ่งหากทำความรู้จักเป็นก็จะสามารถเจรจาทางตำรวจ ประกันภัย และคู่กรณีได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องใช้อารมณ์ รวมไปถึงการตัดสินเลือกทำเลที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานได้ง่าย
โดยคำว่า “เอก” และ “โท” เป็นคำไทยที่ใช้ในการเรียกลำดับ แทนคำศัพท์ของ “หลัก” และ “รอง” เมื่อรวมกับทางเอก-ทางโท หมายถึง “ทางหลัก” และ “ทางรอง” ซึ่งการทำความเข้าใจระหว่างทางเอกและทางโท เปรียบเสมือนกับการเรียงจากใหญ่-เล็ก ตามรูปแบบของเส้นทาง และสภาพชุมชนโดยรอบ
ทางเอก จะเป็นถนนเส้นใหญ่สุด รถสามารถวิ่งสัญจรไปกลับได้ด้วยจำนวนช่องเดินรถที่มากกว่า มีสัญลักษณ์จราจรที่ชัดเจน
ทางโท จะเป็นเส้นที่ตัดแยกจากทางเอก ซึ่งจะมีขนาดช่องจราจรที่เล็กกว่า หรือมีช่องเดินรถที่ไม่ชัดเจน เช่น ซอยที่ตัดกับถนนหลัก หรือแม้แต่ลานจอดรถที่มีทางเชื่อมกับถนนหลักในบ้าน หรือถนนใหญ่ นอกจากนี้การสังเกตทางโทดูได้จากเส้นหยุดหรือป้ายหยุดก่อนจะเข้าทางแยกที่ตัดกับถนนอีกเส้น ไม่ว่าจะเป็นถนนขนาดใดก็ตาม
“หากคุณอยู่บนท้องถนนแล้วเห็นทางแยกที่มีขนาดใหญ่กว่า ด้านหน้าคุณคือทางเอก และจุดที่ยืนอยู่คือทางโท กลับกัน หากคุณอยู่เส้นทางใหญ่ แต่เห็นเส้นทางที่เล็กกว่า จุดที่ยืนอยู่คือทางเอก และทางที่เห็นว่าเล็กกว่าคือทางโท”
ในด้านกฎหมายนั้น ผู้ขับขี่จะให้ความสำคัญกับทางเอกเป็นหลัก ทางเอกมีสิทธิ์ขับผ่านไปก่อน หากรถยนต์ 2 คันมาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกัน และไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปให้เรียบร้อยก่อน
ในกรณีที่รถชนกัน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือประกันภัยก็จะให้ความสำคัญกับรูปแบบการชน และตำแหน่งที่รถทั้งสองคันชนก่อน หากเป็นการชนตัดจุดแยก ก็จะให้ความสำคัญกับทางเอก ซึ่งผู้ขับขี่ที่ออกจากทางโทจะมีโอกาสเป็นฝ่ายผิดสูงกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ มาสนับสนุนด้วย
ดังนั้นการแยกทางเอก-ทางโทนั้น จำให้ขึ้นใจว่า ทางเอก ใหญ่กว่าทางโท ทางเอกมีสิทธิ์มากกว่าทางโท ซึ่งจะช่วยการขับขี่บนท้องถนนมีวินัยยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมสติ เพื่อเจรจาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือประกันได้อย่างมั่นใจเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ลดเหตุการณ์บานปลายได้มากขึ้น ทั้งนี้ผู้ขับขี่สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ตั้งแต่มาตรา 71 ถึงมาตรา 74
เครดิต www.mthai.com