ว่าด้วยเรื่องของแบตเตอรี่

        วันนี้ขอมาพูดถึงเรื่องของแบตเตอรี่รถยนต์ ก่อนอื่นเราคงจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่า แบตเตอรี่รถยนต์  ไม่ใช่แหล่ง ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เป็นแหล่งเก็บไฟฟ้าสำรอง เพื่อใช้สตาร์ทเครื่องยนต์โดยการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่มอเตอร์สตาร์ท และจ่ายไฟให้ระบบต่างๆ ในขณะที่เครื่องยนต์ยังไม่ติด


แบตเตอรี่ คืออะไร?

        แบตเตอรี่ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เก็บ และจ่ายกระแสไฟฟ้า ที่มีการทำปฏิกิริยาเคมีภายใน ทำให้เกิดไฟฟ้า ซึ่งเป็นแหล่งรวมพลังไฟฟ้าของรถ แบตเตอรี่ให้กระแสไฟฟ้าแก่รถในการสตาร์ทเครื่องโดยการจ่ายไฟฟ้าให้แก่มอเตอร์สตาร์ทเพื่อหมุนเครื่องยนต์ให้ติด และเมื่อเครื่องยนต์ติดแล้วไฟฟ้าที่ใช้ในรถจะมาจากไดชาร์จ ยกเว้นกรณีการใช้อุปกรณ์บางอย่างเช่นใบปัดน้ำฝน ไฟหน้ารถ ไฟเลี้ยว ฯลฯ จะมีการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ช่วยในการทำงาน และไฟฟ้าจากไดร์ชาร์จอีกส่วนหนึ่งก็นำมาใช้ชาร์จเข้าแบตเตอรี่เมื่อกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ลดลงเนื่องจากการนำกระแสไฟฟ้าไปใช้ (โดยกระบวนการชาร์จไฟนี้จะทำงานในขณะที่เครื่องยนต์ติด)


หน้าที่ของ แบตเตอรี่ คือ?

        แบตเตอรี่มีหน้าที่หลักๆคือ เป็นแหล่งพลังงานจ่ายไฟให้แก่มอเตอร์สตาร์ท ระบบจุดระเบิดและระบบควบคุมเครื่องยนต์(กล่อง ECU ต่างๆ)ให้แก่เครื่องยนต์ เพื่อให้เครื่องยนต์หมุนและติดเครื่องได้ นอกจากนั้นแบตเตอรี่ยังเป็นแหล่งให้พลังงานแก่ระบบไฟฟ้าอื่นๆในรถยนต์เมื่อระบบไฟฟ้าในรถยนต์ต้องการกำลังไฟฟ้ามากกว่าที่ระบบไฟชาร์จจะจ่ายไฟให้เพียงพอ และรักษาระดับกระแสไฟให้คงที่

แบตเตอรี่แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ

1. แบตเตอรี่แบบธรรมดา (เติมน้ำกรดแล้วชาร์จไฟในครั้งแรก จากนั้นต้องหมั่นดูแลระดับน้ำอย่างสม่ำเสมอ)

2. แบตเตอรี่แบบไม่ต้องเติมน้ำกลั่น (Free Maintenance) หรือโดยทั่วไปร้านที่ขายจะชอบเรียกว่า “แบตแห้ง” (แบตเตอรี่ชนิดนี้มีระบบป้องกันการระเหยของน้ำทำให้มีการระเหยของน้ำในแบตเตอรี่ต่ำมากจึงไม่ต้องดูแลระดับน้ำกลั่นในระยะแรก (6 เดือนแรก) แต่เมื่อเลยจาก 6 เดือนไปแล้ว ควรดูแลทุกๆ 3 เดือน/ครั้ง

สาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อม

        แบตเตอรี่รถยนต์โดยทั่วไปก็จะมีอายุอานามอยู่แล้ว ทั่วๆไปก็ประมาณ 2-3 ปีขึ้นอยู่กับการใช้งานและบำรุงรักษาบวกกับสภาพการจราจรที่ไม่สามารถควบคุมได้ในเมือง และก็ทำให้เกิดปัจจัยที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วได้อีกคือ
1. การประจุไฟที่น้อยเกินควร Under Charging จะเกิดในรถที่ใช้งานน้อยหรือไม่ใช้งาน ซื้อมาจอดซะส่วนใหญ่ แบตเตอรี่มีแต่การคายประจุออกแต่ไม่มีการชาร์จไฟเข้ายิ่งปล่อยให้คายมากหรือคายจนหมดก็ยิ่งทำให้แบตเตอรี่ยิ่งเสื่อมเร็ว
2. การประจุไฟที่มากเกินควร Over Charging ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอาการนี้คือการจราจรที่ติดขัดมากๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะขณะที่เครื่องยนต์ติดย่อมมีอุณหภูมิสูงยิ่งการจราจรที่ติดขัดทำให้การระบายความร้อนอาจจะไม่เพียงพอ น้ำกลั่นก็ยิ่งเดือดและแปรสภาพเป็นแก๊สระดับน้ำกลั่นก็ลดลงทำให้ผงตะกั่วเกิดการสึกกร่อนจากแผ่นธาตุ แผ่นธาตุอาจเกิดการงอโค้ง อายุการใช้งานก็สั้นลงไปด้วย
3. การลัดวงจรในช่องแบตเตอรี่ Short Circuit เป็นอาการต่อเนื่องจาก 2 ข้อที่กล่าวก่อนนี้ คือ การสึกกร่อนของแผ่นธาตุทำให้เกิดตะกอนที่อยู่ส่วนล่างของหม้อแบตเตอรี่มากเกินไป และเกิดจากการแตกหักหรือการเสื่อมสภาพของแผ่นกั้นระหว่างแผ่นธาตุบวก และแผ่นธาตุลบ
4. ปัญหาระบบไฟในรถยนต์ เป็นอาการที่เกิดได้จากการติดเครื่องเสียง สัญญาณกันขโมย อุปกรณ์เสริมในรถเพิ่มเติมในรถ (ไฟไม่พอ,ไฟรั่ว,กราวด์ไม่ดี) แบตทำงานหนัก , การเปลี่ยนแปลงขนาดของแบตเตอรี่ที่ไม่เหมาะสมกับความต้องการกระแสไฟ เช่น เปลี่ยนแบตลูกเล็กลงกว่าเดิม ก็ Over Charging ได้ง่าย หรือแบตลูกใหญ่กว่าเดิม ก็ชาร์จไม่เต็มประสิทธิภาพการทำงานของไดชาร์จไม่เต็มที่
5. มีการปะปนของน้ำกรดในหม้อแบตเตอรี่ Impurity อาจเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือได้คำแนะนำที่ไม่ถูกต้องในการบำรุงรักษา เช่น การใช้น้ำที่ไม่ใช้น้ำกลั่นบริสุทธ์เติมในแบตเตอรี่ หรือใช้น้ำอื่นๆที่ไม่ใช่น้ำกรด ,น้ำกลั่นเติมลงไป
6. สุดท้ายการเกิดซัลเฟต (Sulfation) คือ แผ่นธาตุที่มีผลึกซัลเฟตสีขาวเกาะติดอยู่ที่บริเวณแผ่นธาตุ เกิดจากการปล่อยทิ้งแบตเตอรี่ไว้นานๆ โดยไม่นำไปใช้ น้ำกรดแห้งจนแผ่นธาตุโผล่พ้นระดับน้ำกรด และการประจุไฟที่น้อยเกินไป (Under Charging)

