แก้เสียงผอมบางใน เครื่องเสียงรถยนต์

        ปัญหาที่พบมากที่สุดกับ เครื่องเสียงติดรถยนต์ ที่ใครๆไปติดมาแล้วและกลับมาบ่นคือ “เสียงออกบาง” บ้างก็ว่า “เสียงผอมไม่มีเนื้อหนัง” หรือ “เสียงขาดน้ำหนักเหมือนเร่งไม่ขึ้น” ว่าไปแล้วทั้งหมดเกิดจากสาเหตุเดียวกันดังต่อไปนี้

1.ปัญหาจากการติดตั้งได้แก่

1.1 กรณีเล่นลำโพงแยกชิ้น ดอกเสียงแหลมถูกวางห่างจากดอกลำโพงเสียงกลางทุ้ม (กรณีระบบลำโพง 2 ทาง) มากเกินไป ทำให้สูญเสียความเป็น จุดกำเนิดเสียงเดียวกัน (Point Source) การวางห่างแค่เกินครึ่งคืบก็แย่แล้ว

1.2 ดอกแหลมถูกวางห่างและใกล้หูเกินไปเช่น ติดดอกกลางทุ้มที่ด้านล่างของประตูหน้า แต่ดอกแหลมติดที่เสา A หน้าแถมเอียงมาหาหู เสียงแหลมจึงมาถึงก่อน เสียงกลางกับทุ้มมาทีหลัง จะเหมือนค่อยลง ไม่ทันมากลืนเป็นเสียงเดียวกัน ปัญหาหนักๆอาจถึงระดับเสียงแหลมจัด

1.3 ดอกแหลมต่อกลับเฟสกับดอกกลางทุ้ม เพลงไหนที่บังเอิญดอกแหลมขยับดันอากาศออก ดอกกลางทุ้มจะขยับดันอากาศเข้า (สวนทางกัน) เสียงแหลมจะเด่นวิ่งนำหนา กลางทุ้มจะจม แต่ถ้าดอกแหลมถูกตัดแบ่งเสียงให้ลงมากินกลางสูงมาก และดอกกลางทุ้มกินความถี่ขึ้นกลางสูงด้วย ผลคือ กลางสูงจะแบนติดจอไม่พุ่งออกมา หรืออาจโบ๋ไปเองผลคือ จะได้ยินปลายแหลมกับทุ้มต่ำ กลาง–กลางสูงหายไป เสียงจะผอมบางเช่นกัน

1.4 สายลำโพงที่เข้าดอกกลางทุ้มเดินทิศหัวท้ายผิด (ต้องลองฟังตามทิศที่ย้อน ทิศที่ว่าทิศไหนให้เสียงหลุดลอยออกมาเป็นตัวตนกว่าก็เดินตามทิศนั้น อย่าเชื่อลูกศรที่เขาสกรีนที่สายมา) ทำให้เสียงกลางทุ้มฟุ้ง แบน จม ไม่เป็นกลุ่มก้อน,ตัวตน และถ้าบังเอิญสายลำโพงดอกแหลมเดินถูกทิศ (หัว-ท้าย) เสียงแหลมจึงหลุด,ลอยออกมาเป็นลำเสียงแหลมจนถึงกลางสูง วิ่งออกมาหาเราได้ ผลคือ เสียงที่ผอมบาง (อย่าลืมลองย้อนทิศทางสายไฟ (สายบวก,ลบ) , สายรีโมทเปิด-ปิดแอมป์,สายลบจากขั้วแบตฯลงตัวถังรถด้วย)

1.5 กรณีดอกลำโพงแบบร่วมแกน (Coaxial) ดอกแหลมลอยอยู่หน้าดอกกลางทุ้ม และสามารถปรับดอกแหลมให้เอียงขึ้นลง,ซ้ายขวาได้ บางครั้งปรับดอกแหลมเอียงมาหาหู ขณะที่ดอกกลางทุ้มยังเอียงแนวเดิมปกติ เสียงจากดอกแหลมจะมาถึงก่อนและชัดกว่า เสียงก็จะบางผอมได้เช่นกัน

