คาร์ซีทเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กหรือไม่

เมื่อวานบนโลกออนไลน์กลับมาฮือฮาอีกครั้ง เมื่อมีการเผยแพร่คลิป กรณีเด็กหญิงอายุราว 3-4 ขวบ ที่จู่ๆก็กลิ้งหล่นลงมาจากรถเก๋ง แต่เคราะห์ดีที่ไม่เกิดอันตรายกับเด็ก สร้างความหวาดเสียวสะท้านโลกออนไลน์ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันถึงความประมาทของผู้ปกครองเอง ที่ล็อคประตู และ ไม่จับลูกนั่ง คาร์ซีท (Car seat)

    คาร์ซีทสำคัญขนาดไหน

    ชมคลิปด้านบนแล้วน่าจะพอเดาได้ว่าคาร์ซีท จริงๆแล้วสำคัญมาก สำหรับบ้านไหนที่มีเด็กเล็ก ไม่ควรอุ้มเด็กเวลาโดยสารไปกับรถ เนื่องด้วย เวลาเกิดอุบัติเหตุ จะทำให้เด็กเกิดอันตรายร้ายแรง หรือ กระเด็นออกจากตัวรถได้ง่ายตามที่ปรากฏให้เห็นในคลิปการจำลอง ส่วนกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง ของลาเทรซ โจนส์ คุณแม่ยังสาววัย 20 ปี ชาวเทนเนสซี่ สหรัฐอเมริกา ที่ขับรถออกจากบ้านโดยพาลูกชายวัย 2 ขวบ นั่งไปด้วย แต่โชคร้ายเธอประสบอุบัติเหตุ ชนเข้ากับรถอีกคัน เหตุการณ์ครั้งนี้เธอไม่ได้รับอันตรายถึงชีวิต แต่กลับกลายเป็นลูกชายของเธอที่ต้องมาจบชีวิตด้วยอายุยังน้อย จากกรณีดังกล่าวทำให้ตำรวจตั้งข้อหาฆาตกรรมกับเธอ เนื่องจากความประมาทเลินเล่อ ที่ทำให้ลูกเธอเองต้องเสียชีวิต จากการที่ไม่ใช้คาร์ซีท

    คาร์ซีทกับการบังคับใช้กฎหมาย

    ประเทศไทย ถึงแม้ว่าประเทศไทยเราจะมีกฎหมายคุ้มครองเด็ก อายุตั้งแต่ 0-18 ปี อย่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เช่น มาตรา 23 กำหนดให้ผู้ปกครองต้องให้การอุปการระเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามกฎกระทรวง และมิให้ตกอยู่ในภาวะอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ อันเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่เด็ก-เยาวชนควรได้รับ แต่ในกรณีการเกิดอุบัติเหตุตามบนท้องถนนแล้ว ยังไม่มีกฎหมายใดเอื้อมไปคุ้มครองผู้โดยสารที่เป็นเด็กได้โดยตรง

    มาทางฝั่งต่างประเทศ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ยุโรป ได้ออกกฎหมายใน Directive 2003/20/EC แห่งรัฐสภายุโรป จนมีผลบังคับใช้อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวเด็กในยานพาหนะ โดยมีผลบังคับใช้กับผู้ปกครองที่มีเด็กสูงต่ำกว่า 150 เซนติเมตร จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ยึดเหนียวเพื่อความปลอดภัย ที่ประกอบด้วยเบาะนั่งพิเศษสำหรับเด็ก และมีเข็มขัดนิรภัยในตัว

    นอกจากนี้ยังมีกฎหมายคล้ายกัน ที่บังคับใช้ อีกหลายประเทศ เช่น ประเทศ ออสเตรเลีย อังกฤษ และ เยอรมนี ที่มีข้อกฎหมายและรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือ การรักษาความปลอดภัยในเด็กที่โดยสารด้วยยานพาหนะ

    แนะนำวิธีการเลือกซื้อให้เหมาะกับเจ้าตัวเล็ก

    ก่อนอื่นเราควรวัดส่วนสูงน้ำหนักของเด็กๆ และตรวจสอบกับคำแนะนำในคู่มือของแต่ละรุ่นอีกครั้งว่าลูกของเราอยู่ในช่วง ที่ตรงกับคู่มือแนะนำการใช้งานหรือไม่ หรือไม่อยากนั้นก็ควรพาเด็กๆด้วยเลย จะได้ทราบถึงความเหมาะสม และถูกใจเด็กๆหรือไม่ เมื่อซื้อมาแล้วควรอ่านคู่มือให้ละเอียดก่อนการติดตั้ง หากมีเทคนิคพิเศษหรืออุปกรณ์เพิ่มเติมต่างในการติดตั้งจะได้ทำได้ถูกหลักและ วิธี ส่วนเด็กอ่อนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม แนะนำให้เปลเด็กอ่อนสำหรับรถยนต์ (Infant car bed) จะดีกว่า

    เบาะนั่งนิรภัยของเด็กๆมีหลายประเภท

    ที่นั่งเสริม (Booster seat)

    เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว ประมาณ 18-27 กิโลกรัม หรือมากกว่า สูงประมาณ 110 ถึง 135 เซนติเมตร อายุราวๆ 5-10 ขวบ ที่นั่งเสริมประเภทนี้ช่วยให้เด็กๆ คาดเข็มขัดนิรภัยได้พอดีตัวมากขึ้น

    เปลเด็กอ่อนสำหรับรถยนต์ (Infant car bed)

    สำหรับเด็กอ่อนแรกเกิด หรือ มีน้ำหนักตัวแรกคลอดต่ำกว่า 2.5 กิโลกรัม ในการใช้งานควรจัดศีรษะของเด็กหันไปทางตอนกลางของรถยนต์เสมอ

    ที่นั่งเด็กชนิดนั่งหันไปทางหลังรถ (Rear-facing infant seat)

    ตำแหน่งที่ถูกต้องคือเบาะหลัง และหันหน้าไปทางหลังรถเสมอ เหมาะสำหรับเด็กที่น้ำหนักไม่เกิน 9 กิโลกรัม ส่วนสูงราว 75 เซนติเมตร หรือแรกเกิดถึง1ปี

    ที่นั่งเด็กที่หันไปทางหน้ารถ (Forward-facing child seat)(Rear-facing infant seat)

    ตำแหน่งที่ถูกต้องและเหมาะสมคือ เบาะหลังเช่นกัน แต่เบาะชนิดให้นำเบาะติดตั้งหันไปทางด้านหน้ารถ เหมาะสำหรับเด็กโตขึ้นมาที่มีน้ำหนักตัว 9-18 กิโลกรัม และมีส่วนสูง 75 – 110 เซนติเมตร อายุประมาณ 1-5 ขวบ แต่บางรุ่นอาจออกแบบให้ใช้ได้ทั้งหันไปด้านหน้าและด้านหลังรถ โดยผู้ใช้สามารถใช้งานได้ตามความเหมาะสม

เครดิต www.carvariety.com