วิธีสังเกตแบตเตอรี่เสื่อม

จาก 6 ข้อที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมได้ แต่เราเองก็ต้องมีวิธีการสังเกตว่าแบตเรามีปัญหาไว้บ้างเพื่อรู้ทันก่อนเกิดปัญหาสตาร์ทไม่ติดได้ โดยวิธีก็ไม่อยากอะไรเป็นเรื่องที่ทำอยู่ประจำเพียงแต่ต้องสังเกตมัน เช่น ปกติเช็คทุกสัปดาห์น้ำกลั่นแห้งนิดหน่อย แต่แล้ววันนึงน้ำกลั่นแห้งกว่าปกติ(แห้งจนเห็นแผ่นธาตุ)ทำให้ต้องเติมน้ำกลั่นมากกว่าปกติ , ไฟหน้ารถสว่างน้อยลง , ตอนเช้าสตาร์ทรถติดยาก (เสียงเครื่องหมุนช้า) , กระจกไฟฟ้าเริ่มทำงานช้าลง ระบบไฟฟ้าอื่นๆในรถทำงานช้าลง , เมื่อแบตเตอรี่ใช้งานมานานกว่า 1.5 – 2 ปี , มอเตอร์สตาร์ทไม่ทำงาน , แผ่นธาตุภายในเกิดอาการบวม อาการเหล่านี่สามารถหารถอีกคันมาพ่วงติดได้ แต่ถ้าดับเครื่องเมื่อไหร่ก็อาจจะสตาร์ทไม่ติดอีก แบตเตอรี่เสื่อม (แบตเจ๊ง) แน่ๆ

การดูแลรักษาแบตเตอรี่

1. หมั่นตรวจเช็คขั้วแบตเตอรี่ว่าหลวมหรือมีขี้เกลือหรือไม่ และทำความสะอาดสายขั้วแบตเตอรี่ ทั้งขั้วบวกขั้วลบ ด้วยน้ำอุ่น แล้วเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ ใช้ทาด้วยจารบี เพื่อป้องกับคราบขี้เกลือไม่ให้เกิดอีก
2. ตรวจเช็คน้ำกลั่นสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้น้ำแห้งและไม่เติมน้ำกลั่นให้เกินกว่าขีดสูงสุด หรือต่ำกว่าขีดต่ำสุด ห้ามเติมน้ำกรด และน้ำกลั่นที่มีสีหรือสารเคมีโดยเด็ดขาด
3. ตรวจสอบความมั่นคงของการติดตั้งแบตเตอรี่ ต้องไม่ขยับเขยื่อนเคลื่อนที่ได้ เพราะถ้าขยับได้อาจเกิดการเสียดสีจนแบตเตอรี่รั่วได้ 
4. ห้ามสูบบุหรี่ หรือทำให้เกิดประกายไฟขณะตรวจเช็คน้ำในแบตเตอรี่ เพราะอาจจะระเบิดจากไอระเหยที่ออกมาจากแบตเตอรี่ได้
5. สำหรับแบตเตอรี่ที่มีตาแมวใช้ดูกำลังไฟโดย (สีน้ำเงินหรือเขียว=ไฟดีอยู่ , สีส้มหรือแดง=แบตเตอรี่มีปัญหาจะต้องชาร์ตไฟหรือเติมน้ำกลั่น , สีขาว=แบตเตอรี่เสียหรือเสื่อมคุณภาพ ต้องเปลี่ยนลูกใหม่)

จากที่กล่าวมาเป็นข้อมูลที่สามารถเอามาใช้ตรวจสอบแบตเตอรี่ในรถของเราได้ และช่วยบำรุงรักษาแบตเตอรี่ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ยาวจนไม่มีวันเสื่อมเลยนะครับ ทุกสิ่งมีเกิดมีดับ มีอายุไขครับ เราแค่ช่วยชลอให้มันไปจากเราช้าลงครับ

เครดิต www.kmotors.co.th