1.6 กรณีติดลำโพงที่แผงหลัง (รถเก๋ง) ดอกกลางแหลมแบนราบตามแผงหลังแต่ติดดอกกลางแหลมตั้งขึ้น ยิงเสียงมาหาด้านหน้า อาจเพื่อหนีการสะท้อนจากกระจกหลัง ผลคือ แหลมมาถึงก่อน ชัดกว่า ขณะที่กลางทุ้มก้องฟุ้ง เสียงก็ผอมบาง (ที่ถูกคือต้องตีแผงเอียง ยิงเสียงมาหน้าทั้งดอกแหลมและดอกกลางทุ้ม)

1.7 ปัญหาการสั่นสะเทือน ต่อตัวกำเนิด (ฟรอนท์…..คือ วิทยุ-CD),ต่อปรีแอมป์,เพาเวอร์แอมป์ การสั่นสะเทือนจะทำให้เสียงแบนฟุ้งมั่ว ฟังออกชัดที่เสียงกลาง,กลางต่ำ ขณะที่เสียงแหลมจะไม่ค่อยรู้สึก แหลมจึงยังคงความพุ่งชัด ทะลุออกมาได้ เสียงก็ผอมบาง

1.8 คล้ายกับกรณีการสั่น (1.7) อาการจะออกมาแบบเดียวกัน แต่สาเหตุต่างกัน เกิดจากการติดตั้งตัววิทยุ-CDเอียง ไม่ราบไปกับแนวนอน บางครั้งติดเชิดหน้าเกือบ 60 องศาก็มี ทำให้แผ่น CD หมุนพร้อมๆกับ “แกว่ง”ไปด้วย วงจรเซอร์โวที่พยายามช่วยให้หัวอ่านทำงานแม่นขึ้น จะทำงานไม่ได้หยุดและไปกระชากแรงดันไฟ ป่วนภาคอื่นๆ ผลคือ เสียงทั้งหมดถอย,จม,แบนติดจอ ผู้ใช้ก็จะเข้าใจผิด ไปยกแหลม (Treable) ขึ้น หรือ จับดอกแหลมตั้งขึ้น (กรณีติดแผงหลัง) หรือ ย้ายดอกแหลมมาที่เสาหน้า หรือ เพิ่มดอกแหลมอีกคู่ (พวก TAXI ชอบทำ) ผลคือ เสียงผอมบางแบบไม่นิ่ง (ข้อ 1.7 ก็เช่นกัน ไม่นิ่ง) เดี๋ยวผอม เดี๋ยวพอมีเนื้อ แล้วแต่การสั่นสะเทือน (การวิ่งของรถ)

1.9 อาการคล้ายๆข้อ 1.8 อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าสายลำโพงแตะกับสายไฟ,สายลำโพงพันทับตัวเอง (ช่างชอบทำ กรณีสายลำโพงเหลือมาก…..บางทีเหลือมากเพราะอยากขายเยอะๆเกินความจำ เป็น),สายลำโพงสัมผัสกับโครงเหล็กตัวถังรถ,สายลำโพงยึดกับสิ่งที่สั่นมาก เช่น แผงหลังเดิมๆของรถที่บางๆ ถ้าสายแตะกับโครงเหล็กรถ ก็ต้องห่อหุ้มสายด้วยผ้าห่มกันร้อน หรือ ใยโปลี่ โดยพันหลวมๆ ให้ฟูๆพองตัว จะได้ยกสายหนีห่างได้มาก กรณีแตะกันก็ใช้วิธีนี้แก้ด้วย

1.10 สายลำโพงซ้าย-ขวาแตะกัน ผลคือ กลาง,ทุ้มเบลอ แหลมพุ่งออกมา เสียงก็บาง


2.ปัญหาจากอุปกรณ์ที่ใช้

2.1 ตัววิทยุ-CD,เพาเวอร์แอมป์,ลำโพง,สายต่างๆมีบุคลิกผอมบางอยู่แล้ว การยกหุ้มช่วย จะยังคงทำให้กลางสูงกับ สูง ผอมอยู่ดี กลางต่ำกับต่ำอาจมากเกินไปด้วย

