ทางหลวงประเทศอื่น ขับเร็วได้แค่ไหน?

เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรสำหรับแนวคิดของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เตรียมผุดหลากหลายนโยบายสำหรับคนใช้รถใช้ถนน หนึ่งในนั้นคือแนวคิดให้รถยนต์ทำความเร็ว 120 กม./ชม. บนทางหลวงที่มี 4 เลนขึ้นไป จากเดิมขับได้ไม่เกิน 90 กิโลเมตร

เป้าหมายสำคัญคือการแก้ปัญหารถติดบนทางหลวง 4 สายหลักของไทย เริ่มจาก ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนเพชรเกษม และถนนมิตรภาพ อย่างไรก็ดียังเป็นเครื่องหมายคำถามว่าแนวคิดนี้จะนำมาซึ่งความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นหรือไม่ และทางหลวงในประเทศอื่นๆ ใช้ความเร็วเท่าใดกันบ้าง

“ออโต้บาห์น” ต้นแบบถนนความเร็วสูง

หนึ่งในถนนต้นแบบของแนวคิดดังกล่าว หนีไม่พ้น “ออโต้บาห์น” ทางหลวงระหว่างเมืองในประเทศเยอรมนี ที่กำหนดความเร็วขั้นต่ำของรถที่บนเส้นทางดังกล่าวไว้ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยที่ไม่มีการกำหนดความเร็วสูงสุดหรือ “สปีด ลิมิต” แต่อย่างใด ทว่าความเร็วเฉลี่ยที่ทางการแนะนำอยู่ที่ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ส่วนสถิติตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บนเส้นทางออโตบาห์นของเยอรมนี น่าสนใจว่า แม้จะเป็นถนนที่ใช้ความเร็วสูง ทว่าสถิติ ในช่วงปี ค.ศ. 2007-2009 ระบุว่า มีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนเส้นทางดังกล่าว 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยกว่าหลายประเทศในยุโรป อาทิ สเปน เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม ด้วยซ้ำไป ซึ่งทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวมีอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 16 เปอร์เซ็นต์

เผยสถิติ “อุบัติเหตุ” บนถนนเมืองไทยมาจากการใช้ความเร็ว

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับมาดูข้อมูลจากรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย โดย มูลนิธิไทยโรดส์ (ThaiRoads Foundation) ปี พ.ศ. 2557-2558 ที่มีการอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าการขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดคือต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเป็นอันดับต้นๆ ของคดีอุบัติเหตุการจราจร

โดยหากพิจารณาบนทางหลวง สถิติระบุว่า 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุที่มีมูลเหตุสันนิษฐานจากการใช้ความเร็ว อีกทั้งแนวโน้มสถานการณ์ที่มีความน่าเป็นห่วง จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา

เช็กความเร็วสูงสุดบนทางหลวง 4 เลน ประเทศต่างๆ

– เยอรมนี ไม่จำกัดความเร็ว
– ซาอุดิอาระเบีย 140 กม./ชม.
– อิรัก 140 กม./ชม.
– กรีซ 130 กม./ชม.
– สเปน 120 กม./ชม.
– สหราชอาณาจักร 113 กม./ชม.
– ญี่ปุ่น 120 กม./ชม.
– มาเลเซีย 110 กม./ชม.
– ออสเตรเลีย 110 กม./ชม.
– สิงคโปร์ 90 กม./ชม.
– ภูฏาน 50 กม./ชม.

จากข้อมูลตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในยุโรป กับสถิติในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำความเร็วสูงย่อมมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุตามมา ทว่ายังมีปัจจัยแวดล้อมอีกมากมาย อาทิ คุณภาพของถนน ความพร้อมของผู้ขับขี่ และสภาพอากาศ น่าสนใจว่าสุดท้ายแล้วแนวคิดของ รมว.คมนาคม เพื่อแก้ปัญหารถติด จะบังคับใช้ได้จริงตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่

เครดิต www.sanook.com