รถความร้อนขึ้นสูงผิดปกติ (Overheat) เป็นเพราะแบบนี้…

        ปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ มีอุณหภูมิสูงผิดปกติ แล้วเกิดอาการอื่นตามมาหลายๆอย่าง เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอปัญหาพวกนี้กันมาแล้ว แต่ว่าเราได้แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุดหรือไม่ ปัญหาที่ว่านี้เกิดจากอะไร สาเหตุของเครื่องยนต์ร้อนเป็นเพราะอะไรบ้าง วันนี้ผม “ช่างเค” จะมาอธิบายเป็นข้อๆให้ฟังกันครับ…


การที่เครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงผิดปกติ อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุดังนี้ครับ

1. น้ำหล่อเย็นภายในระบบไม่เพียงพอสำหรับการระบายความร้อน เช่น เกิดการรั่วในระบบหล่อเย็น
2. ปั๊มน้ำชำรุดหรือสายพานขับปั๊มน้ำขาด
3. วาล์วน้ำไม่เปิดตามอุณหภูมิที่กำหนด
4. พัดลมระบายความร้อนไม่ทำงาน หรือทำงานผิดปกติ
5. รังผึ้งหม้อน้ำมีเศษผงฝุ่นอุดตันตามคลีบระบายความร้อน

ทีนี้ถ้าเกิดรถของเรามีอาการความร้อนขึ้นสูงผิดปกติ เราควรที่จะทำยังไงดี?

ต้องขอบอกก่อนเลยครับว่า ไม่ว่าจะเกิดความผิดปกติในข้อไหน เป็นเพราะอะไร “ห้ามดับเครื่องยนต์ในทันที” เพราะจะทำให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหายมาก แนะนำครับให้หาที่จอดที่ปลอดภัยแล้วปล่อยให้เครื่องยนต์เดินเบาซัก 3-5 นาทีแล้วค่อยดับเครื่องยนต์ จากนั้นให้เปิดกระโปรงหน้า เพื่อระบายความร้อนในห้องเครื่องยนต์ แต่หากมีไอน้ำ หรือควันพุ่งออกมาให้รอจนไอ หรือควันหมดไปก่อน แล้วค่อยเปิดกระโปรงรถระบายความร้อน และห้ามใช้น้ำเติมหรือราดบริเวณหม้อน้ำ และเครื่องยนต์เด็ดขาดจนกว่าอุณหภูมิในห้องเครื่องจะลดลงจนใช้มือสัมผัสได้ เพราะถ้าอุณหภูมิที่สูงมากมาเจอน้ำที่อุณหภูมิต่ำกว่าจะเกิดการหดตัวของโลหะในทันที ซึ่งจะเกิดความเสียหายกับเครื่องยนต์แน่นอนครับ

ถ้าพูดถึงเรื่องปัญหารถความร้อนขึ้น ตามสาเหตุข้อแรกที่เราพูดถึงคือเรื่องของน้ำยาหล่อเย็น งั้นเรามาทำความรู้จักกับน้ำยาหล่อเย็น และระบบหล่อเย็นให้มากขึ้นสักหน่อยดีกว่าครับ

ระบบหล่อเย็นคืออะไร?

ระบบหล่อเย็นก็คือ ระบบระบายความร้อนโดยใช้น้ำเข้าไปช่วยหล่อเลี้ยงรอบๆบริเวณชิ้นส่วนที่เกิดความร้อนจากการทำงาน เมื่อเครื่องยนต์ทำงาน ชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องยนต์ที่มีการเคลื่อนที่ และการที่โลหะ 2 ชิ้น ทำงานเสียดสีกัน ก็จะต้องมีการหล่อลื่น ด้วยระบบหล่อลื่น (Lubricating System) เพื่อช่วยลดแรงเสียดสี แต่ในบริเวณที่มีความร้อนสูงเช่น ผนังกระบอกสูบ มีการเสียดสีกัน ระหว่างลูกสูบ และกระบอกสูบ และการจุดระเบิดจากหัวเทียน ความร้อนบริเวณนี้จะมีมากเป็นพิเศษ ดังนั้น เครื่องยนต์จึงต้องออกแบบ ให้บริเวณผนังของกระบอกสูบ และบริเวณต่างๆ ที่มีความร้อนมาก เป็นโพรงช่องว่าง เพื่อที่จะให้น้ำใหลเวียนถ่ายเทเอาความความร้อน ออกจากบริเวณนั้น ในขณะที่เครื่องกำลังทำงานอยู่

