รายละเอียดการเพิ่มเพดานกำหนดจำกัดความเร็วสูงสุดนั้น จะถูกบังคับใช้กับถนนทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงชนบท ที่มีทางเดินรถแบบจัดช่องแบ่งเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ (4 ช่องจราจรทั้งไปและกลับ) และมีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น หรือ Barrier Median เท่านั้น โดยต้องไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน นั่นหมายความว่าจะต้องเป็นถนนที่มีที่กลับรถแบบสะพานเกือกม้าหรือกลับรถใต้สะพานเท่านั้น

     โดยกำหนดความเร็วสูงสุดบนเส้นทางลักษณะดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับประเภทของรถ ดังนี้

รถยนต์

  • ความเร็วสูงสุด 65 กม./ชม. สำหรับรถในขณะที่ชักจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ
  • ความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม.​ สำหรับรถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียน
  • ความเร็วสูงสุด 90 กม./ชม. สำหรับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม รถบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน
  • ความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม.​ สำหรับรถบรรทุกผู้โดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน
  • ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.​ สำหรับรถยนต์อื่นๆ นอกเหนือจากข้างต้น

รถจักรยานยนต์

  • ความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม.​ สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีความจุต่ำกว่า 400 ซีซี
  • ความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม. จักรยานยนต์ที่มีความจุ 400 ซีซี หรือกำลังสูงสุดมากกว่า 35 kW (หรือประมาณ 47.5 แรงม้า [PS] ขึ้นไป)

     นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดความเร็วขั้นต่ำสำหรับช่องทางขวาสุดของทางเดินรถในทางหลวง ที่แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องทางขึ้นไป (ทั้งไปและกลับ 4 ช่องจราจรขึ้นไป) ให้ใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. โดยให้ใช้ความเร็วตามความเหมาะสมบนเขตทางที่มีป้ายหรือเครื่องหมายจราจรที่แสดงว่าเป็นเขตอันตราย

     ในกรณีที่มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดต่ำกว่าที่กำหนดไว้ข้างต้น ไม่ว่าตลอดทางเดินรถหรือช่วงใดช่วงหนึ่ง ให้ผู้ขับขี่รถทุกประเภทใช้ความเร็วไม่เกินอัตราสูงสุดที่กำหนดไว้ ยกเว้นในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากมีข้อกำหนดด้านปริมาณรถ หรือเหตุขัดข้องอื่นอันมีเหตุสมควร

 

 

เครดิต www.sanook.com