อาการเพลาขับหน้าชำรุด

รถขับเคลื่อนล้อหน้านอกจากหมั่นตรวจสอบ บูช ลูกหมาก แร็คพวงมาลัยแล้ว เมื่อใช้ไปประมาณ 100,000 กิโลเมตร ก็ต้องเช็ก เพลาขับ ด้วย เพราะเริ่มเสื่อมสภาพ หรือใช้งานมา 3-4 ปีก็ต้องเปลี่ยนยางหุ้มเพลา หากเป็นรถใหม่ให้เดินตามคู่มือรถ ถึงระยะเวลาเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ตามกำหนด แค่นี้ก็ขับขี่ได้อย่างสบายใจ แต่ถ้ารถคุณเกิดมีปัญหาเกี่ยวกับเพลาขับหน้าขึ้นมาลองดูแนวทางนี้ได้เลย

สำหรับหน้าที่ของเพลาขับเป็นตัวกลางในการส่งถ่ายกำลังต่อจากชุดเกียร์ไปยังล้อคู่หน้า เพื่อขับเคลื่อน และหน้าที่สำคัญมากอีกอย่างคือต้อง ยืด-หด ได้ตามจังหวะการยุบขึ้น-ลงของล้ออีกด้วย

ชิ้นส่วนเพลาขับหน้า ประกอบด้วย

  1. ก้านเพลา แบบตัน-แบบกลวง ลักษณะเป็นที่แป๊บ
  2. หัวเพลาขับติดกับดุมล้อประกอบด้วยลูกปืน 6 ลูก
  3. หัวเพลาขับติดกับเกียร์ ประกอบด้วยลูกปืน 6 ลูก หรือ 3 ลูก
  4. จารบีหล่อลื่นหัวเพลาขับทั้ง 2 ด้าน
  5. ยางหุ้มเพลา
  6. เหล็กรัดยางหุ้มเพลา
  7. ยางกันสะเทือน

การดูแลรักษาเพลาขับ

  1. สามารถก้มดูได้ด้วยสายตา เช็กยางหุ้มเพลาขับว่ามีรอยฉีกร้าวหรือไม่ หากเจอให้เปลี่ยนทันที
  2. เปลี่ยนจารบีใหม่ทุก 2 ปี หรือ ประมาณ 40,000 กิโลเมตร
  3. เช็กลูกปืนเพลาขับ หากยางหุ้มเพลาฉีกขาด
  4. ไม่ขับขี่ออกตัวกระชากรถรุนแรง

อาการเพลาขับเสื่อม

  1. มีเสียงโลหะขบดังด้านที่เพลาติดกับล้อ สังเกตตอนหักพวงมาลัย ซ้าย-ขวา จะมีเสียงดัง
  2. รถมีอาการสั่นเมื่อขับในความเร็วคงที่ (อาจเป็นที่หัวเพลาขวาชำรุด)
  3. รถมีอาการสั่นไปตรงเกียร์ (อาจเป็นหัวเพลาที่ติดกับเกียร์ชำรุด)

หากคุณพอจับอาการรถเบื้องต้นได้ก็พอมีแนวทางการซ่อมบำรุงรักษาไปคุยกับช่างได้บ้าง จะได้ไม่โดนโก่งราคา หรือเปลี่ยนอะไหล่มั่ว แต่อาการที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมาบางอย่างคล้ายกับ แร็ค ลูกหมาก ปีกนกเสื่อม ต้องใช้เครื่องยกตัวรถขึ้นถึงจะรู้ชัดเจน

เครดิต www.sanook.com