ในการขับรถบนท้องถนนทั่วไป ทุกท่านคงคุ้นเคยกับรูปทรงของพวงมาลัยที่เป็นวงกลมกันมาตลอดนะครับ แต่ถ้าใครได้ติดตามการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ ตั้งแต่ระดับซูเปอร์คาร์ GT3 ไปจนถึงฟอร์มูล่า วัน เราจะเห็นรูปร่างของพวงมาลัยแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะพวงมาลัยทรงตัดแบบ D-Shape เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แล้วถ้าเรานำพวงมาลัยรูปทรงแบบที่ใช้ในรถแข่งมาใช้กับรถบ้านจะเป็นอย่างไร

     หากย้อนไปในยุคอดีต ผมยังจำได้ถึงความรู้สึกของการสาวพวงมาลัยในยุคที่ไม่ใช่พวงมาลัยพาวเวอร์ ถึงขนาดมีการแซวกันว่าสาว (พวงมาลัย) กันจนกล้ามขึ้น ยิ่งเป็นรถยุคเก่า ๆ พวงมาลัยจะทำจากไม้และวงใหญ่กว่าทุกวันนี้มาก มาในยุคนี้มีการพัฒนาพวงมาลัยในรูปแบบที่มีปุ่มควบคุมต่าง ๆ รวมอยู่ด้วยเพื่อความสะดวกมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นทรงของมันก็ต้องเป็นวงกลมอยู่ดี

     ใครที่ขับรถเป็นประจำน่าจะคุ้นชินกับการบังคับพวงมาลัยดีนะครับ โดยเฉพาะเวลาเลี้ยงซ้าย-ขวา หรือจังหวะหักสุดเพื่อยูเทิร์น ซึ่งรถบ้านทั่วไปมันจะหมุนได้ประมาณ 1 รอบครึ่ง แต่ในรถแข่งระดับเอฟวัน หากสังเกตจากกล้องในค็อกพิต แม้จะเป็นโค้งยูเทิร์น จะหักพวงมาลัยให้สุดยังไงก็ไม่ถึง 1 รอบ นั่นคือความแตกต่างที่เกิดจากการเช็ตอัตราทดพวงมาลัย

     ที่ผ่านมาค่ายรถหลายยี่ห้อต่างพยายามคิดค้นและพัฒนาพวงมาลัยรถบ้านให้อำนวยความสะดวกได้มากขึ้น แน่นอนครับ สิ่งแรกที่เห็นภาพชัดที่สุดคือ หากเป็นพวงมาลัยแบบ D-Shape หรือที่ค่ายรถเรียกว่า Yoke จะลดความเกะกะของพวงมาลัยที่เป็นวงกลมลงไปได้ และเพิ่มทัศนวิสัยในการขับขี่ให้ดีขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้มันตอบโจทย์กับการใช้งานบนท้องถนนจริง ๆ

     เพราะหากใช้พวงมาลัย D-Shape มาติดตั้งในรถบ้านแล้วยังคงอัตราทดแบบเดิม มันคงไม่ตอบโจทย์แน่นอน มีอย่างที่ไหนกำลังจะยูเทิร์น ต้องสาวพวงมาลัยแต่กลับไม่มีจุดให้จับ! Tesla เป็นเจ้าแรกที่นำพวงมาลัยที่ไม่ใช่แบบวงกลมมาติดตั้งในรถบ้านรุ่น Model S Plaid ทว่าฟีดแบ็กที่ได้รับกลับไม่เวิร์ก เนื่องจากถูกติดตั้งอยู่บนแร็กแบบเดิม ก็คือหากต้องการเลี้ยวในวงแคบสุดก็ต้องสาวเกินกว่า 1 รอบอยู่ดี

     นั่นทำให้ Lexus พยายามคิดค้นเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อลบจุดอ่อนจากค่ายรถเจ้าอื่น ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ และมีการเตรียมติดตั้งพวงมาลัยแบบรถแข่งไว้ในรถไฟฟ้ารุ่น RZ450e ที่สำคัญเป็นเทคโนโลยีใหม่แบบ steer-by-wire ที่เป็นระบบไฟฟ้า โดยที่ไม่ต้องมีการเชื่อมต่อกลไกระหว่างล้อกับพวงมาลัยอีกต่อไป แต่จะมีการคำนวณอัตราทดแบบแปรผันตามความเร็วครับ

     โอ้โห! อะไรจะล้ำขนาดนั้นครับ นั่นเท่ากับว่าเวลาสาวพวงมาลัยในรถบ้านก็จะไม่ต้องสาวกันเป็นรอบแบบ 360 องศาอีกต่อไป ข้อดีของพวงมาลัยระบบนี้ก็คือการลดภาระของคนขับ โดยที่สาวพวงมาลัยแบบหักสุดก็แค่ 150-200 องศาเท่านั้น มันสามารถคุมแรงบิดในการบังคับเลี้ยวและมุมบังคับเลี้ยวของยางได้อย่างอิสระ และลดการสั่นสะเทือนจากพื้นถนนสู่พวงมาลัย (แม้ว่าอันหลังนี้มันอาจจะไม่ได้ฟีลลิ่งของคนขับรถก็ตาม)

     ซึ่งไอ้เจ้าพวงมาลัยระบบนี้เริ่มมีการนำออกมาให้สื่อได้ทดสอบกันแล้ว แต่ล่าสุดยังไม่มีการนำออกมาขายอย่างเป็นทางการนะครับ ตามรายงานบอกว่า Lexus อยากจะทดสอบระบบให้พวงมาลัยระบบใหม่นี้เสถียรที่สุดก่อนติดตั้งเพื่อนำออกขายจริง ๆ และหากไม่ทันในรุ่น RZ450e ก็อาจจะเป็นรถไฟฟ้าโมเดลถัดไปของค่ายแทน

     เพราะขนาด Tesla ที่ปล่อยพวงมาลัยระบบนี้ออกมาเป็นเจ้าแรก ยังถอยทัพกลับไปใช้พวงมาลัยแบบวงกลมแบบเดิมก่อน และเพิ่มพวงมาลัยแบบ D-Shape หรือ Yoke นี้เป็นออปชันเสริมเท่านั้น แต่หากวันใดที่ระบบนี้เสถียร บอกเลยว่านี่คืออีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกยานยนต์ เพราะพวงมาลัยของรถคุณจะไม่ต้องเป็นวงกลมอีกต่อไปครับ

 

 

เครดิต www.sanook.com

 

หลักการทำงานของลูกถ้วยเครื่องดีเซล ทำงานยังไง? | แกะกล่อง DIY