ชมทดสอบการชน ที่ศูนย์โตชิกิ ญี่ปุ่น

Crash Test HONDA CR-V vs HONDA FIT [ASEAN NCAP]

ระหว่างทริปโตเกียว มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 ปี 2015 ประเทศญี่ปุ่น บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด นำสื่อมวลชนจากประเทศไทยไปชมทดสอบการชนที่ศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ (โตชิกิ)

เพื่อพิสูจน์มาตรฐานความปลอดภัยระดับ 5 ดาวของฮอนด้า CR-V, ซิตี้ และแจ๊ซ

ฮอนด้ายังคว้า 6 รางวัลกรังด์ปรีซ์ อวอร์ด 2014 จาก ASEAN NCAP ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ยนตรกรรมที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง

อาคารทดสอบการชนในร่มที่บริษัท ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี จำกัด ศูนย์โตชิกิ สามารถทดสอบการชนได้ในทุกสภาพอากาศ เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2543 ด้วยเงินลงทุนกว่า 6,800 ล้านเยน (หรือประมาณ 2,100 ล้านบาท) รองรับการทดสอบการชนกับวัตถุกีดขวาง และการชนระหว่างรถสองคันที่จำลองจากสถานการณ์อุบัติเหตุจริงบนท้องถนนได้ด้วย

อาคารแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 41,000 ตารางเมตร และมีเลนทดสอบทั้งหมด 8 เลนที่สร้างขึ้นให้มีลักษณะเป็นรัศมีของวงกลม โดยเลนทดสอบแต่ละเลนมีมุมห่างกัน 15 องศา รองรับการชนได้จากทุกทิศทาง

สามารถทดสอบการชนระหว่างรถสองคันที่มีความเร็วต่างกัน รวมถึงรถสองคันที่มีขนาดต่างกัน เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุก

นอกจากนี้ยังสามารถจำลองอุบัติเหตุการชนระหว่างรถยนต์และคนเดินเท้าได้อีกด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการวิเคราะห์สถานการณ์การชนในแนวกว้าง

เนื่องจากเป็นอาคารทดสอบการชนในร่มจึงสามารถทดสอบการชนได้ในทุกสภาพอากาศ และยังช่วยลดเวลาการวิจัยและพัฒนา



หลังจากสื่อมวลชนไทยและสื่อมวลชนอาเซียนได้ฟังบรรยายสรุปจบ ก็เดินเข้าสู่อาการทดสอบการชน (ห้ามถ่ายภาพ) ภายในอาคารกว้างขวางคล้ายโดมขนาดใหญ่ และเรายืนกันเหมือนรอชมการแข่งขันกีฬาอยู่บนอัฒจันทร​์ ไม่มีที่ปิดหู ไม่มีแว่นตากันเศษวัสดุ เพราะยืนอยู่ห่างมาก เรื่องความปลอดภัยต้องให้ญี่ปุ่นมาอันดับ 1 อยู่แล้ว

เริ่มจากเปิดผ้าคลุมโชว์รถที่จะพิสูจน์การชน คือฮอนด้า CR-V และฮอนด้า ฟิต (แจ๊ซ) จากนั้นก็ขับไปจอดด้านข้าง และมาถึงวินาทีการวิ่งชนจากความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

มีกล้องมากมายหลายตัว รวมถึงกล้องจากด้านล่างด้วย หลังวินาทีชนแบบเฉียง เสียงดังสนั่นแล้ว ทีมงานก็ลงมาเก็บกวาด เอาพื้นปิดร่องให้เดินสะดวก แล้วเชิญสื่อมวลชนลงไปชมอย่างใกล้ชิด จะเห็นว่าเสา A ยังคงสภาพ ห้องโดยสารไม่ยุบ

ฮอนด้ามุ่งมั่นใช้อาคารทดสอบการชนแห่งนี้ ในการจำลองสถานการณ์อุบัติเหตุจริงบนท้องถนน เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์ไปอีกขั้น

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับอาคารทดสอบการชน

พื้นที่ทั้งหมด : 41,000 ตารางเมตร (ประมาณ 25.625 ไร่)
ขอบเขตอาคาร : ทิศเหนือจรดทิศใต้ 272 เมตร
ทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก : 178 เมตร
ความสูงหลังคา : 15 เมตร
เลนทดสอบทั้งหมด : 8 เลน (0 องศา 15 องศา 30 องศา 45 องศา 60 องศา 75 องศา 90 องศา 180 องศา)
ความยาวของเลนทดสอบ : 130 เมตร ในแต่ละเลน (เมื่อรวมทั้งสองด้านมีความยาวสูงสุด 260 เมตร)
อัตราเร่งสูงสุด : 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (เมื่อรถสองคันวิ่งเข้าหากัน)

CR-V ผ่านการทดสอบสมรรถนะความปลอดภัยในระดับ 5 ดาว

ล่าสุดมีรถยนต์รุ่นที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยระดับ 5 ดาวของ ASEAN NCAP (ASEAN New Car Assessment Program) จากสถาบันวิจัยความปลอดภัยบนท้องถนนของมาเลเซียเพิ่มเติมอีก 3 รุ่นในปี 2557

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ฮอนด้า CR-V ผ่านการทดสอบสมรรถนะความปลอดภัยในระดับ 5 ดาว จากการทดสอบการชนด้านหน้าแบบเยื้องศูนย์ ซึ่งได้คะแนน 15.46/16.00 ด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่ (Adult Occupant Protection: AOP) และได้คะแนน 86 เปอร์เซ็นต์ ด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นเด็ก (Child Occupant Protection : COP)

