อาการนอนไม่พอ แล้วมาขับรถจนเกิดอุบัติเหตุมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก สาเหตุเพราะความประมาทที่หลายๆ คนเพราะคิดว่าสามารถควบคุมอาการง่วงได้ หลับในขณะขับรถ อันตรายถึงชีวิต

หลับในขณะขับรถ อันตรายถึงชีวิต

จากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับในขณะขับรถ กรมทางหลวง ในช่วง 10 ปีย้อนหลังพบว่า การหลับใน เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ 4% ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

ถามว่า อาการหลับใน คืออะไร?

ข้อมูลจากมูลนิธิไทยโรดส์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า สมองมีกลไกควบคุมการหลับและการตื่นในส่วนที่เรียกว่า “ไฮโปธาลามัส” ส่วนสำคัญส่วนนี้จะทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการตื่นและการนอนตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยปัจจัยของเวลาและความอิ่มท้องจะเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นที่จะส่งผลให้มนุษย์รู้สึกตื่นตัวหรือง่วงนอน

อาการหลับใน เป็นการหลับในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงชั่ววูบเดียว เป็นภาวะที่ร่างกายมีการทำงานลดลง หรือช้าลง เป็นการสับสนระหว่างการหลับในและการตื่น โดยมีการหลับเข้ามาแทรกการตื่นอย่างเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัวในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 1-2 วินาที

นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตระบุว่า “การหลับใน” เป็นอันตรายเช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะผลต่อการทำงานของสมองส่วนประมวลผล (brain processing) ทำให้การตัดสนใจแย่ลง (Impair judgment) การตอบสนองช้าลง (slower reflexes) หมายความว่าหากเราอดนอน 17- 19 ชั่วโมงแล้วไปขับรถก็เท่ากับว่าทำผิดกฎหมาย

วิธีป้องกันการหลับใน

  1. นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ 7-9 ชั่วโมง
  2. ทานอาหารแต่พอดี
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4. ก่อนเดินทางไม่ควรกินยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม
  5. จิบน้ำบ่อย ๆ อย่าให้ขาดน้ำ

ในการเดินทางไกล เราสามารถหยุดพักเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และควรเตรียมอาหารแก้ง่วงระหว่างขับ เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว ลูกอมฯลฯ จะช่วยกระตุ้นร่างกายให้สดชื่น หากไม่ไหวจริง ๆ ให้หาที่ปลอดภัยจอดรถนอนพัก 10-15 นาทีก่อนไปต่อ

 

ที่มา ส.ส.ส.,มูลนิธิไทยโรดส์

เครดิต www.autospinn.com