ย้อนตำนานเครื่อง 4A-GE เครื่องยนต์ที่ดีที่สุดบล็อคหนึ่งจากโตโยต้า

 

เครื่องบล็อค 4A นั้นเริ่มผลิตกันตั้งแต่ปี 1984 และมีการพัฒนาเรื่อยมาจุดหยุดสายการผลิตไปในปี 1996 รุ่นสุดท้ายของสายพันธุ์ก็คือเครื่อง 4A-GE 20 Valve นั่นเอง สำหรับบทความนี้เราจะมาค่อยๆ ไล่ลำดับของเครื่องในบล็อคนี้ไปที่ละตัวเลย ช้าๆ ชัดๆ

 

เครื่อง 4A แต่ละปีแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันไม่ใช่น้อยทั้งในส่วนของจุดยึด และส่วนประกอบก็แตกต่างกัน หรือแม้แต่เครื่องตัวเดียวกัน แต่ไปอยู่ประเทศอื่นก็จะมีสเปคที่ต่างกัน เช่นเครื่อง 4A-GE สมัยอยู่ญี่ปุ่น มีพลัง 140ps ที่ 7,200 rpm และแรงบิดสูงสุด 15kg/m ที่ 6,000 rpm พอลงเรือล่องทะเลมาอยู่ใน Corolla AE92 บ้านเรา เหลือพลังให้ใช้กัน 130.5ps ที่ 7,000 rpm แรงบิดสูงสุดเหลือแค่ 14.8kg/m ที่ 6,000 rpm (ม้าตายระหว่างขนส่ง) นี่เป็นการยกตัวอย่างเบื้องต้นเพื่อให้รู้ว่าเครื่องแต่ละรุ่นแต่ละปีนั้นมี ความแตกต่างกันไม่น้อย แต่เราจะไม่ลงรายละเอียดขนาดนั้นเอาระดับที่คนทั่วๆ ไปเข้าใจก็พอ

 

เครื่อง 4A-GE รุ่นแรก สมัยปี 1984-1985 เริ่มใช้กับรถขับเคลื่อนล้อหลัง เช่น Corona รุ่นหน้าแหลม Celica, Carina, Corolla Levin, Corolla Sprinter และ MR 2 สังเกตกันได้ง่ายเพราะจะมีสายหัวเทียนโผล่ออกมา ดูแล้วรุงรัง สายหัวเทียนที่ฝาครอบจานจ่ายจะกระจายไปรอบตัว ซึ่งในยุคนั้นจะเป็นเครื่อง 4A-GEU และ 4A-GELU รวม 2 รุ่นแต่มีสเปคเครื่องเหมือนกัน

เครื่อง 4A-GEU และ 4A-GELU ปี 1984-1985
General DOHC 4cylinder 16valve
Capacity 1,587cc.
Bore 81mm.
Stroke 77mm.
Compression ratio 9.4 : 1
Max Power(hp) 130 at 6,600rpm
Max Torque(kg/cm) 15.2 at 5,200rpm

เครื่อง 4A-GEU ปี 1984

พอมาช่วงปี 1986-1987 เครื่อง 4A-GEU และ4A-GELU รูปทรงของเครื่อง และสเปคเครื่องยังไม่เปลี่ยน มีการโชว์สายหัวเทียนเหมือนเดิม แต่มีการเพิ่มเครื่อง 4A-GZE พลังซุปเปอร์ชาร์จแบบ Roots Type ในบอดี้ของ MR 2 เพิ่มขึ้นมาอีกเครื่อง ซึ่งตัวบล็อคของ 4A-GZE มันก็เหมือนกับ 4A-GEU และ 4A-GELU มีการโชว์สายหัวเทียนอยู่เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจานจ่ายเป็นรุ่นใหม่ แบบที่เรียงเป็น 2แถวซ้อนกัน และขั้วเสียบสายหัวเทียนชี้ขึ้นด้านบนหมด ไม่กระจายรอบตัวแบบเครื่อง 4A-GEU และ 4A-GELU

เครื่อง 4A-GZE ปี 1986-1987
General DOHC 4cylinder 16valve Supercharger
Capacity 1,587cc.
Bore 81mm.
Stroke 77mm.
Compression ratio 8.0 : 1
Max Power(hp) 145 at 6,400rpm
Max Torque(kg/cm) 19.0 at 4,400rpm

4A-GZE ปี 1986

 

สำหรับปี 1987-1988 เครื่อง บล็อก 4A-GZE ยังใช้สเปคเหมือนเดิม เบ่งพลังออกมาให้ใช้ 145ps ที่ 6,000 rpm แต่หน้าตาได้เปลี่ยนไปแล้ว คือจะมีตัวหนังสือคำว่า SUPER CHARGER สีแดงแถวขอบ Intercooler ตัวไดชาร์จที่เคยอยู่ใต้จานจ่าย เที่ยวนี้ถูกไล่ไปอยู่ข้างๆอ่างน้ำมันเครื่อง ส่วนเครื่อง 4A-GELU และ4A-GE (ไม่มี U ต่อท้ายแล้ว) หน้าตายังคงเหมือนเดิม แต่ภายในได้เปลี่ยนไป ทำให้เรี่ยวแรงถดถอยลงกว่าเดิมอีก

เครื่อง 4A-GELU และ 4A-GE ปี 1987-1988
General DOHC 4cylinder 16valve
Capacity 1,587cc.
Bore 81mm.
Stroke 77mm.
Compression ratio 9.4 : 1
Max Power(hp) 120 at 6,600rpm
Max Torque(kg/cm) 14.5 at 5,200rpm

