พูดถึงการขับรถเข้าไปจอดในห้าง ถ้านับเฉพาะการถอยจอดเแบบเข้าซอง คงต้องถามท่านผู้อ่านสักหน่อยว่า ปกติแล้วคุณถนัดถอยจอดแบบไหน เพราะรถยุคใหม่มีกล้องมองหลังและมีเซ็นเซอร์ ขณะที่ใครขับรถมาตั้งแต่ยุคก่อนก็อาจจะเคยชินกับการใช้กระจกมองหลังและมองข้างมากกว่า

     สำหรับผมโตมาในยุคที่รถยังไม่มีทั้งกล้องและเซ็นเซอร์ถอยหลัง ทำให้ในยุคปัจจุบันแม้รถจะมีกล้องและมีเสียงเตือน แต่จังหวะถอยจอดผมก็ยังติดการดูกระจกมองข้าง และกระจกมองหลังอยู่ดี รวมถึงต้องหันไปมองด้านหลังด้วยตัวเองในจังหวะถอยด้วย (มือซ้ายเอื้อมไปแตะเบาะคนนั่ง ฮา ๆ)

     ส่วนกล้องและเซ็นเซอร์ถอย ก็ใช่ว่าจะไม่ใช้มันนะครับ ผมจะดูกล้องเพื่อกะระยะในที่จอดที่แคบมาก ๆ รวมถึงฟังเสียงเซ็นเซอร์ว่าเตือนถี่ระดับไหน เพราะระบบเซ็นเซอร์ถอยของรถทุกคนจะเผื่อระยะการชนมาให้แล้วค่อนข้างเยอะ เท่ากับว่าถ้าได้ยินเสียงเตือนแล้ว มันจะถอยได้อีกนิดครับ

     ในช่วงปีใหม่ ผมเจอประสบการณ์รถคันหน้าต้องให้คนลงรถมาช่วยโบกในจังหวะถอยจอด และเจอติด ๆ กันถึง 2 ราย ทำเอารถที่ขับตามมายิ่งติดยาวเข้าไปอีก ทุกครั้งที่พี่รปภ. พยายามมาช่วยโบกเวลาผมถอยจอด โดยเฉพาะจังหวะตั้งลำถอย เชื่อว่ามีบางท่านรู้สึกคล้ายกัน คือ มันจะยิ่งงง!

     ด้วยความเคารพท่านผู้ใช้รถทุกท่านนะครับ เพราะผมเชื่อว่าบางท่านอาจจะมีเหตุผลจำเป็นที่ต่างกันออกไป แต่หากเรายึดมาตรฐานสอบใบอนุญาตขับขี่ การถอยจอดคือหนึ่งในสถานีสอบภาคปฏิบัติที่คนใช้รถทุกคนต้องทำได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีตัวช่วยแต่อย่างใดครับ

     หากเป็นพื้นที่จอดในห้างที่ค่อนข้างจำกัด มีรถจอดซ้อนคันอยู่เพียบ อันนี้พอจะเข้าใจได้ครับ เพราะการตั้งลำ การกะระยะจะต่างออกไปและต้องใช้เวลา แต่หากเป็นการถอยจอดในพื้นที่ที่ไม่มีรถขวาง ตามหลักสูตรสอบใบขับขี่จะต้องเปลี่ยนเกียร์ได้ไม่เกิน 7 ครั้ง เกินกว่านี้ถือว่าตก

     ยิ่งในรถยนต์ยุคใหม่ เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ถือเป็นตัวช่วยได้พอสมควรนะครับ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้ประโยชน์จากมันได้มากแค่ไหน งานนี้ไม่เกี่ยวกับว่าคนขับจะเป็นหญิงหรือชาย อายุมากหรืออายุน้อย แต่มันคือพื้นฐานเบื้องต้นของผู้ที่ถือใบอนุญาตขับขี่ควรจะต้องมีครับ

     ฉะนั้นลองไปสังเกตกันดูนะครับ เวลาคุณถอยรถเข้าซอง คุณเปลี่ยนเกียร์ไปทั้งหมดกี่ครั้ง

 

 

เครดิต www.sanook.com