ปัญหาจอดรถหน้าบ้านพักอาศัยผู้อื่น หรือ หน้าอาคารพาณิชย์ กลายเป็นปัญหาหนักหน่วงขึ้นทุกทีในสังคมไทย ทั้งที่ความเป็นจริงนั้นรู้กันดีอยู่แล้วว่า ไม่สมควรจอดรถขวางหน้าบ้านพักอาศัยผู้อื่น หรือ หน้าอาคารพาณิชย์ที่ประกอบการค้าและมีรถเข้าออกประจำ

แต่ถึงแม้จะรู้กันอยู่แก่ใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องไม่สมควร หากหลายคนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น มักจะใช้ข้ออ้างว่าจอดไม่นาน หรือประโยคสำเร็จรูปตำหนิเจ้าของบ้านหรือเจ้าของอาคารให้มีความผิดไปเลยว่า “ไม่มีน้ำใจ” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการจอดรถขวางทางเข้าออกอาคารนั้นมีความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522

วิธีคิดว่าคนอื่นควรมีน้ำใจ ให้กับการเอาเปรียบของตนเองควรจะหมดหรือลดน้อยลงไปจากสังคมได้แล้ว ส่วนกรณีคุณป้าที่ออกมาทุบรถนั้นไม่มีใครสนับสนุนการใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว แต่คนในสังคมไทยส่วนหนึ่ง เมื่อทำได้หนึ่งครั้งแล้วไม่มีใครทำอะไร ก็จะทำครั้งต่อๆไปโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง แถมจะแปรเปลี่ยนความถูกต้องให้กลายเป็นของตนเองเพราะที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าห้าม

ถ้าอยากให้สังคมน่าอยู่กว่านี้ลองมาดูกันว่า พื้นที่ถนนตรงไหนบ้างที่เราจอดรถไม่ได้ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 57

1. บนทางเท้า หรือฟุตบาทสำหรับคนทั่วไปไว้เดิน

– ในความเป็นจริงทุกวันนี้บนทางเท้าเต็มไปด้วยการจอดรถจักรยานยนต์รับจ้างรถยนต์ที่หาที่จอดรถไม่ได้ บางที่มีเหล็กทำเป็นทางลาดเพื่อให้รถได้ขึ้นไปจอดบนทางเท้าเลยด้วยซ้ำ

2. บนสะพานหรืออุโมงค์

– ในความเป็นจริง ถ้าคุณมีโอกาสไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คุณจะเห็นรถจอดบนสะพานที่เชื่อมต่อไปยังอาคารผู้โดยสารอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งรถส่วนบุคคล และ รถแท๊กซี่ แม้จะรู้ว่าห้ามจอดแต่ยังจอด เพราะคิดแค่ว่า จอดรอแป๊ปเดียว

3. ในทางร่วมทางแยก หรือในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก

– ในความเป็นจริง ทางร่วมแยกนั้นหมายถึงทางที่ถนนสองเส้นมาบรรจบกันแล้วจะมีพื้นที่ตรงกลางลักษณะสามเหลี่ยมเรามักเห็นรถที่ยังไม่รู้ไปทางไหน มาจอดบนทางร่วมแยก และหลายคน ใช้ทางร่วมแยกในการถอยหลัง เพื่อกลับเข้าสู่เส้นทางที่ตนเองต้องการ นี่คือพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด

4. ห้ามจอดในทางข้ามหรือในระยะ 3 เมตรจากทางข้าม

– ในความเป็นจริง และกลายเป็นเรื่องปกติ เรามักเห็นรถจอดทับทางข้ามเลยด้วยซ้ำ

5. ห้ามจอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามจอดรถ

– ในความเป็นจริง คุณคงเห็นอยู่แล้วว่า เครื่องหมายห้ามจอด และขอบขาวแดง ไม่เคยทำให้คนเกรงกลัวได้ บางคันจอดแช่ไว้ชนิดข้ามคืนข้างป้ายเลยทีเดียว

6. ห้ามจอดรถ ในระยะ 3 เมตร จากท่อน้ำดับเพลิง

– ในความเป็นจริง ไม่เคยมีรถคันไหนเว้นระยะได้สามเมตรจากท่อน้ำดับเพลิง เพราะทุกคนคิดว่าการจอดของตนเองอาจไม่นานและไม่น่าจะเกิดอะไร แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นมารถของคุณ จะถูกลากออกจากที่เกิดเหตุอย่างไม่ปราณีเลยทีเดียว

7. ห้ามจอดรถในระยะ 10 เมตร จากที่ดินตั้งสัญญาณจราจร

– ในความเป็นจริง ถ้าคุณมีโอกาสใช้ท้องถนนในช่วงค่ำคืนคุณจะเห็นทุกแยกไฟจราจรมีรถจอดอยู่หนึ่งคันเสมอ

