ไม่ใช่รถทุกคันที่ลงถนนได้

แม้ว่าถนนทั่วไปหรือถนนดำ จะเป็นพื้นที่สาธารณะที่รถหรือยานพาหนะต่างๆ สามารถวิ่งได้ แต่ก็ไม่ใช่ยานยนต์ทุกประเภทที่วิ่งบนถนนได้ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถกอล์ฟ รถยนต์ไฟฟ้าบางชนิด รถก่อสร้างบางชนิด รถไถนา รวมไปถึงรถบรรทุกต่างๆ ซึ่งหลายๆ คนสงสัยกันว่ารถพวกนี้หากวิ่งบนท้องถนนจะผิดกฎหมายมาตราใดกันแน่

สำหรับข้อกฎหมายที่จำกัดประเภทของรภที่สามารถวิ่งบนทางดำ หรือถนนสาธารณะได้นั้นจะต้องไม่ตรงกับข้อห้ามที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ หมวด ๑ ลักษณะของรถที่ใช้ในทาง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. รถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง หรืออาจเกิดอันตรายหรืออาจทำให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยแก่ผู้ใช้ คนโดยสารหรือประชาชนมาใช้ในทางเดินรถ (มาตรา 6) ซึ่งรถที่ตรงกับมาตรฐานี้ ได้แก่ รถที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม, ไฟหน้า-ไฟท้ายแตก, กระจกมองข้างหาย, มาตรวัดเรือนไมล์พัง เป็นต้น

2. ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียน แผ่นป้ายเครื่องหมายเลขทะเบียนหรือป้ายประจำรถ (มาตรา 7) เช่น ป้ายทะเบียนหล่นหาย ติดป้ายทะเบียนไม่ครบถ้วน, ติดป้ายทะเบียนตรงจุดอื่นที่ไม่ได้กำหนดเอาไว้, รถที่ดัดแปลงป้ายทะเบียน รวมไปถึงไม่ได้ติดเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี

3. ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่ผู้ขับขี่ไม่อาจแลเห็นทางพอแก่ความปลอดภัยมาใช้ในทางเดินรถ (มาตรา 8) เช่น รถที่ไม่ได้ทำความสะอาดกระจก, กระจกมองข้างแตกหัก, ติดฟิล์มกรองแสงที่ไม่ผ่านข้อกำหนด

4. ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่เกิดเสียงอื้ออึงหรือมีสิ่งลากถูไปบนทางเดินรถมาใช้ในทางเดินรถ (มาตรา 9)

5. ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่มีล้อหรือส่วนที่สัมผัสกับผิวทางไม่ใช่ยางมาใช้ในทางเดินรถ เว้นแต่เป็นรถที่ได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือเป็นรถที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร (มาตรา 10) เช่น รถที่ไม่ได้หุ้มยางล้อรถ, รถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ต, รถตีนตะขาบ

รถก่อสร้างที่เป็นล้อตีนตะขาบ จะไม่วิ่งบถนนโดยตรง แต่จะอยู่ในรถพ่วงสำหรับการเดินทางบนถนน

6. ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่เครื่องยนต์ก่อให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี หรือเสียงเกินเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาใช้ในทางเดินรถ (มาตรา 10 ทวิ 3) เช่น รถยนต์ที่ก่อควันดำ ควันขาวเกินมาตรฐาน, รถบรรทุกที่เปื้อนฝุ่น ทราย เป็นต้น

สำหรับยานพาหนะประเภทอื่น ที่ถูกจำกัดในการวิ่งบนถนนสาธารณะ เช่น รถบรรทุกที่กำหนดระยะเวลาในการวิ่ง หรือให้วิ่งในเส้นทางที่กำหนดเอาไว้ สัตว์พาหนะที่ไม่มีคนควบคุม, รถที่มีเสียงแตรได้ยินในระยะไม่น้อยกว่า 60 เมตร, รถที่ผู้ขับขี่ยอมให้ผู้อื่นนั่งแถวหน้าเกินกว่า 2 คน (รวมคนขับ)

รถกอล์ฟ ไม่จัดอยู่ในรถที่ต้องเสียภาษี และมีสภาพที่ไม่เหมาะสำหรับวิ่งบนถนนจริง โดยออกแบบให้วิ่งจำกัดเฉพาะภายในพื้นที่เท่านั้น

รวมไปถึงยานพาหนะที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี หรือยานยนต์ที่ไม่ได้เข้าข่ายเสียภาษีประจำปี เช่น รถกอล์ฟ, สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก, รถไถนา, สกู๊ตเตอร์ขาถีบ เป็นต้น ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรา 7 นั่นหมายความว่า หากรถประเภทใดไม่ได้ทำการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี หรือรถที่ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีประจำปี ก็จะไม่สามารถวิ่งบนท้องถนนได้ แถมรถดังกล่าวก็ไม่ได้ออกแบบให้มีความแข็งแรงหรือทำความเร็วพอที่จะวิ่งบนท้องถนนได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตราที่ 6 ร่วมด้วย

ด้านบทลงโทษเบื้องต้น ด้วยมาตรา 148 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 6 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง, มาตรา 8 วรรคหนึ่ง, มาตรา 9, มาตรา 10 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และ มาตรา 152 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 7, มาตรา 10 ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

รถไถนาที่วิ่งบนถนนได้จะต้องหุ้มยาง, ติดสัญญาณไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยว กระจกมองข้าง และอุปกรณ์ที่สามารถทำลายถนนจะต้องยกสูงจากพื้นให้มากที่สุด

แม้ว่าผู้อ่านจะเห็นรถประเภทอื่นวิ่งบนท้องถนน เช่น รถกอล์ฟ หรือรถไถนาให้เห็นอยู่บ่อยๆ จนดูเหมือนว่ากฎหมายอนุโลม แต่ในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อผู้คนในวงกว้าง ซึ่งหากมีภาพหรือคลิปผู้ใช้รถที่ละเมิดกฎ นั่นหมายความว่าทุกคนแทบจะเห็นได้ทั้งหมด และหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น อุบัติเหตุ ก็จะทำให้ผู้ใช้รถเหล่านี้โดนข้อหา 2 เด้งได้เลยทีเดียว

เคดริต www.mthai.com