กรมการขนส่งทางบกเผยรายชื่อเพจมิจฉาชีพทำใบขับขี่ปลอมกว่า 100 เพจ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อและโอนเงินโดยเด็ดขาด พร้อมย้ำว่าหากใช้ใบขับขี่ปลอมจะมีความผิดอาญาฐานปลอมแปลงเอกสารราชการ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท

     กรมการขนส่งทางบกเตือนประชาชนที่ต้องการทำธุรกรรมด้านใบขับขี่กับกรมการขนส่งทางบก หลังพบว่ามีเพจเฟซบุ๊กอ้างรับทำและรับอบรมต่อใบขับขี่ปลอมเป็นจำนวนมาก โดยพฤติกรรมของเพจเหล่านี้จะสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการนำรูปตราสัญลักษณ์ของกรมการขนส่งทางบกมาใช้เป็นรูปโปรไฟล์ หรือนำภาพของผู้ที่ได้รับใบขับขี่มาแอบอ้าง พร้อมทั้งโฆษณาว่าสามารถออกใบขับขี่ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานขนส่ง โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 – 6,000 บาท

     หากผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว จะเรียกร้องให้โอนเงินเพิ่มอีกและเงียบหาย ไม่สามารถตามคืนได้ หรือจะได้รับใบขับขี่ปลอม รวมถึงยังมีกรณีแอบอ้างในการอบรมต่ออายุใบขับขี่แทน โดยกลุ่มมิจฉาชีพอ้างว่าจะอบรมต่ออายุใบขับขี่แทนผู้เสียหายและจองคิวให้ผู้เสียหายเข้ามาถ่ายรูปทำใบขับขี่ ณ สำนักงานขนส่ง พร้อมหลอกให้ผู้เสียหายส่งหน้าบัตรใบขับขี่และโอนเงินไปให้ หรือโฆษณาหลอกลวงว่า “ใบขับขี่หมดอายุ ไม่มีเวลาอบรม รับจองคิวพร้อมอบรมต่ออายุใบขับขี่ทุกชนิด เจ้าตัวต้องเข้าไปถ่ายรูปทำบัตรด้วยตนเองที่สำนักงานขนส่ง”

     ทั้งนี้ ผู้หลงเชื่อและใช้ใบขับขี่ปลอม จะมีความผิดฐานปลอมแปลงหรือใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษถึงขั้นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ไปจนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาท และบุคคลที่แอบอ้างว่าสามารถอบรมต่ออายุใบขับขี่แทนได้ อาจมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานปลอมแปลงหรือใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

     นอกจากนี้ บุคคลที่จัดทำเพจเฟซบุ๊กปลอมรับทำและรับอบรมต่อใบขับขี่ปลอม ซึ่งถือเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อเพจรับทำใบขับขี่ปลอมได้ที่ https://bit.ly/3YvPwdb รวมถึงสามารถแจ้งเบาะแสมายังกรมการขนส่งทางบกได้โดยตรง หรือโทรสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

เครดิต www.sanook.com

 

WL เครื่องยนต์ Y2K (20 ปีแล้ว) ร่วงหรือรอด?