2.2 ลำโพงเขาทำมาผิด เช่น ดอกกลางทุ้มกับดอกแหลมกลับเฟสกัน (จึงควรฟังทดสอบ อย่าเชื่อตามข้อมูลการติดตั้งที่ให้มา อย่าเชื่อไดอาแกรม หรือ การแต้มสีแดง (บวก) มา กรณีที่แผงวงจรแบ่งเสียงปรับระดับเสียงแหลมได้ เราเลือกแหลมดังไปหรือเปล่า (จริงๆแล้วเสียงที่ “ลงตัว,ถูกต้อง,เป็นธรรมชาติ” จะมีจุดเดียว ไม่ใช่เลือกได้ 3 จุดอย่างนั้น เป็นเรื่องไร้สาระที่ให้การปรับเสียงมาด้วย) แผงวงจรแบ่งเสียง (X-NW) ออกแบบมาไม่ดี มีการใส่ตัวเก็บประจุขนาดเล็กค่าน้อยๆขนานกับตัวเก็บประจุ ค่าใหญ่ที่ตัดออกแหลม (เรียกการทำ ไบ-แคป) ซึ่งจริงๆไม่ควรทำ อาจทำให้เสียงคมขึ้น หลอกหูว่าชัดขึ้นแต่จะทำลายความสมดุลกับมวล,เนื้อเสียง (Harmonics) จุดแบ่งเสียงของ X-NW ออกดอกแหลม หรือ ดอกกลางทุ้มไม่ลงตัว มีผลมากต่อกลาง,กลางต่ำ ที่จะกำหนดว่า เสียงจะผอมบางหรือไม่

2.3 ดอกกลางทุ้มขยับอุ้ยอ้าย หรือ ดอกแหลมตอบสนองได้ฉับพลัน,ฉับไวกว่ามาก เช่น ดอกแหลมแบบแผ่นฟิล์ม, อีเล็คโตสแตติก (มีใช้กับรถแล้วแต่แพงลิบ) หรือโดมเบอริลเลี่ยม,ติตาเนี่ยม,อลูมิเนี่ยม ที่บาลานท์มาไม่ดี ผลคือแหลมวิ่ง, พุ่งนำหน้า หัวโน้ตวิ่งนำหน้าตัวโน้ต เสียงก็ผอมบาง

2.4 ดอกแหลมมักให้สายลำโพงบัดกรีติดมาด้วย สายนี้อาจย้อนทิศ (ดูข้อ 1.4) หรือเสียงจัดกว่า สายลำโพงที่เราหามาเข้าดอกกลางทุ้ม

2.5 ใช้ดิจิตอลแอมป์ ซึ่งมักให้เสียงผอมบางอยู่แล้ว

2.6 ต่อซับกลับเฟส ไปหักล้างกับกลาง,กลางต่ำ เสียงจึงผอมบางและแบน



3.การแก้ที่หลงประเด็น

3.1 พอเสียงผอมบาง (ซึ่งสาเหตุเป็นสิบจากข้อ 2) ก็แก้ด้วยการหรี่เสียงแหลม ยกเสียงทุ้ม หรือด้วยปรี EQ ทั้งที่มากับวิทยุ และซื้อเพิ่มเข้าไป ซึ่งจะเห็นว่าแก้ไม่ได้ เพราะทั้ง 10 สาเหตุตามข้อ 2 ไม่ได้เกิดจาก “ระดับเสียง” ที่ตกลง แต่เกิดจากองค์ประกอบอื่นๆที่แปรผัน ไม่อยู่นิ่ง เดี๋ยวแย่มาก เดี๋ยวแย่น้อย ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม,สถานการณ์,ฯลฯ คือเป็นปัญหาแบบแกว่งไม่นิ่ง (Dynamic) จึงแก้ด้วยการปรับเสียง (ที่ปรับแล้วนิ่ง Stable)ไม่ได้ มันคนละมิติกัน แถมยังป่วนเรื่องมิติเสียงด้วย ยิ่งถ้าใช้ดิจิตอล EQ ยิ่งผอมบางไปใหญ่

