คนใช้รถเกียร์อัตโนมัติจะทราบถึงการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างเกียร์ P, R, N และ D กันอยู่แล้ว แต่รถเกียร์อัตโนมัติบางรุ่นยังมีตำแหน่งเกียร์อื่นๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมใช้นัก เช่น 2, 1, L, S, M และ B แล้วรู้หรือไม่ว่าตำแหน่งเกียร์เหล่านี้มีหน้าที่อะไรบ้าง?

ตำแหน่งเกียร์ 3, 2, 1 และ L

     นอกเหนือจากตำแหน่งเกียร์ D ซึ่งถูกใช้อยู่เป็นประจำแล้วนั้น รถบางรุ่นยังมีตำแหน่ง 3, 2 และ 1 ซึ่งหมายถึงอัตราทดเกียร์สูงสุดที่ตัวรถจะเปลี่ยนให้นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ตำแหน่งเกียร์ 2 หมายถึงตัวรถจะเริ่มออกตัวด้วยเกียร์ 1 จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็น 2 และจะไม่ขยับขึ้นเป็นเกียร์ 3 แม้ว่าจะใข้ความเร็วสูงแค่ไหนก็ตาม

     โดยตำแหน่งเกียร์เหล่านี้ ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้สำหรับเร่งแซง หรือช่วยประคองความเร็วขณะลงเขา เพื่อลดภาระของระบบเบรกไม่ให้ร้อนจัดจนเบรกไม่อยู่ ซึ่งการเลือกตำแหน่งเกียร์ 3, 2 หรือ 1 ก็ขึ้นอยู่กับความเร็วในขณะนั้น โดยอาศัยว่าต้องมีแรงหน่วงจากเครื่องยนต์ (Engine Brake) มากพอที่จะช่วยรักษาความเร็วในขณะนั้นได้

     ส่วนตำแหน่งเกียร์ L ทำหน้าที่เหมือนกับตำแหน่งเกียร์ 1 เพียงแต่ผู้ผลิตอาจใช้สัญลักษณ์ต่างกันออกไปนั่นเอง

ตำแหน่งเกียร์ S

     รถบางรุ่นอาจมีตำแหน่งเกียร์ S มาให้ ซึ่งหมายถึง “Sport” (บางรุ่นอาจแยกเป็นปุ่มออกมาต่างหาก) มีหน้าที่สั่งการให้สมองเกียร์เปลี่ยนอัตราทดที่รอบเครื่องยนต์สูงขึ้นกว่าปกติ ช่วยเรียกแรงม้าและแรงบิดได้รวดเร็วทันใจกว่า แลกกับอัตราสิ้นเปลืองที่เพิ่มขึ้น จึงควรใช้เกียร์ S เมื่อจำเป็นเท่านั้น

     นอกจากนี้ โหมด S ในรถส่วนใหญ่จะไม่ปรับอัตราทดไปยังตำแหน่งสูงสุดให้ (เช่น หากรถมี 5 เกียร์ ก็จะเปลี่ยนจากตำแหน่ง 1-4 ให้เท่านั้น) จึงไม่เหมาะกับการขับขี่ด้วยความเร็วสูงบนทางยาวๆ เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น

ตำแหน่งเกียร์ M

     รถรุ่นใหม่ๆ จะมีตำแหน่งเกียร์ M ควบคู่กับตำแหน่ง + และ – มาให้ ซึ่งอาจติดตั้งอยู่บริเวณคันเกียร์หรือมีลักษณะเป็นแป้นกดบริเวณพวงมาลัย หรือมีให้ทั้งสองตำแหน่งเลยก็เป็นได้ ซึ่งการทำงานจะคล้ายคลึงกับเกียร์ธรรมดา เช่น หากกดให้อยู่ในตำแหน่ง 3 สมองกลเกียร์ก็จะสั่งตัวรถให้ล็อกอยู่ในเกียร์ 3 เป็นต้น สามารถใช้งานได้ทั้งขณะลงทางลาดชันเพื่อประคองความเร็ว หรือเพิ่มความสนุกในการขับขี่แบบชั่วครั้งชั่วคราวก็ย่อมได้

     นอกจากนี้ รถบางยี่ห้ออาจมีการทำงานในโหมด M แตกต่างกันออกไป คือ หากเลือกตำแหน่งเกียร์ 3 จะหมายถึงรถยังสามารถเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ได้ตั้งแต่ 1-3 ขึ้นอยู่กับความเร็วของตัวรถ หากมีข้อสงสัยควรศึกษาจากคู่มือของรถแต่ละรุ่น

ตำแหน่งเกียร์ B

     เกียร์ B จะพบได้ในรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด ซึ่งจะมีลักษณะการทำงานคล้ายกับเกียร์ S แต่แตกต่างกันตรงที่เกียร์ B มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้หน่วงความเร็วของตัวรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะลงทางลาดชันยาวๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดภาระของระบบเบรกแล้ว ยังช่วยเพิ่มการชาร์จไฟกลับไปยังแบตเตอรี่อีกด้วย

     เห็นไหมครับว่านอกจากตำแหน่ง P, R, N และ D ที่ใช้กันเป็นปกติแล้ว ยังมีตำแหน่งเกียร์อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในสภาพการขับขี่ที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย รู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยนะครับ


ฝาสูบของทาง GZL

ฝาสูบใหม่เปล่าของทาง GZL ทุกฝาสูบ จะมีบ่าวาล์วและหลอดวาล์วมาให้พร้อม สำหรับนำไปบดวาล์วใส่ประกอบได้โดยง่าย พร้อมกับเนื้อฝาสูบที่แน่นไม่มีฟองอากาศ เนื้อหน้าตัดของฝาสูบคมกริบไม่ว่าจะเป็นฝาสูบเหล็กหล่อหรือฝาสูบมีเนียม

เครดิต www.sanook.com