แจ๊ซ ผ่านการทดสอบสมรรถนะความปลอดภัยในระดับ 5 ดาว

จากการทดสอบในเดือนกรกฎาคม ฮอนด้า ซิตี้ และฮอนด้า แจ๊ซ รุ่นปี 2557 ได้ผ่านการทดสอบสมรรถนะความปลอดภัยในระดับ 5 ดาว โดยฮอนด้า ซิตี้ ได้คะแนน 15.80/16.00 และฮอนด้า แจ๊ซ ได้คะแนน 15.58/16.00 ด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่ (AOP) และได้คะแนน 83 เปอร์เซ็นต์ กับ 71 เปอร์เซ็นต์ ด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นเด็ก (COP) ตามลำดับ

ฮอนด้ารับ 6 รางวัล กรังด์ปรีซ์ อวอร์ด 2014

นอกจากนี้ ฮอนด้ายังได้รับ 6 รางวัล กรังด์ปรีซ์ อวอร์ด 2014 ซึ่งทาง ASEAN NCAP ได้ทำการจัดมอบเป็นครั้งแรกเพื่อฉลองความสำเร็จของรถยนต์ที่เข้าร่วมการทดสอบการชนของ ASEAN NCAP ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรางวัลมาตรฐานความปลอดภัยที่ฮอนด้าได้รับ ได้แก่

รางวัลยอดเยี่ยมด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่ (Best Adult Occupant Protection : AOP)

  • กลุ่มรถยนต์นั่งสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก : ฮอนด้า ซิตี้
  • กลุ่มรถสปอร์ตอเนกประสงค์ : ฮอนด้า CR-V
  • คะแนนสูงสุดในด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่ (Best Overall AOP) : ฮอนด้า ซิตี้

รางวัลยอดเยี่ยมด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นเด็ก (Best Child Occupant Protection : COP)

  • กลุ่มรถยนต์นั่งสำหรับครอบครัวขนาดกลาง : ฮอนด้า ซีวิค
  • กลุ่มรถยนต์สปอร์ตอเนกประสงค์ : ฮอนด้า CR-V

รางวัลเทคโนโลยีความปลอดภัย (Safety Technology Award)

  • เทคโนโลยี Honda LaneWatch ระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ช่วยลดจุดบอดและเพิ่มทัศนวิสัยด้านข้างขณะเปลี่ยนเลน ซึ่งเป็นระบบที่ติดตั้งใน ฮอนด้า แอคคอร์ด เจนเนอเรชั่นที่ 9

Did You Know ?

+ ฮอนด้าเป็นบริษัทแรกในประเทศญี่ปุ่นที่ติดตั้งระบบเบรกป้องกันล้อล็อก และติดตั้งระบบถุงลม SRS ในรถยนต์
+ ฮอนด้าเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายแรกในโลกที่ก่อสร้างอาคารทดสอบการชนในร่ม เพื่อการวิจัยด้านความปลอดภัยในสถานการณ์อุบัติเหตุจริงบนท้องถนน

โครงสร้างตัวถังที่รองรับการชนคืออะไร

โครงสร้างตัวถังที่รองรับการชนยกระดับความปลอดภัยไปอีกขั้น โดยจะช่วยปกป้องผู้โดยสารในรถทั้งสองคันที่เกิดการชน ไม่ว่ารถที่ชนจะเป็นคันเล็กหรือคันใหญ่ก็ตาม

การเคารพปัจเจกบุคคลเป็นหนึ่งในปรัชญาของฮอนด้า และได้นำมาประยุกต์ใช้กับความปลอดภัยด้วย ฮอนด้าจึงได้มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างตัวถังที่รองรับการชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยี G-Force Control ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดแรงกระแทก (g-force) และลดการบาดเจ็บเมื่อเกิดการชน

ลักษณะการชนที่แตกต่างกัน 3 รูปแบบ

นักวิจัยของฮอนด้าได้เปิดเผยถึงความสำคัญของโครงสร้างตัวถังที่รองรับการชน เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่ตั้งแต่ในขั้นต้น ฮอนด้าได้เริ่มใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาโครงสร้างตัวถังที่ปลอดภัยมาตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายกำหนด

ฮอนด้าจึงได้เริ่มศึกษาลักษณะการชนที่แตกต่างกัน 3 รูปแบบ โดยได้นำลักษณะดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารในรถทั้งสองคัน และค้นหาวิธีการต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้วย

  1. ฬโครงสร้างด้านหน้ารถที่มีระดับต่างกัน เมื่อเกิดการชนจะไม่มีการดูดซับแรงกระแทก
  2. รถที่มีน้ำหนักต่างกัน เมื่อรถใหญ่ชนรถเล็ก จะทำให้รถเล็กเกิดแรงกระแทกไปด้านหลัง
  3. รถที่มีความแข็งแกร่งต่างกัน รถที่น้ำหนักมากกว่าจะทำให้เกิดความเสียหายกับรถที่มีน้ำหนักน้อยกว่า

จากการวิจัยของฮอนด้าพบว่า โครงสร้างตัวถังแบบเดิมดูดซับแรงกระแทกได้เฉพาะบริเวณโครงสร้างหลักของรถทั้งสองคันเท่านั้น ฮอนด้าจึงได้พัฒนาโครงสร้างตัวถังที่เพิ่มบริเวณที่รองรับแรงกระแทกเมื่อเกิดการชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. ช่วยให้โครงสร้างด้านหน้ารถอยู่ในระดับเดียวกัน
  2. ช่วยกระจายแรงจากการชนด้านหน้า
  3. ดูดซับแรงกระแทกได้มากขึ้น

จากการทดสอบการชนพบว่า โครงสร้างตัวถังที่รองรับการชนมีประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการปกป้องผู้โดยสารของรถทั้งสองคันมากกว่า แม้จะเป็นการชนระหว่างรถใหญ่กับรถเล็กก็ตาม

เครดิต www.gmcarmagazine.com