ขับรถเกียร์ออโต้ลงเขา อย่างไรให้ปลอดภัย

        หน้าหนาวแบบนี้เชื่อเลยว่า หลายคนคงจะเดินหน้าหาที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะหนาวแบบนี้มันต้องขึ้นเขาขึ้นดอยไปสัมผัสอากาศหนาวๆ ให้มันรู้กันไปว่าเมืองไทยก็หนาวนะ แต่ว่าการเดินทางอาจกลายเป็นหายนะได้ ถ้าคุณไม่รู้ว่าขึ้นไปแล้วจะลงให้ปลอดภัยได้อย่างไร และนักเที่ยวหลายคนก็ฟังเขามาแบบผิดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเกียร์ออโต้ทั้งนั้น

        รถเกียร์ออโต้ หรือระบบเกียร์อัตโนมัติอาจจะขับสบายในทางราบหรือช่วยได้มากในยามรถติด แต่ขับลงเขานั้นคุณก็ต้องยกเอาองคาพยพเทคนิคมาใช้กันหน่อยเพื่อความปลอดภัย และต่อไปนี้คือคำแนะนำจากผม ถ้าเผื่อคุณต้องขับรถเกียร์ออโต้ลงเขา

1.ใช้ความเร็วที่เหมาะสม  การขับลงเขาจำไว้ว่าคุณต้องขับอย่างปลอดภัย พยายามใช้ความเร็วเหมาะสมในการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่ยังขับรถยนต์ยังไม่แข็ง หรือเพิ่งขับรถได้ไม่นาน จำไว้ว่า ความเร็วในยามลงเขาคือทุกอย่าง มันหมายถึงการเข้าโค้งยากขึ้น หรือต้องไวมากขึ้น ดังนั้นใช้ความเร็วให้เหมาะสมดีกว่า

2.ใช้โหมดเปลี่ยนเกียร์เอง ปัจจุบันรถยนต์เกียร์ออโต้จะมีโหมดเปลี่ยนเกียร์ด้วยตัวเอง หรือบางครั้งอาจจะเรียกว่า Manual Mode  ซึ่งอาจจะแตกต่างไปตามผู้ผลิต สังเกตง่ายๆที่คันเกียร์ คุณจะมีจังหวะบวกหรือลบ ทางด้านซ้ายหรือด้านขวา และบ้างอาจจะมาเป็นที่เปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย เป็นแป้นให้คุณโยกได้ หรือที่เรียกว่า “Paddle Shift”  

หรือถ้าใครใช้รถเกียร์ออโต้รุ่นเก่าอาจจะมีตำแหน่ง D3 ก็ช่วยได้เช่นกัน แต่เกียร์อาจจะกระชากหน่อย โดยเฉพาะรถเกียร์ออโต้   5   สปีด

ในการขับบนเขาพยายามใช้มันให้เป็นประโยชน์เสมอ เพราะการเชน(เปลี่ยน)เกียร์ลงจากตำแหน่ง สูงไปตำ เช่น   4  ไป  3  เป็นต้น จะทำให้เกิดแรงหน่วงจากอัตราทดเกียร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้รถมีอาการช้าลงอย่างรวดเร็วทำให้คุณลงเขาได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งอาการดังกล่าวเรียกว่า แรงแบรกจากกลไกเครื่องยนต์ หรือ Engine Brake ให้ สังเกตว่ารอบเครื่องยนต์จะเพิ่มสูงขึ้น และเครื่องครางเสียงดังขึ้น แต่พยายามอย่าให้เครื่องยนต์ทำงานเกิน 4,000 รอบนะครับ มันสูงไป หากสูงเกินก็เพิ่มเกียร์แล้วค่อยลดใหม่อีกที

