ถนนสายหลักเมืองไทย เริ่มต้น กม. 0 จากตรงไหน ไปสิ้นสุดที่ไหนบ้าง?

ประเทศไทยใช้การเดินทางไปยังจุดหมายต่าง ๆ ทั่วไทยด้วยการใช้ถนนในการเดินทาง และใครที่เดินทางเพื่อทำงานหรือท่องเที่ยวกันบ่อย ก็คงจะพอรู้จักถนนสายหลักที่เอาไว้ใช้เดินทางไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ที่ภาษาราชการเรียกว่าทางหลวงสายประธานทั้งสี่ของประเทศไทย ทั้ง พหลโยธิน, สุขุมวิท, มิตรภาพ และเพชรเกษมกันอยู่แล้ว แต่เคยทราบกันไหมครับว่า ถนนหลักของเราทั้ง 4 สายนี้ เริ่มต้น กม. 0 ที่ตรงไหน และไปสิ้นสุดที่จังหวัดอะไร วันนี้ เรามาหาคำตอบกันครับ

ถนนพหลโยธิน

ถนนพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 1 ของประเทศไทย ที่ตั้งชื่อตามพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และนายกรัฐมนตรีคนที่สองของไทย เริ่มต้น กม. 0 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วิ่งขึ้นไปทางทิศเหนือ วิ่งผ่านจังหวัดปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, ลพบุรี, นครสวรรค์, ชัยนาท, กำแพงเพชร, ตาก, ลำปาง, พะเยา, และไปสิ้นสุดที่ อ. แม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมระยะทางยาว 994.749 กิโลเมตร ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดว่า เส้นทางที่ขึ้นเหนือผ่านพระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, สิงห์บุรี คือถนนพหลโยธินเช่นกัน ซึ่งจริงแล้วถนนสายนี้มีการเบี่ยงออกไปทางจังหวัดลพบุรี เพราะเป็นการลากไปผ่านค่ายทหารที่สำคัญในช่วงนั้นนั่นเอง

ถนนมิตรภาพ

ถนนสายหลักที่มุ่งหน้าไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างถนนมิตรภาพ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เป็นถนนสายประธานสายเดียวที่ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ โดย กม.0 นั้นจะอยู่ที่ อ.เมืองสระบุรี เป็นถนนที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนในการสร้างจากสหรัฐอเมริกา จอมพล ป.พิบูลสงครามเลยตั้งชื่อว่า “ถนนมิตรภาพ” เพื่อแสดงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนั่นเอง โดยเริ่มต้นจากการแยกออกจากถนนพหลโยธิน กม. 106+615 หรือตรงสะพานข้ามแยกตรงเมืองสระบุรีนั่นเอง มุ่งหน้าสู่ นครราชสีมา ก่อนจะเบี่ยงชึ้นทางเหนือสู่ขอนแก่น, อุดรธานี และไปจบที่ อ.เมือง จังหวัดหนองคาย รวมระยะทางได้ 509 กิโลเมตร ซึ่งในอดีตนั้น มีการนับเริ่มต้น กม. 0 ที่เดียวกันกับถนนพหลโยธิน นั่นคืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีระยะทางตั้งแต่เริ่มถึงหนองคายรวม 615 กิโลเมตร แต่เพื่อป้องกันการสับสน จึงได้เปลี่ยนมานับ กม. 0 ที่สระบุรีในภายหลังนั่นเอง

ถนนสุขุมวิท

ถนนสายหลักที่ใช้เดินทางไปภาคตะวันออกอย่างถนนสุขุมวิท ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ตั้งชื่อตามพระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) ผู้จัดทำโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เป็นแม่บทในการสร้างทางหลวงเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ เริ่มต้น กม. 0 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วิ่งผ่านราชดำเนินกลาง, ถนนมหาชัย, ถนนพระราม 1 (หน้าห้างพารากอน) ผ่านแยกเพลินจิตออกสู่สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี จบสุดท้ายที่ อ. คลองใหญ่ จังหวัดตราด มีระยะทางยาวรวม 488 กิโลเมตร ซึ่งแนวสำคัญในกรุงเทพที่ดูง่าย ๆ ก็คือ แนวรถไฟฟ้า BTS ที่วิ่งตั้งแต่สนามกีฬาแห่งชาติ ตรงดิ่งไปยังสถานีน้องใหม่อย่างเคหะฯ นั่นคือถนนสุขุมวิททั้งหมดเลย

ถนนเพชรเกษม

ถนนสายหลักเพื่อเดินทางสู่ภาคใต้ของประเทศไทยอย่างถนนเพชรเกษม ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 เป็นถนนสายที่มีระยะทางยาวที่สุดของประเทศไทย มีระยะทางรวม 1310.554 กิโลเมตร ตั้งชื่อตามหลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์ (แถม เพชรเกษม) อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 7 เริ่มต้นครั้งแรกนับ กม.0 ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วิ่งไปทางถนนดินสอ ข้ามสะพานพุทธไปถึง เขตหนองแขม ก่อนต่อเข้าเขตจังหวัดสมุทรสาคร แต่ภายหลังกรมทางหลวงได้ทำการโอนถนนเพชรเกษมให้ทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลแทน จึงได้ทำการย้าย กม. 0 มาอยู่ที่วงเวียนใหญ่แทน ก่อนจะมุ่งหน้าไปทางสะพานเนาวจำเนียร มุ่งหน้าสู่หนองแขม วิ่งออกไปสมุทรสาครที่ อ.อ้อมน้อย ผ่าน นครปฐม, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร ก่อนเลี้ยวขวาออกไประนอง, พังงา, กระบี่, ตรัง, พัทลุง, สงขลาที่ อ. สะเดา โดยในอดีตนั้น ถนนเพชรเกษมในบางช่วงถูกใช้เป็นสนามบินฉุกเฉินโดยใช้ผิวจราจรเป็นทางขึ้น-ลงเครื่องบิน คาดว่าจะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว หลายคนขับรถลงใต้เพลิน ๆ ผ่านจังหวัดชุมพรมุ่งหน้าไปสุราษฎร์ธานี แล้วคิดว่าตัวเองยังอยู่ในถนนเพชรเกษมอยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าจะใช้ถนนสายนี้อยู่ ต้องเลี้ยวแยกไปตรงแยกปฐมพร อ.เมืองชุมพร แล้วมุ่งหน้าไปยังจังหวัดระนองแทน

 

 

เครดิต www..autodeft.com