กระแสรถยุค 90’s ในเมืองไทย พ.ศ. นี้ มาแรงจริงๆ มีทั้งรถที่ตกแต่งแล้ว หรือรถที่ทำเก็บเดิม ซึ่งรถที่ผ่านการตกแต่งส่วนใหญ่จะเลือกหยิบเอาของในยุค 90’s มาใส่เข้าไป ซึ่งรถในยุค 90’s มีมากมายหลายรุ่นที่ออกมาสร้างชื่อเสียงในยุคนั้น และก็อีกหลายรุ่นที่ออกมาดับในยุคนี้เช่นกัน แต่สำหรับรถสปอร์ตของค่าย Toyota ในยุคนั้นไม่มีใคร ไม่รู้จัก รถรุ่นนี้แน่นอนกับ Toyota Supra และวันนี้เราจะพาคุณเข้าไปทำความรู้จักกับเจ้า Toyota Supra ให้มากขึ้นว่ามีกี่รุ่น กี่เจนเนอเรชั่น

Gen 1 A40-A50 (1978-1981)

เริ่มจากเจ้า Toyota Supra ผลิตออกมาสู่สายตาประชาชนครั้งแรกเดือนเมษายนปี 1978 มีพื้นฐานมาจาก Toyota Celica Liftback ทำให้ทางญี่ปุ่นเรียกรถรุ่นนี้ว่า Toyota Celica XX (Double-X) ส่วนต่างประเทศจะเรียกรถรุ่นนี้ว่า Toyota Celica Supra มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 แบบ ด้วยกัน คือเครื่องยนต์เบนซิน 2,000 ซีซี. 6 สูบ 12 วาล์ว 123 แรงม้า กับเครื่องยนต์เบนซิน 2,600 ซีซี. 6 สูบ 12 วาล์ว 110 แรงม้า ทั้ง 2 เครื่องยนต์ มากับระบบหัวฉีดไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นระบบใหม่ในช่วงนั้น มีให้เลือกทั้งแบบเกียร์ธรรมดา 5 Speed และเกียร์อัตโนมัติ 4 Speed ที่เสริมด้วยระบบเกียร์ Overdrive เข้าไป ระบบเบรกเป็นแบบดิสก์เบรก ช่วงล่าง Four-Link ส่วนภายในห้องโดยสารในยุคนั้นยังไม่ค่อยมีคนใช้กระจกไฟฟ้าและระบบล็อครถไฟฟ้าเท่าไหร่ แต่ในตัว Supra ถูกติดตั้งเข้าไป ในปี 1980 มีเครื่องขนาด 2,800 ซีซี. แต่ถูกส่งออกไปขายนอกประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากคนญี่ปุ่นไม่ให้ความนิยมกับเครื่องบล็อคใหญ่ๆ เพราะเรื่องของภาษี

Gen 2 A60 (1981-1985)

ก้าวเข้าสู่ Gen 2 ของ Toyota Supra สำหรับ Gen นี้ เปิดตัวออกมาช่วงกลางปี 1981 ยังคงใช้ชื่อ Toyota Celica XX ที่จำหน่ายในญี่ปุ่น ส่วนชื่อที่ออกไปสู่สายตาชาวโลกคือ Toyota Celica Supra สำหรับรุ่นนี้แบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือ L-Type และ P-Type โดยตัว L-Type ย่อมาจากคำว่า Luxury Type แปลได้ตรงตัวเลยว่ารุ่น Luxury ซึ่งแสดงถึงความหรูหราสะดวกสบาย ส่วนรุ่น P-Type ย่อมาจากคำว่า Performance Type ซึ่งจะเป็นเรื่องของความสปอร์ตเป็นหลัก ซึ่ง 2 รุ่นนี้ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น เบาะหนัง หน้าปัดวัดระยะทางเป็นแบบดิจิตอลในรุ่น L-Type ล้อของรุ่นนี้เป็นล้อขอบ 14” หน้ากว้าง 5.5” ส่วนในรุ่น P-Type จะมีโป่งซุ้มล้อ เบาะปรับได้ 8 ทิศทาง มาพร้อมกับล้อขอบ 14” หน้ากว้าง 7” จนมาในปี 1985 เปลี่ยนมาเป็นล้อ 15” หน้ากว้าง 6”

