วิธีตั้งค่า “ระบบนำทาง” ที่ถูกต้อง ไม่ต้องกลัวพาอ้อม-หลงทาง

ปัจจุบันระบบนำทางระบบจีพีเอส มีใช้กันอย่างแพร่หลาย เริ่มตั้งแต่อุปกรณ์ประเภท Standalone สำหรับใช้นำทางโดยเฉพาะ (เช่น Garmin, Kamaz และอื่นๆ) ไปจนถึงระบบนำทางในสมาร์ทโฟน ที่มีแอพพลิเคชั่นให้เลือกใช้มากมาย

แต่ด้วยข้อจำกัดของการอัพเดตข้อมูลแผนที่ ทำให้ถนนบางสาย (โดยเฉพาะต่างจังหวัด) ยังคงขึ้นว่าสามารถขับรถผ่านได้ ทั้งๆที่ถนนเหล่านั้นอาจเป็นเพียงเส้นทางเดินแคบๆ หรือถนนเก่าแก่ที่แทบจะไม่มีใครใช้สัญจรกันอีกแล้ว ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้คุณผู้อ่านหลงทางเพราะเชื่อเนวิเกเตอร์มากเกินไป Sanook! Auto มีคำแนะนำ 5 ประการดังนี้

  1. รอให้เนวิเกเตอร์ล็อคสัญญาณจีพีเอสก่อนเดินทาง
  2. คนส่วนใหญ่มักหยิบโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เนวิเกเตอร์ขึ้นมา แล้วใส่จุดหมายปลายทางลงไปทันทีโดยไม่รอให้ตัวเครื่องจับสัญญาณจีพีเอสได้ก่อน ทำให้ตำแหน่งที่เราอยู่ไม่ตรงกับจุดเริ่มต้นบนเนวิเกเตอร์ ส่งผลให้การวางแผนเดินทางล่วงหน้าผิดพลาดได้

    หากเป็นระบบนำทางบนมือถือที่มีระบบ A-GPS อาจใช้เวลาไม่ถึง 30 วินาทีในการล็อคสัญญาณ แต่หากเป็นเครื่องนำทางโดยเฉพาะที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจใช้เวลาล็อคสัญญาณราว 3-5 นาทีก็เป็นได้ ถ้าไม่ได้เปิดใช้เป็นเวลานานๆ

  3. หลีกเลี่ยงการนำทางแบบ “Shortest Route”
  4. เนวิเกเตอร์บางรุ่นหรือบางแอพพลิเคชั่นบนมือถือบางตัว สามารถปรับรูปแบบการเลือกเส้นทางได้ แต่เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงการนำทางแบบ “Shortest Route” หรือ “ทางที่ใกล้ที่สุด” เพราะเนวิเกเตอร์จะพาเราไปยังเส้นทางที่สั้นที่สุดตามข้อมูลที่มีอยู่ในระบบ ซึ่งอาจเป็นทางลูกรังชนิดล้อเกวียนแตก หรือทางที่เลิกใช้ไปตั้งแต่ยุคโบราณแล้วก็เป็นได้

    เราแนะนำให้ปรับเป็นแบบ Quickest Route ที่เน้นวิ่งบนถนนเส้นหลัก หรือ Economy Route ในกรณีที่ต้องการหลีกเลี่ยงทางด่วนหรือด่านจ่ายเงิน (ชื่อเรียกอาจแตกต่างไปตามแต่ละยี่ห้อ)

  5. ตรวจสอบตำแหน่งจุดหมายปลายทางทุกครั้ง
  6. เมื่อพบสถานที่ปลายทางบนเนวิเกเตอร์แล้ว ควรตรวจสอบรายละเอียดสถานที่นั้นๆให้ดีเสียก่อน ว่าชื่อซอย, ถนน, ตำบล, อำเภอ, จังหวัด ตรงกับที่เราต้องการจะไปจริงๆ บางสถานที่อาจมีชื่อซ้ำกันแต่อยู่คนละจังหวัด อันนี้ยังไม่น่าห่วงเท่าไหร่ แต่บางที่อยู่อำเภอเดียวกันแถมชื่อยังเหมือนกันอีก แบบนี้ต้องเช็คให้ดี

  7. ตรวจสอบเส้นทางไปยังจุดหมายโดยละเอียด
  8. เมื่อเนวิเกเตอร์คำนวณเส้นทางเสร็จเรียบร้อย ควรตรวจสอบเส้นทางให้แน่ใจอีกครั้งหนึ่งก่อนเริ่มเดินทาง หากเป็นถนนต่างจังหวัด ก็ควรอิงถนนหลวง หรือถนนเส้นหลักเอาไว้ก่อน พยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางย่อยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะบางทีเนวิเกเตอร์อาจพาไปเส้นทางทางที่ชาวบ้านเขาไม่ใช้กันแล้ว

    เทคนิคหนึ่งในกรณีที่ระบบนำทางพาไปยังถนนเส้นรองโดยไม่จำเป็น เราสามารถตั้ง ‘จุดผ่าน’ ให้เป็นถนนเส้นหลักตามที่เราต้องการ เพื่อหลีกเลี่ยงถนนเส้นรองนั้นๆได้

  9. วางแผนล่วงหน้าและฝึกใช้ระบบนำทางให้ชำนาญ
  10. การใช้ประโยชน์จากระบบนำทางอย่างดีที่สุดนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ไม่ใช่เริ่มออกเดินทางแล้วค่อยมาเปิดจีพีเอส เพื่อที่จะได้มีเวลาเช็คข้อมูลสถานที่ปลายทาง เส้นทางที่ต้องวิ่งผ่าน รวมถึงจุดแวะต่างๆ อีกทั้งยังควรฝึกใช้ระบบนำทางให้ชำนาญก่อนนำมาใช้จริง จะได้รู้จักสัญลักษณ์และเสียงเตือนต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยขณะขับรถได้อีกทางหนึ่งด้วย

เครดิต www.sanook.com