เกียร์อัตโนมัติเป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานไม่ต่างจากชิ้นส่วนอื่นๆ หากวันใดวันหนึ่งเกิดมีอาการเสียขึ้นมา มักมีค่าซ่อมแสนโหดชนิดที่ว่าเปลี่ยนรถคันใหม่คุ้มกว่าเลยก็มี เราจึงขอแนะนำ 5 เคล็ดลับช่วยถนอมเกียร์อัตโนมัติไม่ให้พังเร็วมาฝากกัน

     ระบบเกียร์อัตโนมัติที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือ เกียร์อัตโนมัติแบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์ (Torque Converter) และเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT (Continuously Variable Transmission) โดยแบบแรกจะมีอัตราทดแบบลำดับขั้น เช่น 5 จังหวะ หรือ 8 จังหวะอย่างที่คุ้นเคยกัน ส่วนแบบที่สองจะมีการเปลี่ยนอัตราทดแบบต่อเนื่องโดยใช้สายพานขับเคลื่อน ซึ่งต่างก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันออกไป

     ปัจจุบันเกียร์อัตโนมัติทั้ง 2 แบบ ล้วนแต่ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพความทนทานใกล้เคียงกัน หากบำรุงรักษาอย่างถูกวิธีเป็นประจำ ก็จะสามารถใช้งานเกิน 2 แสนกิโลเมตรได้อย่างไร้ปัญหา บางคันอาจมีอายุเกียร์เท่ากับอายุการใช้งานของรถเลยก็มี แต่หากใช้งานโดยไม่ถนอมเท่าที่ควร ขาดการบำรุงรักษาที่เหมาะสม ก็อาจชำรุดบกพร่องตั้งแต่ช่วง 1 แสนกิโลเมตรเลยก็มี

อาการเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเกียร์อัตโนมัติเริ่มมีปัญหา เช่น เข้าเกียร์แล้วแต่รถไม่เคลื่อนที่หลังจากสตาร์ทรถตอนเช้า ต้องรอจนกว่าเครื่องยนต์ร้อน, เข้าเกียร์ถอยหลังแต่รถไม่ถอย, เกียร์เปลี่ยนอัตราทดได้ไม่ครบ เช่น รถวิ่งได้สูงสุดเพียงเกียร์ 2 ทำให้มีการลากรอบสูงจัด, เกียร์มีการข้ามอัตราทด เช่น จาก 1 ไป 3 แต่หากรุนแรงที่สุดก็คือรถไม่สามารถเคลื่อนที่ใดๆ ได้อีกเลย

     5 เคล็ดลับการขับรถถนอมเกียร์อัตโนมัติ มีดังนี้

1. เปลี่ยนเกียร์เมื่อรถหยุดนิ่งแล้วเท่านั้น

     การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ระหว่าง R-N-D ควรทำเมื่อรถหยุดนิ่งสนิทแล้วเท่านั้น มิเช่นนั้นจะทำให้ชุดเกียร์มีการเคลื่อนที่ผิดปกติจนเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้

2. เลิกคิกดาวน์โดยไม่จำเป็น

     การคิกดาวน์ (Kickdown) เป็นการลดอัตราทดเกียร์ลงโดยการเหยียบคันเร่งให้ลึกกว่าปกติ จะช่วยให้รถพุ่งไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ถึงอย่างไร ควรคิกดาวน์ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการเร่งแซงจริงๆ เท่านั้น เนื่องจากชุดเกียร์จะต้องแบกรับแรงบิดจากเครื่องยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (พูดง่ายๆ คือ เกียร์ถูกกระชากนั่นเอง) ซึ่งจะทำให้ชุดเกียร์เสื่อมสภาพไวกว่าปกติได้

3. ไม่ใส่เกียร์ว่าง (N) ปล่อยไหลเด็ดขาด

     หลายคนที่ขับเกียร์ธรรมดามาก่อน อาจใช้วิธีใส่เกียร์ว่างปล่อยให้รถไหลจนหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่วิธีนี้ห้ามทำในเกียร์อัตโนมัติโดยเด็ดขาด เนื่องจากการตำแหน่งเกียร์ว่างจะไม่มีการไหลเวียนของน้ำมันเกียร์ ส่งผลให้เกิดความเสียหายในระยะยาว

4. ไม่เปลี่ยนเกียร์เองโดยไม่จำเป็น

     เกียร์อัตโนมัติยุคใหม่จะมาพร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย หรือตำแหน่งเกียร์บวก-ลบบริเวณคันเกียร์ ช่วยเพิ่มอรรถรสในการขับขี่ แต่ทางที่ดีควรใช้ตำแหน่งเกียร์ D เป็นหลัก เพื่อให้สมองกลสั่งเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ด้วยตัวเองจะดีกว่า เนื่องจากการเปลี่ยนอัตราทดด้วยตัวเองนั้น ชุดเกียร์อาจต้องแบกรับแรงบิดอย่างรุนแรงและรวดเร็วอยู่บ่อยครั้งจนทำให้เกิดความเสียหายได้

     อย่างไรก็ดี การขับรถลงเขาที่มีความชันมากๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับอัตราทดเกียร์ให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มแรงเบรกจากเครื่องยนต์ (Engine Brake) ช่วยลดภาระของระบบเบรกและสามารถลงทางชันได้อย่างปลอดภัย

5. ห้ามละเลยการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์เด็ดขาด

     ชุดเกียร์เป็นอุปกรณ์ระบบปิดที่มีการเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนตลอดระยะเวลาที่รถเคลื่อนที่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ตามที่ผู้ผลิตกำหนดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อคงประสิทธิภาพการหล่อลื่นของชุดเกียร์อยู่เสมอ อีกทั้งยังเป็นการถ่ายเศษโลหะที่เกิดขึ้นในชุดเกียร์ออกมา ช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น

     นอกจากนี้ เจ้าของรถจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สเปกน้ำมันเกียร์ตามที่ผู้ผลิตกำหนดเท่านั้น (ในกรณีที่เปลี่ยนน้ำมันเกียร์กับอู่นอก) ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะต้องเข้ารับบริการทุก 40,000 กิโลเมตร

     หากคุณสามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำข้างต้นนี้ได้แล้วล่ะก็ รับรองว่าระบบเกียร์อัตโนมัติของรถคุณจะมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นอย่างแน่นอนครับ

แนะนำสินค้าจาก GZL!  😬

ระวังโดนหลอก!! หลายคนคงสงสัยละสินะ ว่าฝาสูบ 4JK1 กับ 4JJ1 เหมือนกันหรอ??!! ถูกต้อง “เหมือนกันคับ สองรุ่นนี้ใช้ฝาสูบตัวเดียวกันเลย” ระวังโดนเรียกราคา 4JJ1 3.0 แพงกว่า 4JK1 2.5 นะครับ

ฝาสูบคอมมอนเร็วจากรถยนต์ 4 สูบยอดนิยม จากค่ายรถยนต์ อีซูซุ ฝาสูบใหม่ใส่ได้ทั้งรถกระบะและรถบรรทุก เนื้อเนียนๆ งามๆ ใหม่!

ด้วยความปรารถนาดีจาก GZL 🙏

 

เครดิต www.sanook.com