3.2 บ้างแก้ด้วยการจงใจปรับความไวขาเข้าของเพาเวอร์แอมป์ ให้ไวน้อยลงคือสัญญาณเข้านิดเดียวก็ดังลั่น เพื่อมวล, เนื้อเสียง ผลคือ เสียงกลับบวม, ทึบ การสวิงเสียงดัง-ค่อยอั้น (Compressed Dynamic Range)

3.3 กรณีไม่สามารถติดตั้งฟรอนท์ให้แบนราบได้ ต้องติดหน้าเชิดมาก ก็ให้เปลี่ยนใช้ฟรอนท์ที่มีช่องเสียบการ์ดความจำ หรือ USB ซึ่งไร้กลไก จะแก้ปัญหาแผ่นแกว่ง และการสั่นสะเทือนกวนได้มากๆ (แต่การบันทึกลงการ์ด หรือ USB ก็ต้อง “เป็นงาน” ด้วย ไม่อย่างนั้นตัวมันเองนั่นแหละเสียงแห้ง, แบน, จม ยิ่งแย่กว่าเล่นแผ่น CD

3.4 การเพิ่มดอกเสียงกลาง เช่นดอก 3 – 4 นิ้วให้แก่ลำโพง 2 ทาง (ดอกกลางทุ้ม 5 – 6 นิ้ว) เพราะการดัดแปลง, เพิ่มนั้น จะทำให้ลงตัวได้ยากมาก สุดท้ายก็ยังต้องผจญกับวิบากกรรมของข้อ 2 ( 2.1 – 2.10) อยู่ดี

3.5 การเพิ่มตัวเก็บประจุให้แก่ตัววิทยุเป็นสิ่งดีและช่วยได้ (แม้ไม่มีปัญหาเสียงผอมบางก็ควรใช้) แต่ไม่ควรเกินค่า 250,000 ไมโครฟารัด การใช้ค่ามากไปเสียงจะอวบอ้วน,ทึบ,อุ้ยอ้าย,หนา (อย่าคิดแก้เสียงผอมบางด้วยการเพิ่มค่านี้)

3.6 อย่าได้คิดใช้พวกฟังก์ชั่นโง่ๆแบบรู้ไม่จริง เช่น TIME ALIGNMENT ทั้งหลาย เพราะมันจะทำให้เสียงกลับแบน,แหลมพุ้งแต่แห้งตายซาก แถมแก้เรื่องมิติเสียง,เวทีเสียงไม่ได้จริง หลอกหูพิลึก

3.7 อย่าใช้ปุ่ม BBE จริงอยู่มันอาจช่วยเพิ่มกลางโปร่งสดขึ้น ทุ้มมากขึ้น แต่มักเป็นเสียงอีเล็คโทรนิกส์มากขึ้น ฟังนานๆ เหมือนกลางต่ำหาย เสียงไม่อวบ หรือกลับไปฟ้องปัญหาตามข้อ 2 ให้ชัดขึ้น

3.8 ยังไงๆวิทยุ-CD ก็มักมีเนื้อเสียง,ทรวดทรงเสียง ดีกว่าพวกวิทยุ-DVD (แม้เอามาฟังCD) อีกทั้งตัวจอเองก็ป่วนคุณภาพเสียง (ขาดมวล, ขาดเนื้อเสียง, เสียงฟุ้งแบนจม พอยกแหลมเพื่อดึงเสียงให้หลุดลอยออก มันก็ผอมบาง)

สรุป
   จงท่องให้ขึ้นใจ เราไม่สามารถทำความพิการเพื่อแก้เสียงพิการได้ ไม่สามารถใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบนิ่ง ไปแก้ปัญหาแบบจับปูใส่กระด้งได้ ปัญหาเกิดที่ไหน แก้ที่ต้นเหตุ อย่าแก้ที่ปลายเหตุ ระวังการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งแต่กลับไปเพิ่มปัญหาอื่นๆอีกที่อาจมากขึ้น และสลับซับซ้อนขึ้น แก้ยากขึ้น

เครดิต www.nutsound.com