ว่าด้วยเรื่องของเสียงดังรบกวนผู้ที่มีที่พักอาศัยอยู่ริมถนน หรือร้านค้าริมทางที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการก่อกวนโดยเสียงท่อไอเสียที่ดังเกินเหตุ วันนี้เลดี้จะพาไปชมว่าทางต่างประเทศมีมาตรการที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ยังไงบ้าง

จะเงียบ หรือ จะจ่าย? ด้วยกล้องจับเสียงดังบนท้องถนน

เอาล่ะสิงานนี้ ใครที่ชอบส่งเสียงดังคำรามบนท้องถนนมีหนาว ล่าสุดที่เลดี้เคยเขียนไว้ในบทความ “บีบแตร.. สัญญาณสื่ออารมณ์” เรื่องราวของประเทศอินเดียหนึ่งในประเทศที่ชอบบีบแตรเอามากๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และได้รับฉายา “มุมไบเมืองที่เสียงดังที่สุดในโลก” แต่เอาจริงๆ มันเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเอาซะเลย ทางตำรวจจราจรจึงได้ออกกฎหมาย The Punishing Signal หรือ ยิ่งบีบแตร ยิ่งรอนาน โดยติดตั้งเครื่องวัดเดซิเบลพิเศษเชื่อมต่อกับสัญญาณไฟจราจร หากมีเสียงเกิน 85dB (เดซิเบล) ถือเป็นระดับเสียงอันตราย สัญญาณไฟจราจรสีแดงจะรีเซ็ตตัวเอง ให้แช่ไฟแดงนานขึ้น!

คราวนี้เป็นเรื่องราวของ New York City ประเทศสหรัฐอเมริกากันบ้าง เมื่อทางรัฐออกกฎหมาย Noise Cameras เพราะอยากให้ท้องถนนมีความเงียบสงบจากเสียงของรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ หากฝ่าฝืนต้องเสียค่าปรับสูงสุดถึง 2,600 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 91,000 บาท ถือเป็นการจ่ายค่าปรับที่โหดมากๆ โดยการออกร่างกฎหมายใหม่นี้คาดว่าจะพร้อมใช้ใน 5 เขตเมืองสำคัญภายในปี 2568

Noise Cameras Fines

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร Keith Powers ได้ออกร่างกฎหมายที่อนุญาตให้เมืองนิวยอร์กติดตั้งกล้องจับเสียงดังบนท้องถนนเพิ่มเติม เพื่อต่อสู้กับท่อไอเสียที่ดังกังวานและก่อกวนมลภาวะทางเสียงแก่ชาวเมือง โดยมีแนวโน้มว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านฉลุยภายในไม่กี่อาทิตย์ และจุดประกายให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายนี้เริ่มต้นจาก 5 เมืองสำคัญภายในปี 2568 เนื่องจากนิวยอร์กได้มีกรต่อสู้กับปัญหาเรื่องเสียงมานานหลายปีแล้ว ซึ่งในปี 2020 เพียงปีเดียว รัฐรายงานเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเสียงดังบนถนนกว่า 81,000 ครั้ง ต่อมาในปี 2021 มีการปรับเงินจำนวน 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 35,000 บาท สำหรับผู้ที่มีท่อไอเสียดังเกินไป และในปี 2022 มีรายงานการออกตั๋วหรือใบสั่งมากถึง 71 ใบ ให้กับผู้ขับขี่ที่มีท่อไอเสียดังด้วยการใช้กล้องจับเสียง จึงมีการขยายผลเพิ่มเติมไปยังเมืองอื่นๆ อีกในอนาคต

ร่างกฎหมายดังกล่าวมีการอนุญาตให้ใช้กล้องจับเสียงดังบนท้องถนน เมื่อมียานพาหนะที่ส่งเสียงดังเกิน 85dB (เดซิเบล) จากระยะ 50 ฟุตขึ้นไป โดยทั่วไปจะถือว่าเป็นปริมาณที่อาจเกิดความเสียหายต่อการได้ยินของมนุษย์ เมื่อกล้องจับความดังเหล่านี้ได้ จะถูกบันทึกภาพยานพาหนะที่กระทำผิดและผู้ที่ครอบครองจะต้องได้รับตั๋วหรือใบสั่ง ที่ปรับสูงสุดถึง 2,600 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 91,000 บาท

แต่น่าเสียดายที่ตำรวจจราจรของ New York City ไม่มีบทลงโทษขั้นเด็ดขาดหากมีการละเมิดกฎหมายดังกล่าว ซึ่งใจความสำคัญของร่างกฎหมายกล่าวว่า หากมีการกระทำผิดเป็นครั้งแรก จะถูกปรับประมาณ 800 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,000 บาท และหากใครที่ทำผิดมากกว่า 3 ครั้ง จะถูกปรับประมาณ 2,625 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 91,875 บาท ในการส่งเสียงดังเกิดกว่าที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ยังมีการแนะนำให้ทางกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (DEP) ส่งรายงานประจำปีต่อนายกเทศมนตรีและประธานสภาโดยระบุรายละเอียดการทำงานในโครงการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการกำหนดให้ต้องติดตั้งกล้องจับเสียงดังบนท้องถนนอย่างน้อย 5 ตัวในแต่ละเขตเมือง นั่นคืออย่างน้อย 25 จุด เพิ่มเติมจากของเก่าที่มีอยู่แล้ว ซึ่งการทำงานของกล้องจะช่วยระบุตำแหน่ง เพื่อให้ผู้ที่กระทำความผิดรู้ตัวว่าตนเองอยู่ที่ไหน หากพวกเขาต้องการสืบค้นข้อมูลแบบสาธารณะ

และนี่คือตัวอย่างร่างกฎหมายที่ระบุบทลงโทษการสร้างมลภาวะทางเสียงในต่างประเทศ โดยมีบทลงโทษอย่างชัดเจน และเลดี้คิดว่าถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้อีกหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยก็ควรรับไว้พิจารณาด้วยเช่นกัน ใครคิดเห็นยังไงคอมเม้นต์มาพูดคุยกันได้ค่ะ

 

 

เครดิต www.autospinn.com

 

วิธีการติดตั้งเทอร์โบ 4JA1 D-MAX | แกะกล่อง DIY