ที่จอดรถคนพิการ ใครมีสิทธิใช้ได้บ้าง?

เป็นประเด็นดราม่ากันมาอย่างยาวนาน และต่อเนื่องที่ดูแล้วก็ยังคงจะไม่มีทีท่าจะหายไปเลย สำหรับปัญหา ที่จอดรถคนพิการ แถมยังมีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่เราจะเห็นคนเข้าไปจอดเป็นคนพิการจริงๆ ส่วนใหญ่แล้วที่เราเห็นๆกันก็มักจะเป็นคนที่ร่างกายปกติดีทั้งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มาจากปัญหาที่จอดรถมีไม่เพียงพอต่อจำนวนคนที่ไปในสถานที่นั้นๆ ยกตัวอย่างสถานที่ๆเห็นได้ชัดเจนเลยก็คือห้างสรรพสินค้า ที่เราจะเห็นได้จากคลิปในโลก Social บ่อยๆ ถึงพฤติกกรรมที่ไม่เหมาะสมขอบคนปกติ ในการใช้ช่องจอดของคนพิการ แล้วใครล่ะที่จะสามารถใช้สิทธิจอดรถในซองจอดนี้ได้

อ้างอิงตามกฏกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 ในเรื่องของที่จอดรถ ที่อยู่ในหมวดที่ 4 รวม 3 ข้อ ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้ เริ่มที่ข้อ

ข้อ 12. อาคารต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา อย่างน้อยตามอัตราส่วน ดังนี้

  • ถ้าจำนวนที่จอดรถตั้งแต่ 10 คัน แต่ไม่เกิน 50 คัน ให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอย่างน้อย 1 คัน
  • ถ้าจำนวนที่จอดรถตั้งแต่ 51 คัน แต่ไม่เกิน 100 คัน ให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอย่างน้อย 2 คัน
  • ถ้าจำนวนที่จอดรถตั้งแต่ 101 คัน ขึ้นไป ให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอย่างน้อย 2 คัน และเพิ่มขึ้นอีก 1 คัน สำหรับทุก ๆ จำนวนรถ 100 คันที่เพิ่มขึ้น เศษของ 100 คัน ถ้าเกินกว่า 50 คัน ให้คิดเป็น 100 คัน

ข้อ 13. ที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราให้จัดไว้ใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด มีลักษณะไม่ขนานกับทางเดินรถ มีพื้นผิวเรียบ มีระดับเสมอกัน และมีสัญลักษณ์รูปผู้พิการนั่งเก้าอี้ล้ออยู่บนพื้นของที่จอดรถด้านที่ติดกับทางเดินรถ มีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า ๙๐๐ มิลลิเมตร และยาวไม่น้อยกว่า 900 มิลลิเมตร และมีป้ายขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 300 มิลลิเมตร และยาวไม่น้อยกว่า 300 มิลลิเมตร ติดอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 2,000 มิลลิเมตร ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน

ข้อ 14. ที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราต้องเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างไม่น้อยกว่า 2,400 มิลลิเมตร และยาวไม่น้อยกว่า 6,000 มิลลิเมตร และจัดให้มีที่ว่างข้างที่จอดรถกว้างไม่น้อยกว่า 1,000 มิลลิเมตร ตลอดความยาวของที่จอดรถ โดยที่ว่างดังกล่าวต้องมีลักษณะพื้นผิวเรียบและมีระดับเสมอกับที่จอดรถ

จะเห็นได้ว่านอกจากคนผู้พิการหรือทุพพลภาพแล้ว ในกฏข้อบังคับยังระบุถึงคนชราด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากกฏข้อบังคับแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การมีสำนึกสาธารณะ รวมไปถึงการเคารพต่อกฏข้อบังคับของตัวผู้ขับขี่นั่นเอง เพราะถ้าตัวผู้ขับขี่ยังขาดสิ่งเหล่านี้ อยู่ ปัญหานี้ก็ยังมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น

เครดิต www.mthai.com