สำหรับรถยนต์ 1 คัน ต่างก็มีระบบมากมายแบ่งออกเอาไว้เป็นส่วนๆ และในเรื่องของเครื่องยนต์ก็มีแยกย่อยออกไปอีกเช่นกัน รวมไปถึงระบบระบายความร้อน ซึ่งหลักๆ แล้วเรามักจะนึกถึงแต่หม้อน้ำ เพราะมันถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด แต่ถ้าเกิดไม่มี พัดลมหม้อน้ำ มันก็คงจะเป็นงานหนักมากแน่ๆ สำหรับการทำงานของระบบระบายความร้อน

     และปัจจุบัน ส่วนมากพัดลมหม้อน้ำที่ใช้กันในรถรุ่นใหม่ๆ จะเป็นแบบไฟฟ้าแทบทั้งหมดแล้ว เพราะสามารถควบคุม และใช้ทำงานได้ง่ายกว่าแบบเก่า ที่ขับเคลื่อนด้วยสายพาน โดยใช้แรงหมุนจากเครื่องยนต์นั่นเอง แต่ถึงแม้จะเปลี่ยนเป็นรุ่นไหนก็ตาม หน้าที่ในการทำงานของพัดลมหม้อน้ำก็ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งก็คือ ทำหน้าที่ระบายความร้อนให้เครื่องยนต์นั่นเอง

     ส่วนการดูแลรักษาพัดลมหม้อน้ำ จริงๆ แล้วแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่หมั่นตรวจดูสภาพ และการทำงานของพัดลมหม้อน้ำ ว่ายังทำงานปกติดีหรือไม่ ซึ่งการตรวจเช็กนั้น ควรทำพร้อมกันกับการตรวจระดับหล่อเย็น จากนั้นตรวจดูใบพัดว่ามีความเสียหาย แตก หัก ตรงไหนบ้าง ถ้าให้ดี ตรวจดูกรอบ และโครงยึดด้วย ว่ายังติดแน่นในตำแหน่งเดิมรึเปล่า หรือมีตรงไหนหลุด เคลื่อนที่ไปบ้าง

 

แต่ถ้าตรวจเช็กแล้ว พัดลมหม้อน้ำมีการทำงานผิดปกติดังนี้

     1. พัดลมหม้อน้ำทำงานตลอดเวลา ต้องมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับพัดลมหม้อน้ำแน่นอน อาจจะเกี่ยวกับระบบหล่อเย็น หรืออาจจะเป็นที่ตัวควบคุมการทำงานของพัดลมก็ได้ ดังนั้นขั้นแรก ให้ฉีดน้ำไปที่หม้อน้ำก่อน (ห้ามฉีดน้ำไปที่ตัวมอเตอร์เด็ดขาด เพราะจะทำให้ชิ้นส่วนภายในเสียหาย หรือถ้าร้ายแรงมากๆ อาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร) หากฉีดไปได้สักพักแล้วพัดลมหม้อน้ำหยุดทำงาน เป็นไปได้ว่า การระบายความร้อนของหม้อน้ำผิดปกติ เกิดความบกพร่อง เช่น สารหล่อเย็นมีไม่พอต่อการใช้งานในระบบ, ครีบระบายความร้อนมีอาการอุดตัน, ในหม้อน้ำมีสนิม หรือตะกรันเกิดขึ้น, ปั๊มน้ำเทอร์โมสตัทพัง ฯลฯ

     และหากฉีดน้ำไปพักนึงแล้ว จนรู้สึกได้ว่าความร้อนของเครื่องยนต์ลดลงเป็นปกติ แต่พัดลมยังไม่หยุดหมุน เป็นไปได้ว่า เทอร์โมสวิทช์ หรืออุปกรณ์ควบคุมการทำงานของพัดลมเจ๊งแน่นอน

     2. พัดลมหม้อน้ำไม่หมุนไม่ทำงาน ให้ไปตรวจดูฟิวส์ก่อนเป็นอันดับแรก ว่าเสียรึเปล่า (ดูตำแหน่งของฟิวส์ได้จากคู่มือรถยนต์รุ่นนั้นๆ) หากเช็กดูแล้วไม่มีอะไรผิดปกติ ก็ไปดูขั้วเสียบ และสายไฟเป็นอันดับต่อไป แต่ถ้าตรวจแล้วไม่มีอะไรเสียหายอีก จุดต่อไปที่ต้องดูก็คือ ตัวพัดลม หรือวงจรควบคุม ซึ่งในส่วนนี้เราไม่สามารถซ่อมแซม หรือแก้ไขอะไรได้ คงต้องนำรถเข้าไปตรวจสอบดูที่ศูนย์บริการ หรือไม่ก็อู่ซ่อม เพื่อให้ช่างผู้ชำนาญงานเช็กดูให้

     เนื่องจากวงจรควบคุมของรถบางรุ่น ทำงานเชื่อมต่อร่วมกับกล่อง ECU หรือกล่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ ดังนั้นหากเราซ่อม หรือแก้ไขเองแล้วเกิดความผิดพลาดขึ้นมา มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจได้เสียเงินเพิ่ม เพื่อซ่อม หรือซื้อกล่อง ECU ตัวใหม่นั่นเอง

เครดิต www.sanook.com