“ระบบหล่อเย็น” ถือเป็นหนึ่งในระบบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเครื่องยนต์ โดยเฉพาะสภาพอากาศในบ้านเราที่ร้อนจัดตลอดแทบทั้งปี การบำรุงรักษาระบบหล่อเย็นให้สมบูรณ์อยู่เสมอจึงมีความจำเป็นมาก มิเช่นนั้นเครื่องยนต์อาจได้รับความเสียหายอย่างหนักจนถึงขั้นใช้งานไม่ได้เลยทีเดียว

    “น้ำยาหล่อเย็น” หรือที่ใครหลายคนเรียกกันติดปากว่า “น้ำยาคูลแลนต์” (Coolant) ถือเป็นหัวใจหลักในการรักษาอุณหภูมิของเครื่องยนต์ให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา โดยน้ำยาหล่อเย็นมีส่วนประกอบหลักมาจากน้ำและสารหล่อเย็นประเภท Ethylene Glycol ช่วยเพิ่มจุดเดือดให้สูงกว่า 120 องศาเซลเซียส จึงคงประสิทธิภาพการระบายความร้อนได้ดีกว่าน้ำเปล่าทั่วไป โดยน้ำยาหล่อเย็นอาจมีหลายสี ทั้งสีเขียว, สีชมพู ฯลฯ ซึ่งเกิดจากการเติมสีเพื่อให้มองเห็นการรั่วซึมได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

    อีกทั้งน้ำยาหล่อเย็นยังมีคุณสมบัติ Antifoam ช่วยป้องกันการเกิดฟองในระบบหล่อเย็น ซึ่งฟองอากาศเหล่านี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประสิทธิภาพการระบายความร้อนทำได้ไม่ดี และอาจส่งผลให้เกิดอาการโอเวอร์ฮีตได้

    อีกหนึ่งคุณสมบัติที่สำคัญของน้ำยาหล่อเย็น คือ ช่วยป้องกันการเกิดสนิม ซึ่งสนิมในระบบหล่อเย็นอาจสร้างความเสียหายต่อหม้อน้ำและฝาสูบ ส่งผลให้เกิดการรั่วซึมของน้ำ ต้องหมั่นเติมน้ำบ่อยๆ หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้รั่วซึมหนักจนไม่สามารถใช้งานได้ อีกทั้งน้ำหลักเย็นยังช่วยลดการเกิดตะกรัน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอุดตันในระบบหล่อเย็นนั่นเอง

    ดังนั้น การเติมน้ำเปล่าลงในหม้อน้ำ จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายในทันที แต่เมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่ง เครื่องยนต์อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการระบายความร้อนตามมา เช่น เกิดอาการโอเวอร์ฮีตในวันที่สภาพอากาศร้อนจัด, เกิดการรั่วซึมที่ทำให้ต้องเติมน้ำอยู่บ่อยครั้ง และอื่นๆ จึงควรหลีกเลี่ยงการเติมน้ำเปล่าลงในหม้อน้ำ เว้นแต่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

    หากรถของคุณมีการเติมน้ำยาหล่อเย็นอยู่แล้ว ก็ควรเติมน้ำยาหล่อเย็นอย่างต่อเนื่องต่อไป เว้นแต่เป็นน้ำยาชนิดเข้มข้นที่ต้องมีการผสมน้ำเปล่าเพื่อให้เจือจาง (ซึ่งส่วนมากต้องเติมในอัตราส่วน 1:1 คือ น้ำยาหล่อเย็นและน้ำเปล่าในสัดส่วนเท่ากัน) แต่กรณีซื้อรถมือสองที่เจ้าของเดิมหันไปใช้น้ำเปล่าแทนแล้วล่ะก็ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการกลับมาใช้น้ำยาหล่อเย็นด้วย เนื่องจากน้ำยาอาจกัดสนิมจนทำให้เกิดการรั่วซึมได้ครับ

 

 

เครดิต www.sanook.com

 

ก้านสูบ 1GD 2GD REVO เป็นยังไง?