แม้ว่าค่ายรถยนต์แทบทุกค่ายจะหันมาพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันแบบเต็มสูบ แต่มีความเป็นไปได้ว่ามาตรฐานการปล่อยไอเสีย Euro 7 ฉบับใหม่ของยุโรปที่จะประกาศบังคับใช้ในปี 2025 นี้ อาจเป็นตัวเร่งให้เครื่องยนต์สันดาปภายในหายไปจากตลาดรถใหม่ในที่สุด

     สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งยุโรป (ACEA – European Automobile Manufacturers Association) ระบุว่าการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยไอเสีย Euro 7 ฉบับใหม่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาจส่งผลให้เครื่องยนต์สันดาปภายในถูกแบนไปจากตลาด ไม่เว้นแม้แต่เครื่องยนต์ไฮบริดที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วย เนื่องจากเครื่องยนต์เหล่านี้จะไม่สามารถผ่านมาตรฐานการทดสอบไอเสียตามมาตรฐานใหม่ได้

     เว็บไซต์ Autocar ของอังกฤษระบุว่า เครื่องยนต์สันดาปที่สามารถผ่านมาตรฐานการปล่อยไอเสียระดับ Euro 7 ได้นั้น จำเป็นต้องติดตั้งตัวเร่งการเผาผลาญไอเสียระดับสูง (Supercatalyst) เหนือกว่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นระบบกำจัดเขม่าไอเสียด้วยความร้อนแบบไฟฟ้า, เครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา (Catalytic Converter) ขนาด 1 ลิตร, ไส้กรองอนุภาคขนาด 2 ลิตร และตัวเร่งปฏิกิริยาแอมโมเนีย (หรือที่รู้จักกันในชื่อ AdBlue)

     นอกจากนี้ ACEA ยังระบุด้วยว่าการพัฒนาให้เครื่องยนต์ปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ (NOx), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และแอมโมเนีย (NH3) ออกมาน้อยที่สุดนั้น ถือเป็นเรื่องยุ่งยากและมีต้นทุนที่สูงมาก อีกทั้งมาตรฐาน Euro 7 ยังบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องติดตั้งระบบตรวจสอบเครื่องยนต์ว่าปล่อยมลพิษอยู่ภายใต้ระดับมาตรฐานแม้จะถูกใช้งานไปแล้วมากกว่า 150,000 ไมล์ หรือ 240,000 กม. ก็ตาม

     เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในอาจถูกแทนที่ด้วยรถไฟฟ้าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

 

เครดิต www.sanook.com