หลายคนยังมีความไม่แน่ใจในการใช้งานรถไฟฟ้า ว่ามันจะใช้งานยากไหม โดยเฉพาะเวลาชาร์จแบตเตอรี่ จนถึงมีคำถามล้ำหน้าไปกว่านั้นว่า แล้วถ้าเราเสียบชาร์จบ่อย ๆ แบตเตอรี่ก็เสื่อมง่ายสิ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน

ถ้าใครที่อยู่ในวัยที่โทรศัพท์มือถือยังคงใช้แบตเตอรี่แบบ Ni-Cd, Ni-MH, Li-PO หรืออื่น ๆ ก็จะคุ้นเคยกับการที่เราเริ่มใช้งานครั้งแรก ต้องชาร์จไฟทิ้งเอาไว้ก่อน 8 ชั่วโมง แล้วจะนับการชาร์จเป็น “จำนวนครั้ง” ก่อนที่แบตเตอรี่จะเริ่มเสื่อมลง ก็เลยมักจะเอาความเชื่อนี้ มารวมกับการชาร์จแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion ที่ใช้งานอยู่บนรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ก็ต้องชี้แจงให้เข้าใจตรงกันวันนี้เลยว่า ข้อมูลนี้ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้เลย

แบตเตอรี่แบบ Lithium-ion ที่ใช้งานบนรถยนต์ไฟฟ้านั้น จะมีรูปแบบในการนับรอบการชาร์จที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นถ้ารถไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง ระบุเอาไว้ว่า จะมีรอบในการชาร์จไฟฟ้าอยู่ที่ 1,000 Cycle นั่นหมายความว่า เราสามารถชาร์จไฟรถไฟฟ้าคันนี้ได้รวม 1,000,000% ก่อนที่แบตเตอรี่จะเริ่มเสื่อมตัวลง สมมุติว่า ผมเริ่มใช้งานรถไฟฟ้าคันนี้เริ่มครั้งแรกอยู่ที่ 100% (ไม่ต้องสนใจเรื่องระยะทาง) ตกเย็นผมถึงบ้านหมดไฟไป 20% ผมก็เสียบปลั๊กชาร์จไว้จนไฟเต็ม 100% ผมขับไปอีกรอบในวันนี้จนไฟฟ้าหมดไปจนเหลือ 60% จากนั้นผมก็จะชาร์จไฟฟ้าอีก เช้ามาผมขับไปจนไฟฟ้าเหลือ 60% แล้วก็ทำการชาร์จอีกจนเต็ม หมายความว่าผมชาร์จไฟฟ้าใน 3 ครั้งนี้เพียงแค่ 1 Cycle (20% + 40% + 40%)  ไม่ใช่ 3 ครั้งเหมือนกับการชาร์จโทรศัพท์ในยุคเก่า ดังนั้นคุณไม่ต้องรอให้จำนวนไฟลดต่ำลงถึงระดับน้อยกว่า 40% แล้วค่อยชาร์จก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ก็จะให้ผลออกมาแทบไม่แตกต่างกันเลย

คำถามต่อมาก็คือ แล้วหลังจากครบ Cycle ตามที่กำหนดเอาไว้ แล้วแบตเตอรี่จะเสื่อมจนใช้งานไม่ได้เลยหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่าส่วนใหญ่แล้ว เมื่อครบ Cycle ตามที่กำหนดเอาไว้ แบตเตอรี่จะยังมี State-of-Health หรือ SOH หรือคุณภาพในการเก็บไฟฟ้าในแบตเตอรี่ อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 80% จากตอนใช้งานครั้งแรก และจะยังใช้งานได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าเราจะไม่สามารถวิ่งได้เท่าเดิมตอนที่เราออกรถป้ายแดงนั่นเอง

แต่ถ้าเรามามองในโลกของความเป็นจริง ค่ายรถไม่เคยบอกเราว่า ค่า Cycle ของแบตเตอรี่บนรถไฟฟ้าของเขานั้นอยู่ที่เท่าไหร่ วิธีที่ใช้ของเขาก็คือการรับประกันแบตเตอรี่ในรูปแบบของระยะทางหรือระยะเวลาของการใช้งานรถยนต์ใหม่คันนั้น เช่น รับประกันแบตเตอรี่ระยะเวลา 8 ปีหรือ 150,000 กม. ไม่มีค่ายไหนรับประกันว่า จะชาร์จได้จำนวนกี่ Cycle คำถามต่อมาก็คือ แล้วค่ายเขาดูว่าแบตเตอรี่เสื่อมคืออยู่ในระดับไหน ต้อง 0% เลยหรือเปล่าถึงเรียกว่าแบตเตอรี่เสื่อม คำตอบคือแล้วแต่ค่ายครับ แต่เท่าที่มีข้อมูลมาคือจะมี SOC อยู่ที่ 70 – 80% แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องตรวจสอบกับทางค่ายดูอีกครั้งว่าอยู่ที่เท่าไหร่ สุดท้ายแล้วส่วนใหญ่ตัว Cycle ที่ทำได้ ก็มักจะเกินระยะรับประกันอยู่แล้ว อย่างเช่นของ Tesla เอง สื่อรถยนต์ในต่างประเทศก็ได้มีการทดสอบแล้วว่า Cycle ในการชาร์จแบตเตอรี่ก็อยู่ในระดับเกิน 1,000 Cycle ทั้งนั้น ระยะทาง 1 Cycle ก็เกิน 400 กิโลเมตรขึ้นไปทั้งนั้น ดังนั้นถ้าใช้ครบ 1,000 Cycle รถไฟฟ้าก็จะวิ่งได้ในระบบ 400,000 กิโลเมตรอยู่แล้ว คนที่อยากใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าแต่ยังมีคำถามเรื่องแบตเตอรี่อยู่ ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้เลยครับ ตอนนี้ให้ห่วงค่าประกันภัยชั้น 1 ที่ราคายังสูงปรี๊ดอยู่ดีกว่าครับ

 

 

เครดิต www.autodeft.com

 

เทอร์โบ 4JA1 ของ GZL ดีจริงไหม?