8. ห้ามจอดในระยะ 15 เมตรจากทางรถไฟผ่าน

– ในความเป็นจริงที่ของการรถไฟในกทม. แทบจะเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ทองคำ และมีไม่น้อยที่ถูกใช้เป็นที่จอดรถเพราะเป็นพื้นที่ภายในตัวเมือง ถ้านึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงถนนเลียบทางรถไฟมักกะสันดู แล้วคุณจะคิดออกว่า รถจอดบริเวณทางรถไฟผ่านนั้นเป็นอย่างไร

9. ห้ามจอดซ้อนกันกับรถอื่นที่จอดอยู่ก่อนแล้ว

– ในความเป็นจริง คนที่คิดว่าจอดไม่นาน แป๊ปเดียวเอง จะมีอยู่มากกว่ามนุษย์ที่คิดถึงผู้อื่น กรณีจอดรถซ้อนคันจนทำให้คนอื่นออกไม่ได้นั้น ทำให้มีคนต้องติดคุก หรือ เข้าโรงพยาบาลกันมาแล้ว

10. ห้ามจอดรถตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถหรือในระยะ 5 เมตร จากปากทางเดินรถ

– ในความเป็นจริง เรามักเห็นป้ายห้ามจอดรถกีดขวางหน้าบ้าน หลายต่อหลายที่ของกทม. ในหมู่บ้านที่ว่าหรูหรา ไปจนถึงหมู่บ้านของคนทั่วไป การจอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่นดูจะเป็นเหตุที่หลายคนจำใจยอมรับสภาพทั้งที่ในความจริงแล้วกำลังถูกเอาเปรียบจากคนผิด

11. ห้ามจอดรถในระหว่างเขตปลอดภัยกับขอบทางหรือในระยะ 10 เมตร นับจากปลายสุดของเขตปลอดภัยทั้งสองข้าง

เขตปลอดภัยหมายถึงพื้นที่ในทางเดินรถที่มีเครื่องหมายแสดงไว้ให้เห็นได้ ชัดเจนทุกเวลา สำหรับให้คนเดินเท้าที่ข้ามทางหยุดรอหรือให้คนที่ขึ้นหรือลงรถหยุดรอก่อนจะ ข้ามทางต่อไปในความเป็นจริง แม้ป้ายสัญญาณจะชัดเจนแค่ไหน แต่เราก็จะเห็นคนจอดรถแบบเย้ยฟ้าท้ากฎหมายเลยทีเดียว

12. ห้ามจอดรถในที่คับขัน หมายความว่า ทางที่มีการจราจรพลุกพล่านหรือมีสิ่งกีดขวาง หรือในที่ซึ่งมองเห็นหรือทราบได้ล่วงหน้าว่าอาจเกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่รถหรือคนได้

– ในความเป็นจริง ถ้าคุณมีโอกาสไปเดินตลาดในกทม. คุณจะรู้ว่าพ.ร.บ ฉบับนี้่ไม่สามารถทำอะไรพวกเขาได้ และเหนืออื่นใด ตลาดนัดทั้งหลายนั้น ไม่รับผิดชอบด้วยว่าคนที่มาตลาดนั้นจะมีพื้นที่จอดรถตรงไหนบ้าง

13. ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทางและให้จอดเลยเครื่องหมายไปอีก 3 เมตร

– ในความเป็นจริง บริเวณป้ายรถเมล์นั้นมีทั้งรถนั่งส่วนบุคคล และ รถแท๊กซี่ จอดต่อแถวกันยาว ถ้าคุณไม่ชิน ลงไปซอยอารีย์แล้วคุณจะเป็นว่ารถเมล์นั้นไม่สามารถเข้าป้ายกันได้เลย

14. ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตรจากตู้ไปรษณีย์

– ในความเป็นจริง ตู้ไปรษณีย์ เปรียบเสมือน จุดสังเกตให้กับรถที่กำลังมีคนขับเห็นแก่ตัว และหลายคนคิดว่าไม่ผิด แต่คงลืมนึกไปว่าการจอดของพวกเขานั้นจะทำให้บุรุษไปรษณีย์ นั้นลำบากแค่ไหน

15. ห้ามจอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร

– ในความเป็นจริงคนที่อยู่ในซอย ประเภทรถสวนกันเลนเดียวนั้นเข้าใจได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรถคันข้างหน้าจะจอดรถเพื่อลงไปซื้อกล้วยทอด เพียงเท่านี้ก็ทำให้การจราจรในซอยเล็กๆ กลายเป็นอัมพาตได้แล้ว

     ทั้งนี้ 15 ข้อนี้เป็นพระราชบัญญัติที่ใครก็ฝ่าฝืนไม่ได้ โดยความผิดตามมาตรา 57 นั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และผู้ประสบเหตุตรงกับหนึ่งใน 15 ข้อสามารถแจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดีได้เลย

 

 

เครดิต www.sanook.com

 

ครีบแปรผันเทอร์โบ Revo มีกี่แบบ?