เจ้าของรถแทบทุกคนคงรู้จักสัญญาณเตือนรูปแบตเตอรี่สีแดงบนหน้าปัดรถแต่ละคันอยู่แล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าสัญญาณเตือนนี้แท้จริงแล้วหมายถึงอะไรกันแน่?

     เชื่อว่าหลายคนเข้าใจผิดว่าสัญญาณเตือนรูปแบตเตอรี่ที่มักสว่างขึ้นเมื่อบิดกุญแจ และจะหายไปเองโดยอัตโนมัติหลังจากเครื่องยนต์ติดแล้วนั้น หมายถึงแบตเตอรี่หมดหรือเสื่อมสภาพ แต่แท้จริงแล้วสัญญาณเตือนที่ว่านี้หมายถึงระบบ “ไดชาร์จ” หรือ Alternator มีปัญหา ส่งผลให้เครื่องยนต์ไม่สามารถสร้างพลังงานไฟไปเก็บไว้ยังแบตเตอรี่ได้นั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่พอตัวเชียวล่ะ

     เนื่องจากไดชาร์จจะทำหน้าที่ป้อนกระแสไฟให้กับแบตเตอรี่และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถ หากสัญญาณเตือนรูปแบตเตอรี่สว่างขึ้นนั่นแปลว่าไดชาร์จเสีย ไม่สามารถผลิตกระแสไฟได้อีกต่อไป จึงมีเพียงแบตเตอรี่ที่รับหน้าที่จ่ายกระแสไฟให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จากนั้นพลังงานไฟในแบตเตอรี่จะค่อยๆ ต่ำลง จนท้ายสุดจะทำให้เครื่องยนต์ดับไป และไม่สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้อีก แม้กระทั่งไฟฉุกเฉินก็จะสว่างอย่างริบหรี่จนแทบจะมองไม่เห็น

     ทางที่ดีหากพบว่าสัญญาณเตือนรูปแบตเตอรี่สว่างขึ้น ควรปิดระบบไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสียงและเครื่องปรับอากาศ รวมถึงหยุดชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ และหลีกเลี่ยงการเปิดไฟหน้ารถในเวลากลางวันหากไม่จำเป็น จากนั้นให้รีบขับรถไปยังศูนย์บริการหรืออู่ที่ไว้ใจได้ก่อนที่แบตเตอรี่จะหมดไฟในที่สุด

     หรือหากรู้ตัวว่าไม่สามารถขับรถไปถึงศูนย์บริการหรืออู่ได้ ให้หยุดรถที่พื้นที่ปลอดภัยและใช้บริการรถยกแทน เพราะหากฝืนขับต่อไปอาจทำให้รถตายในจุดที่มีจราจรคับขัน ซึ่งนอกจากจะกีดขวางการจราจรแล้วนั้น ยังเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย

 

ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนไดชาร์จแต่ละครั้งเป็นเงินเท่าไหร่?

     โดยปกติแล้วไดชาร์จแต่ละลูกจะมีอายุการใช้งานป้วนเปี้ยนราว 10 ปีหรือมากกว่านั้น หากถึงเวลาเปลี่ยนขึ้นมาจริงๆ ก็จะมีค่าใช้จ่ายรวมค่าแรงประมาณ 5 พันบาท ไปจนถึงหลักหมื่นต้นๆ ขึ้นอยู่กับรุ่นรถ แม้ว่าจะเป็นชิ้นส่วนที่มีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถใช้งานได้อีกยาวนานเช่นกัน

แต่หากต้องการประหยัดงบลงมาหน่อย ก็สามารถลองดูไดชาร์จมือสองได้ ซึ่งมักมีราคาราว 2-3 พันบาท (หากสูงกว่านี้ควรหันไปเลือกของใหม่เลยจะดีกว่า) แต่ก็แลกกับความเสี่ยงด้วยว่าอายุการใช้งานจะยาวนานแค่ไหน เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่แทบจะบอกไม่ได้เลยว่าผ่านการใช้งานมาขนาดไหนแล้ว

 

 

เครดิต www.sanook.com