ส่วนบอดี้ภายนอกเปลี่ยนชุดไฟหน้าใหม่เป็นแบบ Pop-Up ในส่วนของเครื่องยนต์ เป็นเป็นขนาด 2,800 ซีซี. 12 วาล์ว 145 แรงม้า ที่ส่งขายในตลาดอเมริกาเหนือ ต่อมาในปี 1893 อัพเกรดเครื่องยนต์ใหม่ได้แรงม้ามาใช้งานถึง 150 แรงม้า โดยเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ใหม่ใส่ระบบ Electronically Controlled Transmission (ECT) ทำให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกโหมดการขับว่าจะเป็น Power หรือ Normal ได้ตามที่ต้องการ ถัดมาในปี 1894 ได้ขยับแรงม้าของเครื่องยนต์ขึ้นเป็น 160 แรงม้า มาพร้อมเกียร์ 5 Speed ปรับอัตราทดเกียร์ใหม่ โดยในปีนี้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดภายนอกเล็กน้อย เช่นไฟเลี้ยวที่ปกติอยู่ด้านหน้า ปีนี้ตัวไฟเลี้ยวจะยาวมาถึงด้านข้างรถ ส่วนในปี 1895 ได้เสริมระบบ Throttle position sensor (TPS) ที่ทำงานเหมือนระบบ EGR และ Knock Sensor ในปัจจุบัน ทำให้เครื่องตัวนี้สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 8.4 วินาที ส่วนควอเตอร์ไมล์กับเวลา 16.1 วินาทีสามารถทำความเร็วได้สูงถึง 137 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Gen 3 A70 (1986-1993)

สำหรับ Genสาม นี้ถูกปล่อยออกมาช่วงเดือน กุมภาพันธ์ปี 1986 โดย Gen 3 นี้ใช้ชื่อว่า Toyota Supra แบบเต็มๆ โดยทางค่าย Toyota ได้แยกสายการผลิตรุ่น Celica ออกมา โดยตัว Celica จะเป็นระบบขับเคลื่อนล้อหน้า โดยใช้แพตฟอร์มจากรถ Corona โดยตัว Supra ยังคงเป็นรถที่ขับเคลื่อนล้อหลังอยู่ โดยเครื่องยนต์เป็นรหัส 7M-GE เครื่อง 6 สูบ N/A ขนาด 3,000 ซีซี. มีแรงม้าให้ใช้ถึง 200 แรงม้าจากโรงงานเลยทีเดียว และยังมีเครื่องเทอร์โบในรหัส 7M-GTE 3,000 ซีซี แรงม้า 232 แรงม้า แต่ในประเทศญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมในเครื่อง 2,000 ซีซี คือเครื่องรหัส 1G-GEU เป็นเครื่อง N/A มีแรงม้าให้ใช้ถึง 158 แรงม้า ส่วนเครื่องเทอร์โบเป็นรหัส 1G-GTE มีแรงม้าให้ใช้ถึง 207 แรงม้า และมีเครื่อง 2,500 ซีซี. รหัส 1JZ-GTE มีแรงม้าให้ใช้ถึง 276 แรงม้า เลยทีเดียว ซึ่งเครื่องรหัส JZ ถือได้ว่าเป็นเครื่องที่สร้างชื่อให้กับทางค่ายโตโยต้าและตัว Supra เองด้วย

นอกจากเรื่องของความแรงแล้วทางค่าย Toyota ยังได้เพิ่มในเรื่องของความปลอดภัยเข้าไปด้วยการใส่ระบบเบรก ABS ส่วนระบบช่วงล่างได้ติดตั้งระบบ Toyota Electronic Modulated Suspension (TEMS) สามารถปรับความนุ่มนวลของช่วงล่างได้ ในส่วนของบอดี้ ถูกออกแบบให้มีความโฉบเฉี่ยวมากขึ้น ตามหลักอากาศพลศาสตร์ และยังได้ออกแบบให้หลังคาสามารถถอดได้หรือที่เราๆ เรียกกันว่า (Targa Top) สำหรับตัว Gen 3 นี้ และที่ประเทศญี่ปุ่นจะเรียกรหัส JZA70 เป็นเครื่อง 1JZ-GTE Twin Turbo และอีกบอดี้นึงเรียกว่า GA70 ใช้เครื่อง 1G-GTE เป็นเครื่องเทอร์โบ และเครื่อง 1G-GEU เป็นเครื่อง N/A