การทำงานของระบบหล่อเย็น

ชิ้นส่วนที่จำเป็นในระบบหล่อเย็น ได้แก่ ปั้มน้ำ , วาล์วน้ำ , ท่อยางหม้อน้ำ , หม้อน้ำ , พัดลมระบายความร้อน ทั้งหมดจะทำงานเกี่ยวเนื่องกันนับตั้งแต่สตาร์ทเครื่อง ตัวปั้มน้ำก็จะทำงานจากการหมุนของสายพานหน้าเครื่อง ซึ่งต่อมาจากการหมุนพูลเล่ย์เพลาข้อเหวี่ยง(ในรถบางรุ่นเช่นรถ Hybrid จะเป็นปั๊มน้ำไฟฟ้า) เมื่อปั้มน้ำทำงาน ก็ทำให้น้ำหล่อเย็นในระบบมีการใหลเวียนอยู่ในโพรงผนัง ของเสื้อสูบ และบริเวณที่มีความร้อน

ช่วงแรกของการอุ่นเครื่อง น้ำหล่อเย็นยังคงไหลเวียน อยู่ในโพรงผนังรอบเครื่องยนต์ เนื่องจากวาล์วน้ำยังไม่ทำงาน เมื่อเครื่องยนต์เริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ อุณหภูมิของน้ำที่ไหลเวียนอยู่รอบๆ เสื้อสูบก็เพิ่มขึ้น จนถึงจุดที่ทำให้วาล์วน้ำทำงาน(82 องศา) เมื่อวาล์วน้ำได้รับความร้อนถึงอุณหภูมิทำงาน ก็จะเปิดช่อง ยอมให้น้ำที่หมุนเวียนอยู่รอบเสื้อสูบ ถ่ายเทออกไปนอกเครื่องยนต์ ผ่านไปตามท่อยางหม้อน้ำ เพื่อไปเข้าสู่ทางเข้าหม้อน้ำด้านบน น้ำร้อนก็จะไหลจากด้านบนลงล่าง ผ่านครีบระบายความร้อนหม้อน้ำหรือที่เรียกกันว่ารังผึ้ง ขณะเดียวกัน พัดลมระบายความร้อนหมุน เพื่อดูดอากาศที่อยู่ด้านหน้าหม้อน้ำ ผ่านครีบระบายความร้อนหม้อน้ำ ออกมาทางด้านหลัง น้ำร้อนที่ใหลจากด้านบนลงมา ก็จะมีอุณหภูมิลดลง ที่ด้านล่างหม้อน้ำ ก็จะมีท่อยางหม้อน้ำ ต่อไปสู่ทางเข้าผนังเสื้อสูบอีกที ทำให้น้ำที่มีอยู่ในระบบ ไหลเวียนไปมาระหว่างโพรงผนังห้องเครื่อง กับหม้อน้ำได้อย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่วาล์วน้ำยังคงเปิดอยู่

หน้าที่ของน้ำหล่อเย็น

1.ป้องกันน้ำในระบบแข็งตัวเป็นน้ำแข็ง (เมืองไทยไม่ค่อยเห็นผลเพราะอากาศร้อน)
2.จุดเดือดสูงกว่าน้ำปกติ คือชะลอการละเหยของน้ำในระบบหล่อเย็นเวลาเครื่องยนต์ร้อนจัดเพราะเวลาน้ำเดือดน้ำจะระเหยกลายเป็นไอที่ 100  ํC
3.ป้องกันการเกิดสนิม ตะกอน เพราะหากมีสนิมก็จะผุ กร่อน มีตะกอน และอาจทำให้มีการอุดตันในรังผึ้งของหม้อน้ำ
4.หล่อลื่นปั๊มน้ำและซีลปั๊มน้ำ และวาล์วน้ำ

การบำรุงรักษาระบบหล่อเย็น

ตารางการบำรุงรักษา เนื่องจากระยะเวลาในการเปลี่ยนจะแตกต่างกันไปตามรุ่น อาจจะต้องดูตามคู่มือการบำรุงรักษา แต่โดยปกติในรถโตโยต้าจะมีกำหนดการบำรุงรักษาเปลี่ยนน้ำยาหล่อเย็นในระบบที่ 160,000 กม.จากนั้นเปลี่ยนทุกๆ 80,000 กม. ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนน้ำหล่อเย็นตามระยะคุณสมบัติยับยั้งการเกิดสนิมจะลดลง จนหม้อน้ำ ท่อทาง ท่อยาง ฯลฯ ได้รับความเสียหาย

เครดิต www.kmotors.co.th