เครื่อง 4A-GE ปี 1988

เครื่อง 4A-GZE ปี 1988

 

ในปี 1989-1990 เครื่องตัว 4A-GE เริ่มมีการแต่งหน้าทาปากเสริมหล่อมากขึ้น มีแผ่นปิดสายหัวเทียนเรียบร้อยไม่เกะกะสายตา พร้อมกับเพิ่มพลังให้มากขึ้นด้วย จะได้ไม่ถูกพรรคพวกพิกัดเดียวกันสวนเอาง่ายๆ ส่วนเครื่อง 4A-GZE ถึงจะไม่มีการแต่งเติมเสริมความหล่อก็ตาม แต่ภายในมีการอัดฉีดเพิ่มพลังกังฟู จนได้พลังเพิ่มขึ้นอีกโขเลยทีเดียว

 

เครื่อง 4A-GE ปี 1989-1990
General DOHC 4cylinder 16valve
Capacity 1,587cc.
Bore 81mm.
Stroke 77mm.
Compression ratio 10.3 : 1
Max Power(hp) 140 at 7,200rpm
Max Torque(kg/cm) 15 at 6,000rpm

4A-GE ปี 1989

 

เครื่อง 4A-GZE ปี1989-1990
General DOHC 4cylinder 16valve Supercharger
Capacity 1,587cc.
Bore 81mm.
Stroke 77mm.
Compression ratio 8.9 : 1
Max Power(hp) 165 at 6,400rpm
Max Torque(kg/cm) 21.0 at 4,400rpm

4A-GZE ปี1989

 

ปี 1991-1992 เครื่อง บล็อค 4A-GE และ 4A-GZE มีการปรับปรุงครั้งยิ่งใหญ๋ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูน่าคบหายิ่งขึ้น ภายในก็มีเรี่ยวแรงให้ใช้มากกว่าเดิม ตัว 4A-GE คราวนี้เปลี่ยนฝาสูบเป็นแบบเรียบคล้ายกับเครื่อง JZ ฝาวาล์วมีเครื่องหมาย “3ห่วง” ของToyota พร้อมกับคำว่า “TWIN CAM 20” ประดับอยู่ เพราะได้เปลี่ยนมาใช้วาล์ว 5 ตัวต่อสูบแล้ว โดยวางเครื่องตัวนี้ลงในบอดี้ของ Sprinter 1600 GT-Apex กับ Levin GT-Apex ส่วนเครื่อง 4A-GE 16Valve 140ps ก็ยังใช้อยู่ เครื่อง 4A-GZE ก็แปลงโฉมด้วยเช่นกัน ตัว Intercooler บนฝาครอบวาล์ว จะมีเครื่องหมาย “3 ห่วง” และคำว่า “SUPER CHARGER” สีขาวบนพื้นดำติดเอาไว้ แทนรุ่นเก่าที่ตัวหนังสือเป็นสีแดง และยังเปลี่ยนจากเดิมที่ใช้มาตรวัดการไหลของอากาศแบบ Air flow meter มาเป็นแบบ Map sensor ทำให้มีพลังออกมาให้ใช้กัน 170ps ที่ 6,400rpm

เครื่อง 4A-GE 20valve ปี1991-1992
General DOHC 4cylinder 20valve
Capacity 1,587cc.
Bore 81mm.
Stroke 77mm.
Compression ratio 10.5 : 1
Max Power(hp) 160 at 7,400rpm
Max Torque(kg/cm) 16.5 at 5,200rpm

เครื่อง 4A-GE 20 valve ปี 1992

 

เครื่อง 4A-GZE ปี1991-1992
General DOHC 4cylinder 16valve Supercharger
Capacity 1,587cc.
Bore 81mm.
Stroke 77mm.
Compression ratio 8.9 : 1
Max Power(hp) 170 at 6,400rpm
Max Torque(kg/cm) 21.0 at 4,400rpm

เครื่อง 4A-GZE ปี 1992

 

สำหรับปี 1993-1994 มีหลงเหลือให้ใช้กันเพียงแค่ตัว 4A-GE 20Valve 160ps ที่ 7,400rpm เท่านั้น ส่วนเจ้า 4A-GZE ซุปเปอร์ชาร์จก็ได้หายหน้าหายตาไปแล้ว พอมาถึงปี 1995-1996 เครื่อง 4A-GE 20Valve ก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ เปลี่ยนจากที่ใช้มาตรวัดการไหลของอากาศแบบAir flow meter มาเป็น Map sensor แทน แล้วเพิ่มกำลังอัดจากเดิม 10.5 : 1 เป็น 11.0 : 1 ทำให้มีเรี่ยวแรงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนเจ้า 4A-GZE ซุปเปอร์ชาร์จ ก็ไม่เห็นวี่แววว่าจะมายัดใส่ห้องเครื่องรถคันไหนอีกเลย

เครื่อง 4A-GE 20valve ปี1995-1996
General DOHC 4cylinder 20valve
Capacity 1,587cc.
Bore 81mm.
Stroke 77mm.
Compression ratio 11.0 : 1
Max Power(hp) 165 at 7,800rpm
Max Torque(kg/cm) 16.5 at 5,600rpm

เครื่อง 4A-GE 20 valve ปี 1995

 

เครดิต www.heremoo.com