Gen 4 A80 (1993-2002)

ช่วงเดือนเมษายน 1993 ทางค่าย Toyota ได้กำหนดการคลอดเจ้า Toyota Supra รหัส A80 ออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 1990 ทางค่ายได้เริ่มคิดค้น วิจัยรถต้นแบบออกมาอย่างเป็น จนได้มาเป็นรถรุ่นนี้ สำหรับ Toyota Supra รุ่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์จากเดิมอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นชุดไฟหน้าในรุ่นก่อนที่เป็นไฟ Pop Up รุ่นนี้ไม่ได้ใช้แบบนี้แล้ว ส่วนเส้นสายของรถในรุ่นก่อนๆ จะเป็นแบบเหลี่ยมๆ แต่รุ่นนี้จะเพิ่มความโค้งมนของเส้นสายรถเข้าไป ทำให้รถมีส่วนเว้า ส่วนโค้งมากขึ้น โดยความยาวของรุ่นนี้จะลดลงจากรุ่นก่อน 340 mm. เลยทีเดียว

สำหรับบอดี้ A80 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเครื่อง 2JZ ที่สร้างผลงานมากมายในขณะนี้ โดยเครื่องยนต์มีผลิตออกมา 2 รุ่นคือ 2JZ-GE และเครื่อง 2JZ-GTE โดยสเปคของเครื่อง 2JZ-GE 3,000 ซีซี. 6 สูบ 220 แรงม้า ส่วนเครื่อง 2JZ-GTE 3,000 ซีซี. 6 สูบ เทอร์โบคู่ 276 แรงม้า ส่วนสเปคเครื่องที่ส่งไปขายที่อเมริกาและยุโรปเป็นเครื่องรหัสเดียวกัน แต่ปรับเปลี่ยนเรื่องของเทอร์โบและหัวฉีดใหม่ ทำให้แรงม้าอัพขึ้นไปถึง 320 แรงม้า สำหรับเกียร์ของเจ้า A80 นี้เป็นเกียร์ Getrag 6 Speed และเกียร์ธรรมดาเป็นแบบ 5 Speed แต่ในช่วงปลายปี 90’s ทางฝั่งอเมริกาเหนือรถสปอร์ตคูเป้ไม่ได้รับความนิยมทำให้เจ้า A80 ต้องยุติการจำหน่ายที่นั้นไป ในปี 1996 ก็ได้ยุติการส่งออกไปขายที่แคนนาดา และในปี 1998 ยุติการขายในตลาดอเมริกา ส่วนในประเทศญี่ปุ่นรถรุ่นนี้ยุติสายการผลิตในปี 2002 เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานไอเสียในประเทศญี่ปุ่น

Gen 5 JZ90/A90/J29

หลังจากห่างหายนานกว่า 17 ปี ทางค่าย Toyota ก็ได้คลอดเจ้า Toyota Supra Gen 5 ออกมาสู่สายตาประชาชนซักที เนื่องด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างที่ทำให้ทิ้งระยะห่างออกมานาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องน้ำมัน หรือปัญหาของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นฐานลูกค้าใหญ่ของเจ้า Supra จนเดือนมีนาคม 2019 เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า All-New Toyota GR Supra 2020 (A90) เป็นการพัฒนาร่วมกัน 2 สัญชาติ ได้แก่ Toyota และ BMW เครื่องยนต์เป็นเครื่องตระกูล BMW 6 สูบ 3,000 ซีซี. เทอร์โบ ให้สมรรถนะสูงสุด 340 แรงม้า ระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 Speed ให้อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ที่ 4.1 วินาที ความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 250 กม./ชม. สำหรับบอดี้ภายนอกได้ต้นแบบรถมาจาก FT-1 Concept โดยเจ้า Toyota GR Supra คันนี้มีขนาดเล็กกว่ารุ่นเดิม และมีน้ำหนักที่เบากว่าอีกด้วย ภายในหรูหรา และใส่สิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปอีกเพียบ

ถึงจะมีไม่กี่เจนเนอเรชั่น แต่ถือว่า Toyota Supra เป็นรถสปอร์ตในตำนานของทางค่าย Toyota อีกหนึ่งรุ่น ที่คนชอบรถ คนรักรถ ต้องหามาจอดไว้ที่บ้านซักคัน

 

 

 

เครดิต www.boxzaracing.com