3. อย่าเบรกยาว นักขับเกียร์ออโต้ส่วนใหญ่ ถูกสอนมาให้วางใจเบรก และมันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในการขับขี่อย่างเดียวในยุคนี้ อันที่จริง เบรกคืออุปกรณ์ห้ามล้อช่วยลดความเร็ว แต่มันไม่ใช่ทั้งหมดอย่างที่คุณคิด การใช้เบรกยาวๆ เวลาลงเขา ส่งผลให้เบรกทำงานหนัก และในไม่ช้า ผ้าเบรกจะเกิดความร้อนสะสม จนการทำงานด้อยประสิทธิภาพ จนทำให้เบรกไม่อยู่ หรือที่กูรูหลายคนรวมถึงผม เรียกมันว่า “เบรกเฟด” คือ เหยียบแล้ว แต่เหมือนรถไม่มีเบรก มันอันตรายมาก โดยเฉพาะในการลงเขา

วิธีการคือ อย่าทะเล่อเหยียบเบรกยาวๆ แต่ให้เหยียบในจังหวะหนึ่งแล้วยอมปล่อยเบรกบ้าง เหยียบเมื่อความเร็วลดจนพอใจ ก็ปล่อยแป้นเบรก อาจจะดูขัดในความเป็นจริง แต่การทำแบบนี้เพื่อให้ผ้าเบรกได้มีการระบายความร้อนในระดับหนึ่ง และเมื่อนั้นรถจะใช้งานประสิทธิภาพเบรกได้อย่างดี

4.เรียนรู้เส้นทาง เคล็ดไม่ลับหนึ่งในการขับทางเขา คือทำความคุ้นเคยกับเส้นทาง แต่ถ้าคุณไม่ได้มาบ่อย ให้ใช้การอ่านป้ายจราจร อ่านลักษณะโค้ง หรือลักษณะทางให้แม่นยำ มันช่วยได้เสมอ ในการขับลงเขา เพราะคุณจะรูว่าต่อไปจะเจออะไร โค้งแบบไหน แล้วเตรียมตัวให้ดี  หรือในเส้นทางที่มืดมิดเส้นจราจรคือเพื่อนที่แสนดีเสมอ ที่จะบอกว่า คุณจะต้องไปทางไหน

5.เว้นระยะห่าง เมื่อลงเขาจำไว้เสมอที่จะพยายามรักษาระยะห่าง ในการขับขี่เสมอ อย่าจี้คันหน้า เพราะคุณจะได้เห็นเส้นทางอย่างชัดเจน และตัดสินใจในการควบคุมรถได้อย่างถูกต้อง

6. อย่าใช้เทคนิคพิเศษ อ่านในหลายกลุ่มพบเห็นการให้คำแนะนำแปลกๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังดีจากผู้ที่ขับรถชำนาญ แต่มันจะกลายเป็นการทำร้ายคนที่ขับรถยังไม่เซียน อาทิ การดึงเบรกมือ หรือการให้เหยียบเบรกในระหว่างขับขี่ในทางลงเขา ทั้งหมดที่บอกนั้น ผมกล้าพูดว่าไม่จำเป็น ถ้าคุณไม่ใช่พวกบ้าความเร็วซิ่งลงเขา ที่จะต้องทำอะไรให้มันพิสดาร แถมแทนที่จะเป็นเรื่องดี อาจจะทำให้คุณคุมรถไม่ได้ นำไปสู่อุบัติเหตุ ดังนั้นขับธรรมดาๆ ค่อยๆไป ไม่ต้องรีบครับ

        ดังนั้น จับจังหวะเส้นทางให้ถูก เปลี่ยนเกียร์ให้เหมาะสม ใช้ความเร็วในการเดินทางแต่พอดี ที่เหลือควบคุมรถให้ไปตามทางตามที่ควรจะเป็น ก็ไม่มีอะไรยากเลย

        การขับรถลงเขาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พวกเราหลายคนทำกันบ่อยนัก แต่ถ้าวันนี้คุณเดินทางไปรับลมหนาว การขับรถลงเขาเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และ คุณควรจะขับให้ปลอดภัย เพื่อดื่มดำการเที่ยวในฤดูหนาวให้สนุกสนาน

เครดิต www.autodeft.com