การโดยสารรถจักรยานต์ยนต์รับจ้าง หรือวินมอเตอร์ไซค์ แม้เราจะระมัดระวังตัวแค่ไหนก็ตาม แต่ขึ้นชื่อว่า อุบัติเหตุ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา

การเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นิยม โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งรีบ การจราจรติดขัด เพราะสามารถขับซอกแซกและเร่งความเร็วให้เราไปถึงที่หมายได้ทันเวลา แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ผู้โดยสารสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากวินมอเตอร์ไซค์ได้ โดยใช้ พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ ของรถที่คุณนั่งซ้อนมานั่นเอง ซึ่ง พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์ ให้ความคุ้มครอง ดังนี้

ความคุ้มครองของ พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์

ผู้ประสบภัย สามารถเบิกใช้สิทธิ์จาก พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยใช้เอกสาร พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ ของวินมอเตอร์ไซค์คันที่เรานั่งซ้อนมา เพื่อใช้ในการเคลม พ.ร.บ. โดยจะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น

ค่าเสียหายเบื้องต้น

  • กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล (จ่ายตามจริง) ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
  • กรณีได้รับความเสียหายต่อร่างกาย (สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ) จำนวน 35,000 บาทต่อคน
  • กรณีเสียชีวิต เบิกจ่ายเป็นค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาทต่อคน
  • กรณีได้รับบาดเจ็บและสูญเสียอวัยวะ หรือ เสียชีวิตในภายหลัง สามารถเบิกจ่ายได้ไม่เกินคนละ 65,000 บาท

กรณีเกิดอุบัติเหตุ พิสูจน์แล้วว่าทางฝั่งรถเราเป็นฝ่ายถูก

เมื่อพิสูจน์แล้วว่าอุบัติเหตุในครั้งนี้ทางฝั่งรถเราเป็นฝ่ายถูก พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์จะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมซึ่งครอบคลุมตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ดังนี้

  • ค่ารักษาพยาบาลตามค่าใช้จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 80,000 บาท
  • หากเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ จะได้รับเงินชดเชย 300,000 บาท
  • หากสูญเสียอวัยวะ จะแบ่งออกเป็น
  1. นิ้วขาด 1 ข้อขึ้นไป ชดเชย 200,000 บาท
  2. สูญเสียอวัยวะ 1 ส่วน ชดเชย 250,000 บาท
  3. สูญเสียอวัยวะ 2 ส่วน ชดเชย 300,000 บาท
  • หากต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยใน จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน

กรณีเกิดอุบัติเหตุ พิสูจน์แล้วว่าทางฝั่งเราเป็นฝ่ายผิด

สำหรับกรณีที่เกิดอุบัติเหตุซึ่งมีการพิสูจน์ทราบแล้วว่าทางฝั่งรถเราเป็นฝ่ายผิด หากเกิดการบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ผิดจะได้รับความคุ้มครองแค่ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนฝ่ายที่ถูกจะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้น และได้รับเงินสินไหมทดแทนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยจะเป็นผู้เบิก พ.ร.บ.ด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่น หรือให้โรงพยาบาลตั้งเบิกกับบริษัทประกันภัยก็ได้ ซึ่งปัจจุบัน ทุกโรงพยาบาลจะเป็นผู้รับมอบอำนาจเบิกแทนผู้ประสบภัย และหากกรณีได้รับบาดเจ็บสาหัส และมีค่ารักษาเกินกว่า 30,000 บาท จะสามารถเบิกใช้สิทธิ์ได้จากวงเงิน ค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน 30,000 บาท ส่วนเกินที่เหลือ ผู้ประสบภัยหรือทายาท สามารถตัดสินใจเบิกส่วนเกินดังกล่าวเพิ่มเติมได้จาก

  • สิทธิ์บัตรทอง 30 บาท (ถ้ามี)
  • สิทธิ์ประกันสังคม (ถ้ามี)
  • ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (ถ้ามี)
  • ประกันรถจักรยานยนต์ ของวินมอเตอร์ไซค์ (ถ้ามี)

เอกสารเบิก พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์

  • สำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (ของผู้ประสบภัย หรือทายาทโดยธรรม)
  • สำเนาใบขับขี่ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (ของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์)
  • สำเนาทะเบียนรถ (ถ้ามี)
  • เอกสาร พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ ของรถคันที่ประสบเหตุ
  • บันทึกประจำวันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  • ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล
  • ใบรับรองแพทย์
  • ใบมรณบัตร (กรณีเสียชีวิต)
  • หนังสือรับรองคนพิการ (กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือ ทุพพลภาพ)

สำหรับ พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์ นั้นให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัยในทุกกรณี ไม่ว่าวินมอเตอร์ไซค์คันที่นั่งมาจะไม่มีใบขับขี่ ทะเบียนรถหมดอายุ หรือว่าเมาแล้วขับก็ตาม

 

 

ข้อมูลจาก : masii.co.th

เครดิต www.autospinn.com

 

ไดชาร์จ D-max 4JJ1/4JK1 เป็นยังไงไปดู